++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรให้ใจเป็นสุข โดยพระอ.มานพ อุปสโม สอนวิปัสสนา

ถอดสาระธรรมบรรยายตอนท้าย เรื่อง ทำอย่างไรให้ใจเป็นสุข
บรรยายเมื่อ 4 เมษายน 2552 ที่ยุวพุทธฯบางแค
โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม อาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานท่านหนึ่งของ
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อความตอนสุดท้าย ความว่า......

.....พอดูลมหายใจเข้าออกไปสักระยะหนึ่ง ลมหายใจก็จะเริ่มนิ่ง ใจนิ่ง ใจสงบ ใจหยุด
ยุติการดำริถึงเรื่องต่างๆ เรียกว่าใจเป็นสมาธิ ใจที่เป็นสมาธิ ใจที่ตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจ
ขณะนั้นสติของเราทำงาน มีการพัฒนาอยู่ แล้วก็สมาธิเกิดขึ้นแก่ใจเรา เราได้รับประโยชน์สองประการ
ทำให้ได้ระลึกกับรู้สึก ประการที่หนึ่ง
อีกประการหนึ่ง เราได้ความสงบด้วย

คราวนี้วิธีการฝึก ฝึกใหม่ๆ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
จริงๆ แล้ว จุดมุ่งหมายที่แท้จริงพระพุทธเจ้าต้องการให้เราอยู่กับใจ
ต้องการให้เรามองเห็นใจ ต้องการให้เราเอาใจใส่ใจ
เรานั่งสมาธิดูลมหายใจเข้าออก หรือเราดูอาการพอง อาการยุบนะ
อาการพอง อาการยุบก็คือการเคลื่อนไหว มีอาการเคลื่อนเราก็ใส่ใจเห็น
มีอาการขยับเขยื้อนส่วนใดส่วนหนึ่งเราก็ใส่ใจ มองเห็นการขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว
ขณะนั้นใจของเรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราเข้าไปใส่ใจ เข้าไปตามสังเกตอยู่บ่อยๆ จะทำให้ใจเราหยุดคิด

ทีนี้ถ้าใจคิดเราก็ไม่ต้องรำคาญใจ ขณะดูลมหายใจเข้าออก ขณะดูอาการพองยุบอยู่
แล้วใจของเราก็แวบคิดไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราอย่ารำคาญใจ ให้มองดูใจคิดนั้นนิดนึง
มองดูใจที่คิด สังเกตใจที่คิดนั้น เข้าไปสังเกตใจที่คิดไปแวบนึง
เอาแค่ครั้งเดียว ใส่ใจครั้งเดียวก็พอ แล้วกลับมาดูลมหายใจเข้าออกต่อ
หรือมาดูพองยุบต่อ ถ้าเราดูพอง ดูยุบ ก็ดูพองยุบต่อไปเฉยๆ
แล้วใจก็แวบไปอีก เราก็ตามไปดูใจ ขณะเราสังเกตลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เราทันลมหายใจเข้าออก เรียกว่าสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าใจแวบไป คิดไป ใจทิ้งลมหายใจเข้าออก
ไปคิดถึงเรื่องใหม่ ตัวใจที่คิดไปแวบไป ตรงนี้นี่แหละ ถ้าเราตามดูใจตรงนี้ทัน
ปัญญาจะเกิดแก่ตัวเรา รอบรู้จะเกิดแก่ตัวเรา แล้วท่านต้องการให้เราทำใจให้รอบรู้ ทำใจให้เกิดปัญญา

ถ้าเราไปตามดูความรู้สึก แล้วเราเห็นความรู้สึก แต่ละความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราจะเป็นหนทางให้เกิดปัญญา
เวลาใจคิดอย่ารำคาญใจ ดูลมหายใจเข้าออก แล้วใจหวนไปคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่ารำคาญใจ
เราไปตามดูใจนั้น ถ้าไปสังเกตใจได้ สังเกตใจทัน ปัญญาจะเกิดแก่ตัวเรา

แล้วก็การไปดูใจที่แวบไป คิดไป หลุดไปทัน หนทางแห่งการหลุดพ้นอยู่ตรงนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้
ไปเห็นใจตามความเป็นจริงปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิด วิปัสสนาปัญญาดำเนินไป แล้ววิปัสสนาจะวิวัฒนาการไป
เบื้องต้นก็เห็นการเกิด การดับ เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นการเกิด เห็นการดับ เห็นการดับไป เห็นการเกิดขึ้น ดับไปชัดเจน

ปัญญาจะค่อยๆ วิวัฒนา ใส่ใจอยู่ตรงนี้ ใจก็ไม่ไปหาเรื่อง ไม่ไปจมอยู่กับเรื่อง
สาระสำคัญอยู่ตรงนี้ สาระสำคัญของวิปัสสนา เราใส่ใจอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่
เป็นการฝึกใจให้มีสติสัมปชัญญะ พอจิตทิ้งอารมณ์นั้นๆ ไป หวนกลับไปคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เราตามจิตนั้นทัน จิตเหล่านั้นเป็นหนทางให้เกิดปัญญา ก็ลองค่อยๆ ใส่ใจ ค่อยๆ สังเกต
สังเกตลมหายใจเข้าก็ได้ สังเกตลมหายใจออกก็ได้ สังเกตอาการพอง อาการยุบก็ได้

ต่อจากนี้ไปจะให้นั่งนิ่งๆ สัก 5 นาที สังเกตตัวเองให้ดีๆ จิตคิด สังเกตจิต
พอสังเกตจิตแล้ว กลับมาสังเกตลมหายใจเข้าออกต่อ จิตคิดสังเกตจิต
พอสังเกตจิตแล้วกลับมาดูอาการพอง อาการยุบต่อ สังเกตมองดูเฉยๆ นะ
มองดูอาการของท้องพอง ท้องยุบ มองดูอาการของลมหายใจเข้าออก
ใส่ใจระลึกทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ หมั่นสังเกตหมั่นตามดูตามรู้ หมั่นใส่ใจ หมั่นทำความรู้สึก
หมั่นระลึกถึงอยู่เนืองๆ ระลึกถึงอยู่เป็นประจำๆ ใจของเราก็จะไม่ตกต่ำ
ใจของเราก็จะไม่เพลี่ยงพล้ำ ใจของเราก็จะมีการพัฒนายิ่งขึ้นตามลำดับ
ต่อจากนี้ไปก็จะให้ใส่ใจสัก 5 นาที เพื่อดูใจต่อไป



ขอบคุณธรรมจักรดอทเนต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น