++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เครือข่ายความร่วมมือพัฒนาสุขภาพให้ยั่งยืน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีประชากร 10,367 คน 2,713 ครัวเรือน มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่มีสถานีอนามัย 2 แห่ง คือ สถานีอนามัยร่องเคาะ และสถานีอนามัยบ้านวังใหม่ ซึ่งทั้งสองสถานีสามารถให้การบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม

            ความคิดที่เป็นหนึ่งเดียวของคณะกรรมการที่มาจากมติที่ประชุม เห็นว่า การเข้าร่วมกองทุนจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจด้านการดูแลสุขภาพ โดยประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อคณะกรรมการมีมุมมองด้านบวกต่อกองทุนฯ แล้ว คณะกรรมการ อบต. จึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่อนามัย เพื่อวางแผนประเมินความต้องการในการเข้าร่วมโครงการ เริ่มต้นโดยนำข้อมูลชี้แจงกับประชาชน เพื่อทำความเข้าใจกองทุนฯ และสอบถามความต้องการของประชาชนว่าเป็นอย่างไร ก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ประชาชนเองก็มีความต้องการเข้าร่วมกองทุนฯ เช่นกัน

            อุปสรรคแรกในการดำเนินงานกองทุนฯ ก็คือตัวชาวบ้านเอง มีความคิดว่าการดูแลสุขภาพเป็นงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ เริ่มโดยเผยแพร่ความรู้ให้มากขึ้น ปลูกจิตสำนึกเพราะเชื่อว่าการสร้างจิตสำนึกด้านสุขภาพในตัวคนได้ ก็สามารถสร้างเครือข่ายได้เช่นกัน มีการระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน แล้วก็ทำให้แนวคิดเรื่องสุขภาพที่ดี สามารถขยายไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มได้ในที่สุด

            ปัญหาสุขภาพของชุมชนบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น  จึงต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการพัฒนางานให้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน เช่น เรื่องของงบประมาณ ที่บางโครงการมีข้อจำกัด ไม่สามารถใช่งบประมาณของกองทุนฯ ได้ ก็ต้องปรับกระบวนการในการทำงานนั้นเป็นการระดมทุนจากประชาชนและองค์กรต่างๆในพื้นที่แทน

            นโยบายในการทำงานของกองทุนฯ เน้นการให้ความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกพื้นที่ และจุดเด่นของการสร้างเครือข่ายของ อบต.ร่องเคาะ คือ การให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นกรรมการทุกฝ่ายและทุกโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานด้านสุขภาพเข้ากับกองทุนฯ ทุกโครงการ และเน้นการสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพ ให้เกิดขึ้นในทุกๆองค์กรที่เกี่ยวข้อง

            องค์กรนิกพื้นที่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ , โรงพยาบาลวังเหนือ, โรงพยาบาลลำปาง, สาธารณสุขอำเภอวังเหนือ, สำนักงานสาธารณสุขลำปาง, นักวิชาการด้านสุขภาพจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรเอกชนต่างๆ เพราะองค์กรเหล่านี้ เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญในการกระจายความรู้สู่คนในชุมชน เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องสุขภาพที่ดีด้วย

            ขั้นตอนในการดำเนินงานสู่เครือข่ายความร่วมมือ เริ่นต้นที่การทำประชาคมเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และปัญหาอื่นๆในชุมชน ถือเป็นการวิเคราะห์ชุมชนโดยคนในชุมชน รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง จากนั้นก็นำข้อมูลหลายๆด้านมาทำเป็นแผนการปฏิบัติงาน รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหา หาสิ่งที่ต้องการพัฒนา โดยเรียงลำดับความสำคัญจากความต้องการของชาวบ้านจากมากไปหาน้อย แล้วดูผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพโดยรวม รวมถึงดูกำลังความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการว่าสามารถทำได้หรือไม่  ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องดึงเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้งานนั้นก้าวไปข้างหน้าได้

            โครงการที่จัดทำขึ้นในพื้นที่ร่องงเคาะนั้น นับว่าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯ ยกเว้นกลุ่มผู้พิการ ชาวบ้านก็มีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง  และตระหนักถึงการดุแลสุขภาพมากขึ้น มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า ในอนาคตข้างหน้าของพื้นที่ร่องเคาะ พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเรื่องสุขภาพต่อไป

            สิ่งขับเคลื่อนที่ทำให้โครงการในพื้นที่ร่องเคาะเดินไปข้างหน้า คือ ความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชนเอง และสุดท้ายคงเป็นศักยภาพและความมุ่งมั่นในการทำงานของผู้นำ และทีมงานที่ทำงานในส่วนที่รับผิดชอบได้อย่างดี สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม

            ความต้องการของประชาชนไม่ว่าเรื่องใดในพื้นที่ สามารถนำไปสู่เครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนได้ เห็นไหมเล่าว่า นอกจาก "เพื่อน" จะคอยเกื้อหนุนชีวิตได้แล้ว "เพื่อน" ยังช่วยทำให้การสร้างหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
            ชาวร่องเคาะพิสูจน์ให้เห็นเป็นต้นแบบอยู่นี่อย่างไร

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ศรีประไพ อินทร์ชัยเทพ
วาสนา มั่งคั่ง
วลัยลักษณ์ ขันทา
ศิริวรรณ ใบตระกูล
ปานจันทร์ อิ่มหนำ
ดร.พัฒนา นาคทอง
วพบ.ลำปาง


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น