++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กนกนคร - วรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ทำนองแต่ง - ใช้กลอนหก และกาพย์สุรางคนางค์
เรื่องย่อ - พญากมลมิตร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในหมู่คนธรรพ์
ได้นางอนุศยินีนางฟ้ารูปงามเป็นคู่ครอง ตามพรของพระอิศวร
กมลมิตรคุยโอ้อวดกับเพื่อนคนธรรพ์ถึงความงามของภรรยาของตนว่า
อาจยั่วตบะของฤษีตนหนึ่งได้ จึงถูกฤษีนั้นสาปลงมาเกิดในโลกมนุษย์
อนุศยินีเป็นธิดากษัตริย์เมืองอินทิราลัยได้นามว่า กนกเรขา
เมื่อเจริญวัยนางไม่พอใจชายใด แต่พระบิดารบเร้าจะให้มีคู่ครอง
ในที่สุดนางรับจะอภิเษกกับชายที่มาจากกนกนครตามนิมิตฝัน
พระบิดาจึงป่าวประกาศว่า ชายใดที่เคยเห็นกนกนครจะยกพระราชธิดาให้
กมลมิตรถูกสาปไปเกิดเป็นโอรสกษัตริย์ ทรงพระนามว่า อมรสิงห์
ไม่คิดมีคู่เช่นเดียวกับนางกนกเรขา
พระบิดากำลังเร่งรัดให้อภิเษกกับเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่ง
อมรสิงห์ขัดไม่ได้รับคำที่จะมีชายา แต่ต้องเป็นหญิงอย่างในนิมิตฝัน
พระบิดากริ้วจึงให้นำไปจองจำไว้ อมรสิงห์หนีไปได้
เดินทางไปถึงเมืองของนางกนกเรขา เข้าไปลวงนางว่าเคยเห็นกนกนคร
นางจับพิรุธได้จึงให้ขับไล่ไปเสีย อมรสิงห์เสียใจออกค้นหากนกนคร
ในที่สุดหงส์พาไปปล่อยไว้ในทะเล
ได้อาศัยปลาเป็นพาหนะไปสู่กนกนครอีกต่อหนึ่ง พบศพนางกนกเรขาที่เมืองนั้น
พอตื่นขึ้นอมรสิงห์รู้สึกตัวว่ากลับมาอยู่เมืองอินทิราลัย
ขออนุญาตเข้าไปเล่าเรื่องกนกนครให้นางกนกเรขาฟัง นางระลึกความหลังได้ว่า
อมรสิงห์เคยเป็นพระสามี แต่จะต้องพรากกันอีก
เมื่อครบสองครั้งแล้วจึงจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสุขสบายเช่นเดิม
หลังจากรำพึงถึงความหลังไม่นานนางก็เป็นลมดับชีพ
ฝ่ายอมรสิงห์เมื่อเห็นนางกนกเรขาสิ้นใจไปต่อหน้า
เสียใจซัดเซพเนจรไปสู่ป่า วิญญาณของนางกลับไปสู่ร่างที่กนกนคร
ร่างนั้นจึงฟื้นขึ้น นายพาณิชผู้หนึ่งมาพบเข้า
พานางไปขังไว้ในบ้านเพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นภรรยา
พอดีพระราชาแห่งเมืองนั้น เสด็จมารับไปไว้ในวัง
พระมเหสีของพระราชาทราบความจึงช่วยให้นางหนีออกจากเมืองไปได้
ขณะเดินทางป่าถูกนางแทตย์ ปีศาจร้ายแกล้งหลอกหลอนตกใจจนสลบไป
เมื่อฟื้นขึ้นได้พบอมรสิงห์
ทั้งสองพ้นคำสาปพากันกลับขึ้นไปอยู่เมืองสวรรค์
เรื่องจบลงตอนพระอิศวรทรงทราบว่า กมลมิตรและนางอนุศยินีสิ้นบาปกรรม
ได้กลับไปสู่สวรรค์ ก็ทรงพระสรวล
ข้อคิดเห็น - ผู้ทรงนิพนธ์ตรัสไว้ในคำนำว่า เรื่อง
กนกนครนี้ได้เค้ามาจากเรื่อง "เมืองทอง" ในกถาสริตสาคร
ซึ่งพราหมณ์ชื่อโสมเทวแต่งไว้เป็นภาษาสันสกฤต และหนังสือ
ตริวิกรมาโธคาศรีะ
ซึ่งเป็นหนังสือสันสกฤตเช่นกันแต่ทรงดัดแปลงแก้ไขเสียใหม่
เนื่องจากต้นฉบับที่ทรงอ่านมิใช่ภาษาสันสกฤตโดยตรง
แปลเป็นอังกฤษไว้อีกต่อหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความคิด ความเปรียบ เชิงความ
และสำนวน จึงอาจปนกันระหว่างไทย อินเดีย และฝรั่ง
พระนิพนธ์เรื่องนี้มิได้มุ่งให้เป็นบทละคร ถึงแม้จะมีคำ "เมื่อนั้น" หรือ
"บัดนั้น" ข้างหน้าบท กระบวนกลอนที่ทรงใช้ประณีตบรรจงเป็นพิเศษ
จึงต้องทรงบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ และใช้ศัพท์ในความหมายผิดแผกไปจากธรรมดา
ทำให้อ่านเข้าใจได้ยากในบางตอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น