การแบ่งยุค แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะมีอายุยาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครองถึง ๓๓ พระองค์ ควรจะมีวรรณคดีได้มาก แต่มีอุปสรรคสำคัญๆ หลายประการที่บั่นทอนความรุ่งเรืองของวรรณคดี เป็นต้นว่า ความไม่สงบสุขภายในประเทศ เนื่องจากแย่งราชสมบัติกัน ถึงแก่ต้องเปลี่ยนวงศ์กษัตริย์ถึง ๕ ครั้ง นอกจากนี้ยังมีข้าศึกศัตรูภายนอกทั้งพม่าและเขมรมารุกรานหลายครั้งหลายหน กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทรงสร้างสรรค์วรรณคดีไว้เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้มี ๕ พระองค์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งออกเป็น ๓ ยุค คือ
ยุคต้น ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ถึง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นประธาน
ยุคกลาง ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถึง สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ มีสมเด็จพระนารายณ์ เป็นประธาน
ยุคปลาย ตั้งแต่พระเจ้าท้ายสระ ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เป็นประธาน
ยุคต้น
วรรณคดีสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้น มีดังนี้
รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
ลิลิตโองการแช่งน้ำ
รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
มหาชาติคำหลวง
ลิลิตยวนพ่าย
ลิลิตพระลอ
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
กาพย์มหาชาติ
ยุคกลาง
ยุคทองแห่งวรรณคดี
สมัยศรีอยุธยาตอนกลาง ถึงแม้จะมีเวลาสั้นกว่าตอนต้น คือ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถึง รัชกาลสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ และระยะเวลาที่เกิดวรรณคดีอย่างแท้จริงก็เพียงสมัยเดียว คือ ในรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ แต่ในรัชกาลนี้ ได้รับยกย่องว่า เป็น ยุคทองแห่งวรรณคดี เพราะมีนักปราชญ์ราชกวี และวรรณคดีสำคัญเกิดชึ้นมากมายในเวลาเพียงรัชสมัยเดียวนี้ แทบจะกล่าวได้ว่าในยุคทองแห่งวรรณคดี มีการหายใจเป็นกาพย์กลอนกันต่อไป นับตั้งแต่องค์ประมุขของประเทศ คือ สมเด็จพระนารายณ์ จนถึงบุคคลชั้นผู้น้อยทั้งหญิงชาย เช่น นายประตู ต่างพากันสนใจในงานวรรณคดี และสามารถสร้างสรรค์วรรณคดีอันยอดเยี่ยมไว้ ราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นที่ชุมนุมกวีปราชญ์คับคั่ง ยิ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์เช่นนั้นแล้ว ยิ่งเพิ่มความครึกครื้นมากขึ้น เช่น สมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระราชนิพนธ์โคลงไว้ ๒ บท แล้วรับสั่งให้พระโหราธิบดีนำไปแต่งต่อ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตอบโต้โคลงกับพระมเหสี และศรีปราชญ์ตอบโต้นายประตู และมหาราชเชียงใหม่เป็นต้น
วรรณคดี ในยุคทองแห่งวรรณคดีมีหลายเรื่องหลายประเภท และเกิดประเภทใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น กาพย์ห่อโคลง นิราศ กาพย์ขับไม้ มีการนำฉันท์ไปแต่งเป็นเรื่องราว และเกิดแบบเรียนภาษาไทยขึ้น
การที่วรรณคดีรุ่งเรือง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คงจะมีสาเหตุดังนี้
๑. ความเจริญของบ้านเมือง สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และประกอบด้วยบุญญาธิสมภาร มีบุรุษรัตน์ช่วยเสริมพระบารมีในด้านต่างๆ เช่น นักรบ นักการฑูต และสถาปนิก ทั้งที่เป็นคนไทย และชาวต่างประเทศ เมื่อบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า สมบูรณ์พูนสุข เช่นนั้น วรรณคดีก็ย่อมเจริญตามไปด้วย
๒. สมเด็จพระนารายณ์ ทรงสนพระทัย และทรงพระปรีชาญาณทางวรรณคดีเป็นพิเศษ จึงทรงสนับสนุนและอุปการะกวี
๓. ในรัชกาลนี้ ชาวยุโรปเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นอันมาก คนไทยจึงต้องตื่นตัวหันมาใสใจศึกษาภาษาและศาสนาของตนเอง
กวีและวรรณคดีสำคัญ
๑.สมเด็จพระนารายณ์
(๑) สมุทโฆษคำฉันท์ (ต่อจากพระมหาราชครู)
(๒) โคลงพาลีสอนน้อง
(๓) โคลงทศรถสอนพระราม
(๔) โคลงราชสวัสดิ
(๕) เพลงยาว
๒. พระมหาราชครู
(๑) สมุทโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น)
(๒) เสือโคคำฉันท์
๓.พระโหราธิบดี
(๑) จินดามณี
(๒) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ)
๔. ศรีปราชญ์
(๑) กำสรวล (นิราศนครศรีธรรมราช)
(๒) อนิรุทธ์คำฉันท์
(๓) โคลงเบ็ดเตล็ด
๕. พระศรีมโหสถ
(๑) กาพย์ห่อโคลง
(๒) โคลงเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระนารายณ์
(๓) โคลงอักษรสามหมู่
๖. พระเยาวราช ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ
(๑) โคลงทวาทศมาส
๗. ขุนเทพกวี
(๑) คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง
๘. กวีผู้ไม่ปรากฏนามชัด
(๑) โคลงนิราศหริภุญไชย
ยุคปลาย
ความสำคัญของยุค เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์แล้ว กรุงศรีอยุธยาเริ่มระส่ำระสายเนื่องจากการชิงราชย์ เกิดกบฏ เกิดสงครามกับนครศรีธรรมราชและกัมพูชา จึงทำให้วรรณคดีร่วงโรยเป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วศตวรรษ วรรณคดีซึ่งอับแสงไปนั้นได้มีดอกาสรุ่งโรจน์ขึ้นอีกระยะหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ราชสมบัติ ในรัชกาลของพระองค์ซึ่งเป็นเวลานาน ๒๖ ปี กวีหลายชั้นวรรณะ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเองก็ทรงเป็นกวีด้วย ที่เป็นเจ้านายคือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร และเจ้าฟ้าอภัย ขุนนางได้แก่ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ที่เป็ฯนภิกษุได้แก่ พระมหานาควัดท่าทราย แม้กวีหญิงก๋เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ
วรรณคดีในยุคปลายแห่งสมัยศรีอยุธยา เกิดขึ้นใหม่หลายประเภท เช่น กลอนเพลง, กลอนบทละคร , กลบทและกาพย์เห่เรือ และเป็นยุคที่วรรณคดีประเภทกาพย์เจริญที่สุด คือ กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร และถึงแม้หนังสือประเภทคำหลวง ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ถึง ๒ เรื่อง คือ นันโทปนันทสูตร และ พระมาลัย ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร วรรณคดีในยุคนี้มีแนวโน้มไปในทางพิศวาสมาก
วรรณคดีและกวีสำคัญในยุคปลายแห่งสมัยศรีอยุธยา ได้แก่
๑. สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
(๑) โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์
๒. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
(๑) นันโทปนันทสูตรคำหลวง
(๒) พระมาลัยคำหลวง
(๓) กาพย์เห่เรือ
(๔) กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
(๕) กาพย์ห่อโคลงนิราศ
(๖) เพลงยาว
๓.เจ้าฟ้ากุณฑล
(๑) ดาหลัง (อิเหนาใหญ่)
๔. เจ้าฟ้ามงกุฎ
(๑) อิเหนา (อิเหนาเล็ก)
๕. พระมหานาควัดท่าทราย
(๑) บุณโณวาทคำฉันท์
(๒) โคลงนิราศพระพุทธบาท
๖. หลวงศรีปรีชา (เซ่ง)
(๑) กลบทสิริวิบุลกิติ
๗. กวีไม่ปรากฎนาม
บทละครต่างๆ ๑๔ เรื่อง คือ
๑.การเกษ
๒. คาวี
๓. ไชยทัต
๔. พิกุลทอง
๕. พิมพ์สวรรค์
๖. พิณสุริวงศ์
๗. มโนหรา
๘. โมงป่า
๙. มณีพิไชย
๑๐. สังข์ทอง
๑๑. สังข์ศิลป์ไชย
๑๒. สุวรรณศิลป์
๑๓. สุวรรณหงษ์
๑๔. โสวัต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น