++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เหล่าสร้างถ่อ ชุมชนอุ่นไอรัก กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าสร้างถ่อ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

เรียบเรียงโดน นพรัตน์ จิตรครบุรี

            "เห็นตำบลอื่นเขามีหมอมาตรวจคือคักแท้ ฉันและชาวบ้านอยากได้หมอมาตรวจ อยากมีสุขภาพดีก็ต้องซอยกัน ฉันก็ไปฮอดบ้านจะขอบริจาคมาเฮ็ดแบบนี้ ปีแรกยังมีคนบ่เข้าใจ พอเห็นผลงาน ปีนี้ชาวบ้านบอกอยากได้แบบนี้อีก เอาเงินมาให้ก็มี เก็บได้เร็วขึ้น " คุณบางรัก บุญรักษ์ ชาวบ้านวัย 61 ปี

            ด้วยสภาพการรักษาพยาบาลที่ไม่เอื้ออำนวย เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวชุมชน ต.เหล่าสร้างถ่อต้องเดินทางไปรักษาตัวที่ อ.คำชะอี ถึงแม้ระยะทางจะห่างเพียงแค่ 12 กิโลเมตร แต่การเดินทางกลับไม่สะดวก ด้วยมีรถโดยสารจาก อบต.ไปอำเภอเพียงวันละเที่ยว หากต้องการไปพบแพทย์ ต้องไปถึงสถานีอนามัยหนองเอี่ยนที่อยู่ห่างออกไปซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง
            ผู้นำชาวบ้าน คุณบางรัก บุญรักษ์ วัย 61 ปี ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าว และเป็นคนริเริ่มขยายแนวความคิดที่ต้องการให้แพทย์มาตรวจ รักษาที่ตำบล โดยประชาชนไม่ต้องไปโรงพยาบาลอำเภอ จึงเริ่มต้นด้วยการระดมทุนจากชาวบ้านด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำบุญผ้าป่ากองข้าว, รับบริจาคกระเบื้อง และชาวบ้านช่วยกันต่อเติมสถานีอนามัยเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับบริการจนแล้วเสร็จ
            ชาวบ้านอีกคนที่เป็นน้ำพักน้ำแรงหลัก คือ คุณกุสุมา ศรีบุรมย์ ซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติที่คนในชุมชนให้ความศรัทธา ได้ขอรับบริจาควัสดุและครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อมอบให้สถานีอนามัยไว้ให้สำหรับการรักษา
            ส่วนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและกำนัน ก็มองเห็นความทุกข์ด้านสุขภาพของชาวบ้านเป็นปัญหาสำคัญที่ อบต.ควรช่วยแก้ไข ด้วยความคิดเห็นที่พ้องกับชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ

            การร่วมแรงร่วมใจเพื่อพัฒนาสถานีอนามัยระหว่าง 3 ภาคส่วน อบต. (องค์กรชุมชน) , ผู้นำชาวบ้าน (ภาคประชาชน) และสถานีอนามัย (ภาครัฐ) จึงเกิดขึ้น โดยวางเป้าหมายร่วมกันว่าจะพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลตำบล
            ประมาณปี 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าสร้างถ่อจึงได้ก่อตั้งกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสิ้น 152,400 บาท อบต.สนับสนุนอีก 100,000 บาท         และได้รับการสมทบจากภาคประชาชนที่ร่วมกันระดมทุนอีก 65,000 บาท
            ปี 2550 โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของตำบลทั้ง 19 โครงการ จึงเริ่มขึ้นด้วยการเตรียมตัวและมีการทำงานอย่างเป็นระบบ ดังนี้
            1. นำคณะกรรมการไปศึกษาดูงาน เรื่องกองทุนสวัสดิการหมู่บ้าน และกองทุนฯ ที่จังหวัดยโสธร และที่หล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อกลับมาในชุมชนจึงเกิดกองทุน 2บาท/คน/ปี
            2. วางแผนให้คณะกรรมการ คือ ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่ กำนัน และ อสม. จัดทำประชาคมทุกหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์กองทุนหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนหาปัญหาและประเด็นที่ชาวบ้านต้องการพัฒนา
            3. แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฯเป็น 4 ชุด ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกหมู่บ้านรับทราบ แก้ไขข้อติดขัดของการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน, ฝ่ายระดมทุน มีหน้าที่จัดหาทุน, คณะทำงาน มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทุกหมู่บ้านทราบ เก็บเงินตามมติของการประชาคม นำเงินส่งคณะกรรมการเก็บรักษาเงินกองทุนฯ และฝ่ายตรวจสอบ มีหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงานของโครงการ
            4. เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของกองทุนฯ  และเป็นผู้บริหารกองทุนฯ เอง ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย ผุ้สูงอายุฯ โรงเรียนและกำนันผู้ใหญ่บ้าน
            ทุกโครงการมุงไปที่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและรักษา หนึ่งในโครงการที่ชุมชนภาคภูมิใจ คือ โครงการ 80 พรรษาอาสาทำความดีเพื่อในหลวง  เป็นโครงการที่โรงเรียนมัธยมและประถมร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรู้สาเหตุและแก้ปัญหายาเสพติด ความประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เช่น หนีเรียน ขาดเรียนบ่อย เที่ยวเตร่ สูบบุหรี่ พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัย

            และมีการจัดกิจกรรมโดยการนำเยาวชนและครอบครัวมาอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ โทษของยาเสพติด การรู้เท่าทันสื่อและทำความเข้าใจระหว่างเยาวชนกับพ่อแม่ การเปิดใจระหว่างผู้ปกครองและนักเรียนที่อยู่บ้านเดียวกัน ช่วยทำให้พ่อแม่ มีความเข้าใจลูกที่อยู่ในวัยรุ่น ลูกเริ่มเข้าใจพ่อแม่  สร้างความอบอุ่นเกิดขึ้นในครอบครัว ดังคำยืนยันของครูเบิ้มว่า
           
            " เด็กบางคนไม่เคยพูดคุยกับพ่อแม่เป็นเวลานาน ก็เริ่มพูดคุยมากขึ้น ไม่เคยทานข้าวเย็นที่บ้านก้กลับไปทาน พฤติกรรมขาดเรียนลดน้อยลงมาก การเที่ยวการซิ่งมอเตอร์ไซต์ก็น้อยลง ผู้ปกครองใกล้ชิดบุตรหลานมากขึ้น รู้สึกดี นักเรียนมีสุขภาพจิตดีขึ้น" ครูเบิ้ม ครูฝ่ายแนะแนวโรงเรียนเหล่าประชาอุทิศ

            และโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ที่ผู้สูงอายุเป็นเจ้าของโครงการฯ เกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุเพื่อออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง   มีการพบปะระหว่างผู้สูงอายุและเข้าวัดฟังเทศน์ตามวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น
            การทำงานส่งเสริมสุขภาพของ อบต. เหล่าสร้างถ่อมีจุดเด่นที่ผู้นำ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ มีความตระหนักและมุ่งมั่นในการพัฒนาตำบล อย่างผู้นำชาวบ้าน คุณบางรัก บุญรักษ์ ที่ช่วยพัฒนาชุมชนด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด

            การทำงานที่นายก อบต. กำนัน เข้าถึงง่าย สามารถมาพูดคุยถึงปัญหาและชาวบ้านต้องการพบเมือไรก็ได้พบ
            อบต. เห็นความสำคัญของกองทุนฯ นอกจากจะสนับสนุนเป็นตัวเงินแล้ว ยังสนับสนุนกองทุนฯ ในรูปแบบอื่นๆ เช่น พัฒนากำลังด้านสุขภาพ โดยการใช้งบประมาณของ อบต., ส่งนักเรียนที่เป็นลูกหลานของชุมชนเรียนพยาบาบ 2 คน เมื่อสำเร็จกลับมาต้องมาทำงานในชุมชน , ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมหลักสูตรนวดแผนไทยจำนวน 320 ชั่วโมง เพื่อมาให้บริการ ฟื้นฟูคนพิการในชุมชน และสนับสนุนรถ ค่าเบี้ยเลี้ยงคนขับรถ เพื่อให้ผู้ป่วยทางจิตได้รับยาและการรักษาจกาแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยให้รถรับส่งระหว่าง อบต.กับโรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ นครพนม

            คณะกรรมการเข้มแข็ง ร่วมกันทำงานเป็นทีมด้วยความเข้าใจหลักเกณฑ์และระเบียบของกองทุนฯ และการกระจายโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเป็นผู้เสนอและเป็นเจ้าของโครงการ
             นอกจากนี้ โครงการสร้างเสริมสุขภาพของตำบลเหล่าสร้างถ่อยังแสดงให้เห็นอีกว่า การริเริ่มถ้ามาจากชุมชนจะทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชาวบ้าน โอกาสที่โครงการจะประสบผลสำเร็จก็สูง

            และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชาวบ้าน คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ผู้นำชุมชน, สถานีอนามัยและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในตำบล เช่น โรงเรียนประถม มัธยม นั้นช่วยให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกันทั้ง 3 องค์กร เกิดการประสานงานที่มีความสัมพันธฺ์อันดีระหว่างกันอย่างเข้าอกเข้าใจ  ก่อเกิดความรัก ความสามัคคีจากทุกภาคส่วน
            ความสามัคคี ไม่ใช่หรือที่เป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญยิ่งในการช่วยให้ชุมชนได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ และช่วยผลักดันพัฒนาชุมชนไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สมสมร เรืองวรบูรณ์
พิพัฒน์พงศ์ เข็มปัญญา
จุรีรัตน์ ก่อเจริญยศ
ศิริรัตน์ อินทรเกษม
พยอม สินธุศิริ
วพบ.นครพนม


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น