++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมชุมชนเข้มข้น สุขภาวะเข้มแข็งในตำบลบุ่งเลิศ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งเลิศ อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "กรรมการเป็นชุดเดียวกับ อสม. กรรมกาจะทำงานในทุกๆเรื่องจึงเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว เพราะเป็นชุดเดียวกัน"  เสียงจากคณะทำงาน อบต.บุ่งเลิศ
            คนส่วนใหญ่ในตำบลบุ่งเลิศ เป็นชาวภูไท ตำบลเล็กๆแห่งนี้ อยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัดร้อยเอ็ด มีการบันทึกเอาไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีเดียว สองตายายที่มีชื่อว่า คุณยายปุ่นและคุณตาอ้วน  เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ ทั้งสองย้ายมาจากอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบอาชีพตั้งรกราก ด้วยการทำน้ำมันยางหาของป่าและทำไต้แลกข้าวปลาอาหาร จนเกิดการหักร้างถางพงก่อตั้งเป็นชุมชน จนกระทั่งปัจจุบัน

            ชาวภูไทมีความเหนียวแน่นและยึดถือประเพณีปฏิบัติ ที่เรียกว่า "ฮีต12-คอง14"   เป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเข้มแข็ง ด้วยฐานทางวัฒนธรรม การยึดถือ "พ่อล่ามแม่ล่าม" ซึ่งเสมือนพ่อแม่คนที่สอง เพราะพ่อล่ามแม่ล่าม คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสและความรู้เกี่ยวกับการครองเรือน ทำให้ระบบครอบครัว หน่ยพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุด ของชุมชนแห่งนี้ มีความเข้มแข็ง

            ด้วยแนวคิดของ นายก อบต. สมัย พ้นทุกข์ และหัวหน้าสถานีอนามัยบุ่งเลิศ ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพฯ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ได้เข้ารับเป็นพื้นที่นำร่อง โครงการหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น  จัดระดมสมองเพื่อจัดทำแผนกิจกรรมโครงการทางด้านสุขภาพชุมชน บนพื้นฐานของความรักและศรัทธา

            ถึงแม้ว่า ในระยะแรก การประชุมเพื่อขยายความเข้าใจจะไม่ประสบผลสำเร็จมากมายเท่าไรนัก เพราะระยะเวลาที่กระชั้นและกิจกรรมยังเป็นเรื่องใหม่ สำหรับคนในชุมชนแห่งนี้ แต่ด้วยความอุตสาหะและเพียรพยายาม ผลที่สุด มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มาจากหน่วยต่างๆในชุมชนเพื่อรับทราบวาระการประชุมและขยายผลความเข้าใจออกไปในฐานะตัวแทนของกลุ่ม  โดยยึดหลักของ ความครอบคลุม เสมอภาค สะดวก เข้าถึงง่ายและได้มาตรฐาน

            จนเกิดโครงการที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมาหลายโครงการด้วยกัน
            จากโครงการทั้งหมด กิจกรรมโครงการหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนได้รับรางวัลสถานีอนามัย(บุ่งเลิศ) เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกดีเด่นในระดับจังหวัด

            กิจกรรมนี้ได้มีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนงานที่ชัดเจน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แบ่งออกเป็น 9 สาย ประจำ 9 หมู่บ้าน ดำเนินการกิจกรรมรณรงค์ กำจัดลูกน้ำยุงลาย
            โดยอาศัยช่วงทำบุญตามประเพณีของหมู่บ้าน
            หลังการทำบุญตักบาตรร่วมกันในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะแบ่งกลุ่มตามสาย ออกเดินรณรงค์เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายในแต่ละหมู่บ้าน
            ตกเที่ยง กลุ่มไหนอยู่ที่บ้านไหนก็จะตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกันเหมือนการทำบุญ ใครมีอะไรก็เอามาเผื่อกัน สร้างบรรยากาศคุ้นเคย เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
            ตกบ่าย จะไขว้สายตรวจประเมินผล การดำเนินงานของแต่ละสาย ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปจนเย็นย่ำ หลังรับประทานอาหารเย็นจะมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อประชุมกลุ่ม สรุปผลการดำเนินงาน
            โดยภาพรวม วัฒนธรรมประเพณี กลายเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการยึดโยงกลุ่มคน สร้างการมีส่วนร่วม

            แม้ว่าจะยังไม่มีการประเมินผลที่ชัดเจน แต่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในเวทีประชาคมหรือจากที่ประชาชนแจ้งมา ทำให้ทราบว่าประชาชนมีความรู้สึกพึงพอใจกับการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในทุกๆโครงการ
            ผลจากการทำงานทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ใน 3 ด้าน คือ บทเรียนการเสริมพลังในการทำงาน บทเรียนการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้ชุมชน บทเรียนกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริม ให้เกิดผลสำเร็จ อันมีฐานมาจาก ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน

            กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในชุมชนแห่งนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่คุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนยังคงเข้มข้น

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สาคร อินโท่โล่
สุจิมา ติลการยทรัพย์
เนาวรัตน์ สุขณะล้ำ



         

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น