แต่เดิมการปลูกมะม่วงในพื้นที่ราบลุ่มของจังหวัดฉะเชิงเทรา เกษตรมักจะยกร่องทำเป็นคันดินเพื่อเป็นการระบายน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บนร่องสวนก็จะทำการถางหญ้าไม่ให้มีเศษวัชพืชขึ้นแม้แต่น้อยซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ทำกันอยู่ทั่วไปเพื่อให้สวนดูสะอาดสวยงาม
แต่ในปี 2543 นายวิเชียร มงคล ได้ค้นพบวิธีการผลิตมะม่วงแบบชีวภาพ โดยความบังเอิญจากการปลูกพริก กล่าวคือ แต่เดิมได้ปลูกพริกเป็นพืชแซมควบคู่ไปกับการทำสวนมะม่วงเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริม โดยจะทำการสูบน้ำเข้ามาในร่องสวนให้เต็มช่วงเดือนมกราคม หลังจากนั้นจะใช้น้ำที่สูบไว้เต็มร่องสวน รดพริกและฉีดพ่นยาเคมีทุกๆ 4 วัน น้ำในร่องสวนจะถูกใช้และแห้งภายใน 1 เดือน ซึ่งปกติภายหลังจากเก็บพริกแล้วหากไม่รดน้ำ ใบพริกจะร่วง ในระหว่างที่น้ำแห้งนั้นได้ฉีดพ่นสารชีวภาพที่ผลิตจากสารเร่ง พด.2 ในปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไปซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดในเรืองอัตราส่วนที่ใช้ผสมกับน้ำ แต่กลับพบว่าได้ผลดี คือ เมื่อไม่ได้รดน้ำ ใบพริกก็ไม่ร่วงและมีดอกออกมาก จึงมีความเชื่อว่าวิธีชีวภาพเป็นเรื่องมหัศจรรย์สามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้
หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาอย่างจริงจังและนำมาใช้กับสวนมะม่วง และได้คิดค้นสารสกัดชีวภาพกำจัดเชื้อราสูตรว่านน้ำที่ประกอบด้วย ว่านน้ำ กระเทียม เหล้าขาว ดอง 10 วัน แล้วกรองนำน้ำมาใช้เป็นยาฉีดป้องกันและกำจัดโรคเชื้อราแอนแทรคโนสในมะม่วงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สารสกัดนี้ยังใช้แช่ผลมะม่วงน้ำดอกไม้สุกที่ผลิตนอกฤดูก่อนนำไปบ่ม โดยใช้ในอัตราส่วน 60 ซีซี ต่อน้ำ 12 ลิตร แช่มะม่วงเป็นระยะเวลานาน 1 ชั่วโมง พบว่า การบ่มมะม่วงจะไม่เสียหายเลยและแผลของผลมะม่วงสุกที่เกิดจากจุดเน่าดำของโรคแอนแทรคโนสก็จะไม่ลุกลามอีกด้วย
ความจริงการใช้สารชีวภาพในส่วนมะม่วงและพริกผลพลอยได้คือเป็นการรักษาชีวิตของแมงมุม ซึ่งเป็นตัวห้ำชนิดหนึ่งในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ การที่เราใช้สารเคมีเพื่อกำจัดเพลี้ยไฟจะทำให้กำจัดแมงมุมซึ่งเป็นแมลงที่เป็นประโยชน์ไปด้วย ทำให้การควบคุมสมดุลของธรรมชาติต้องถูกทำลายไป เกษตรกรยิ่งต้องใช้สารเคมีมากขึ้น การฉีดพ่นด้วยวิธีชีวภาพจะทำให้ควบคุมเพลี้ยไฟของมะม่วงได้ ทำให้มะม่วงมีผลที่สวยงาม ผิวสวย ไม่ขรุขระ ซึ่งมะม่วงจากสวนจะขายได้ราคาดี รสชาติอร่อย
สำหรับการบำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เกษตรกรได้รณรงค์ให้สมาชิกลุ่มนำน้ำสกัดชีวภาพจากสารเร่ง พด.2 ไปผสมน้ำราดบริเวณทรงพุ่มมะม่วง จะช่วยปรับสภาพดินให้เป็นกลางและเป็นการช่วยย่อยอินทรียวัตถุในดินให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เคยใส่และลดต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก
นายวิเชียร มงคล
หมอดินอาสาดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
93 /1 หมู่ที่ 3 ต.คลองเขื่อน กิ่ง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา
จากหนังสือ “ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง”
จัดทำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กันยายน 2549
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น