ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต พูดง่ายๆเขาต้องใส่ปุ๋ยให้ไร่นาสวนของเรา พืชผลจึงจะงามดี เดี๋ยวนี้ปุ๋ยที่ซื้อตามท้องตลาดแพงเหลือเกินนี่! เรามาทำปุ๋ยหมักใช้เองดีกว่า
วิธีทำ ของที่ต้องเตรียม
1. ซากพืช ได้แก่ ใบไม้ ผักตบชวา หญ้าแห้ง ลำต้นถั่ว ลำต้นข้าวโพด ใบและต้นมันสำปะหลัง กระดูกปอตามที่มี สับเป็นท่อนๆสั้นๆ ให้เปื่อยเร็ว
2. ก. ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว อะไรก็ได้
ข. ปัสสาวะคน หรือ สัตว์
ค. กากเม็ดนุ่น กากถั่ว ซากต้นถั่วชนิดต่างๆ (พืชตระกูลถั่ว)
การกองปุ๋ย
1. กองในหลุม ต้องขุดหลุมขนาด กว้างราว 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระวังดินพังทลายลงในหลุม ถ้ามีการระบายน้ำได้ยิ่งดี
2. กองในคอกปรับดินบริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้แน่นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่นที่หาได้ กั้นเป็นคอก กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1 เมตร แบ่งคอกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งไว้ใส่ปุ๋ยหมัก อีกครึ่งหนึ่งไว้กลับกองปุ๋ย ทำหลังคาใบจาก หรือใบมะพร้าว คลุมหลังคา ถ้ามีพลาสติกคลุมกันฝนชะปุ๋ยก็ดี
3. เทซากพืชที่เตรียมไว้ กองเกลี่ยในคอก (หรือในหลุม) ให้เป็นชั้น เหยียบตามขอบให้แน่นขนาดคนเหยียบแล้วไม่ยุบอีก ชั้นหนึ่งๆ สูงราว 1 คืบครึ่ง (30 ซ.ม.) รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยโรยทับให้ทั่วดินสูง 2 องคุลี (5 ซ.ม.) ถ้ามีปุ๋ยเคมี (สูตร 16-20-0 หรือ 14-14-14, แอมโมเนียซัลเฟต หรือ ปุ๋ยยูเรียโรยบางๆให้ทั่วแล้วทับด้วยดินละเอียด หนาประมาณ 1 องคุลี สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้นๆ อย่างนี้จนปุ๋ยคอกเต็ม (น้ำที่จะรดผสมด้วยปัสสาวะด้วยก็ได้)
ข้อควรระวัง
1. อย่าให้มีน้ำขัง การรดน้ำมากไปจะทำให้การระบายอากาศไม่ดี
2. ปุ๋ยกองใหญ่ไปจะเกิดความร้อนสูง ปุ๋ยจะเสีย ถ้าในกองปุ๋ยมีความร้อนสูงไปให้เติมน้ำลงไปบ้าง
3. ปุ๋ยกองเล็กไป จะสลายตัวช้า
4. อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับใส่ปูนขาว จะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัว
การกลับปุ๋ย
ทุก 30 วัน ควรกลับกองปุ๋ยโดยเอาชั้นบนสุดของกอง นำไปเกลี่ยในอีกส่วนของคอกเป็นชั้นล่างสุด แล้วเอาชั้นสองเกลี่ยทับแล้วรดน้ำ ควรกลับปุ๋ยทุก 30 วัน จนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง กินเวลา 3-4 เดือน เมื่อปุ๋ยใช้ได้ สังเกตจากความร้อนของอากาศ ปุ๋ยหมักจะเป็นสีน้ำตาล แค่เอาตะแกรงร่อนปุ๋ยหมักเก็บไว้
การใช้และประโยชน์
ประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครั้งหนึ่ง ทำให้ดินร่วนอุดมสมบูรณ์ เพิ่มธาตุไนโตรเจน ไม่เป็นอันตราย รักษาความชุ่มชื้นของดิน
หมายเหตุ ถ้าดินเป็นดินทรายใช้อิฐกรุในหลุม จะทำให้ได้ผลดีขึ้น
ที่มา : วารสารกรมพัฒนาที่ดิน ปีที่ 43 ฉบับที่ 401 เดือนเมษายน - มิถุนายน 2549 หน้า 9-10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น