++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550

Creative Thinking เครื่องมือการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

ตำราเล่มนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้บริหารและผู้อ่านทั้งหลาย เพราะต้นตอสาเหตุหลักที่เราปวดหัวกันตอนนี้คือ การแก้ปัญหาหลายครั้งที่ “แก้ไม่ออก” มันตันไปหมด” หรือ แก้ไม่ถูก แก้ผิดจุดและบ่อยครั้ง “ไม่มีใครแก้”

ตำราเล่มนี้ มีคำสามคำที่สำคัญปนกัน คือ

    1. เครื่องมือ
    2. การแก้ปัญหา และ
    3. อย่างสร้างสรรค์

เรามาพิจารณาคำแรก คือ เครื่องมือ (Tools) ซึ่งย่อมต้องขึ้นกับผู้ใช้ เราจะเลือกใช้เครื่องมืออย่างไรให้เหมาะสม หรือจะใช้ผสมกันอย่างไรก็ได้ คำว่า 100 นั้น ถ้านับดูจะไม่ครบ 100 เป็นเพียงคำพูดที่แฝงอุบาย คือ 100 หมายถึง การร้อยเข้าหากัน ร้อยให้ติดกัน เป็นพวงเลยก็ได้ นั่นคือ อย่าใช้เครื่องมือเดียว

อย่างไรก็ตาม เก่งเรื่องเครื่องมืออย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรู้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมียบางท่านอาจจะใช้ไขควงเก่ง (เป็นเครื่องมือ เช่น ไล่แทงขว้าง ฯลฯ) แต่ไม่สามารถซ่อมรถได้ เพราะไม่รู้เรื่องที่จะซ่อม วิศวกรก็เหมือนกัน รู้วิธีใช้สูตรต่างๆมากมาย แต่ไม่เข้าใจเครื่องจักรที่แก้ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนมา ดังนั้นก็แก้ไม่ได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ตำรา TQM หรือ Total Quality Management มักกล่าวถึง (แต่ไม่ได้เน้น) คือพนักงาน ต้องมี ”ความรู้ พื้นฐาน” (Basic knowledge) ในงานที่ตนทำอยู่เสียก่อน จึงจะทำ TQM ได้

องค์กรที่ทำคิวซีซี (Quality Control Circles) แล้ว ผลที่ออกมาไม่ได้เรื่องได้ราว ก็เพราะคนในองค์กรไม่มีความรู้พื้นฐาน รอแต่จะลอกเขา เอาของเขามาทำย้อนหลัง ฯลฯ ดังนั้น การที่เจ้านายไปสั่งให้เขาทำ คิวซีซี ก็เปรียบเสมือนรีดเลือดกับปูอัด นั่นเอง พนักงานไม่มีอะไรในสมอง

การที่เราเชิญวิทยากรเรื่องคิวซีซี ที่ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ตาม มาสอนองค์กรของเราก็ได้แค่เก่งสอนเครื่องมือ แก้สิ่งที่จะแก้ไม่ได้ เพราะวิทยากรไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่เราทำมาหากินกันอยู่

อย่างไรก็ตามประโยชน์ของการใช้เครื่องมือต่างๆคือ เป็นการลดการกระแทกกันทางอารมณ์ของผู้เข้าร่วมทีม เพราะในองค์กรมีคนประเภทที่มี EQ ( ความฉลาดในการใช้อารมณ์ หรือ Emotional Quotient ) ต่ำอยู่มาก

คำที่สอง คือ การแก้ปัญหา คำนี้เราก็ต้องตีความก่อนว่า ปัญหา คืออะไร ปัญหาคือ การมีหรือการได้พบหรือการได้ “สิ่งที่ไม่ได้ดังคาดหวัง” (เช่น ของเสีย ของตกสเปค ไม่พอใจ ไม่ถูกใจ พนักงานไม่สามัคคีกัน ฯลฯ) “สิ่งที่อยากจะได้ดังคาดหวังแต่ยังไม่ได้” ( เช่น การออกแบบสิ่งใหม่ๆ การทำให้สมหวัง การทำให้ได้ตามนโยบาย ฯลฯ)

แต่ที่แย่อยู่ตอนนี้ คือ พวกเราหลายคนไม่รู้ว่า “ปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่านี่คือปัญหา”กำลังมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แต่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นแล้ว ” หรือ “ไม่รู้ว่ากำลังจะเกิดปัญหาอยู่” จึงไม่คิดจะแก้

ส่วนคำว่า “แก้” ก็ตรงกับ คำว่า Action ในวงจร “Plan-Do-Check-Action” ของ ดร.เดมมิ่ง (Deming) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เรื่องการ Action นั้น นอกจากหมายถึงการแก้ไขแล้ว ยังรวมไปถึงการป้องกันด้วย

คำที่สาม คือ อย่างสร้างสรรค์ ตีความได้ เช่น ไม่ทำลาย ไม่ทำบาป เกิดประโยชน์ ได้คุณค่า ไม่น่าเบื่อ แปลกใหม่ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ของผู้แก้ปัญหาอย่างมากมาย

หัวใจของตำราเล่มนี้ อยู่ตรงคำที่สามนี้เอง เพราะเรื่องของ “ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) “ เป็นเรื่องยาก สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกหัดมา (ฝึกการใช้สมองด้านขวา) คนเรียนเก่งหลายคน จึงถูกต่อว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เนื่องจากทักษะด้านสร้างสรรค์ อารมณ์ จินตนาการ ความมุ่งมั่น ฯลฯ โดนทำลายหมด เพื่อมุ่งสอบเข้า (Entrance) สถานศึกษาต่างๆ

โชคร้ายที่ระบบการศึกษาของไทย ทำลายเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของเรา ของเจ้านายและของลูกน้องคนรอบข้างเรามาตั้งแต่เด็กๆ จู่ๆจะมาสร้างให้สมองด้านขวาทำงานภายในเวลาอันสั้นนั้นยากมาก แต่ค่อยๆใช้เครื่องมือที่จะนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง

เครื่องมือดีๆ เทคนิคดีๆ ในการบริหาร เช่น คิวซีซี รีเอนจิเนียริ่ง (Re-engineering) และ TQM นั้นเกิดอเมริกา โตญี่ปุ่น ตายที่ไทย ก็เพราะพวกเราไม่ค่อยจะมีความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง

ถ้าอ่านหนังสือ ”กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เราจะพบว่า พวกเราชาวไทย เลี้ยงลูกผิดมาตั้งแต่ต้น (บางท่านอาจจะบอกว่า เลือกคู่ครองผิดมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เลี้ยงลูกผิดเท่านั้น) และเมื่ออ่านแล้วท่านจะเข้าใจว่า ทำไมองค์กรแบบไทยๆทำไมมันยุ่งแบบนี้

ผมจะขอย่อๆให้อ่าน และขอเสริมลงไปด้วยดังนี้

เซลล์สมองที่เกี่ยวกับการย่อยกระตุ้นสิ่งต่างๆ จะก่อรูปใน 3 ปีแรกของชีวิต (น้ำหนักสมองจะมีขนาด 80% ของผู้ใหญ่ เมื่อตอน 3 ขวบ) โดยก่อสร้างเซลล์ ที่เปรียบได้กับ Hardware ของเครื่องคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นค่อยสร้างเซลล์แบบ Software คือ อารมณ์ ความมุ่งมั่น และความคิดสร้างสรรค์ เซลล์แบบนี้เวลาสร้าง หมอท่านว่า อย่าไปบังคับ ต้องปล่อยๆแบบเสรี

ดังนั้น ถ้า Hardware ไม่ดีตั้งแต่ต้นก็ยากหน่อยที่จะใช้ Software ดีๆได้

ถ้าเปรียบสมองเป็นรถยนต์ ถ้าในช่วง 3 ปีแรกนี้เลี้ยงดูไม่ดี สมองเด็กไทยอาจจะออกมาเป็นแค่รถยนต์ 1300 ซีซี ซึ่งสมองเด็กฝรั่งอาจจะเป็น 3000 ซีซี และถ้าในอนาคต เมื่อต้องปีนเขาสูงชัน รถคันไหนจะข้ามไปได้ก่อนกัน

ในหนังสือ “ กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” นี้ มีแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก 0-3 ขวบ มากมาย ซึ่งถ้าเราเลี้ยงเด็กผิดพลาด จะส่งผลให้แก้ไขยาก เช่น

    1. เด็กกินนมวัวที่ไม่มีการถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีของมนุษย์ลงไป ฯลฯ
    2. แม่ที่ไม่ค่อยกอดลูก เป็นเรื่องผิดธรรมชาติของคนที่ต้องการความอบอุ่น ความไว้ใจ
    3. การอุ้มติดมือ (ลิงมันอุ้มลูกทั้งวัน) หรือนอนกับพ่อแม่ก็เป็นสิ่งดี โตขึ้นเด็กอาจจะโหดเหี้ยม อ้างว้าง ต้องการ โหยหาความอบอุ่นตลอดเวลา เจ้าชู้ ขี้หึง ขาดพรหมวิหาร 4 ฯลฯ

    4. ทุกครั้งที่ลูกร้อง ต้องขานตอบอย่าเงียบ เพราะสัตว์ในธรรมชาติเป็นแบบนั้น (ผมไม่ได้บอกคนเป็นสัตว์ แต่นี่คือธรรมชาติ)
    5. ที่บ้านใดที่คุยกันเสียงดัง โทรทัศน์ก็ดัง ฯลฯ มีผลการวิจัยพบว่า เด็กจะใช้ภาษาไม่เก่ง ไม่ค่อยฟังใครแบบตั้งใจ ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด เป็นต้น
    6. พ่อแม่ทะเลาะกัน ทำให้เด็กก้าวร้าว คุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ สำนวนหยาบๆของพ่อแม่นั้น เด็กจะจำแบบฝังลงไปเลย เด็กแรกเกิดสามารถรู้ได้ว่า พ่อแม่ทะเลาะกัน
    7. อย่าพูดเสียงแบบเด็กๆกับเด็กๆ ขอให้พูดแบบผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่โง่ขนาดนั้น อย่าทำให้เด็กงง และเข้าใจภาษาผิดๆ พูดแบบผู้ใหญ่กับเด็ก เด็กก็จะเป็นผู้ใหญ่
    8. ให้เด็กอยู่กับของใช้ที่เป็นธรรมชาติ เพราะเด็กที่เลี้ยงมากับธรรมชาติ เช่น การใช้ถ้วยชาม แก้ว เซรามิก ไม้ บ้านที่ใช้แสงธรรมชาติ สีธรรมชาติ เสียงธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อโตขึ้นจะมีนิสัยที่ละเอียดอ่อน รอบคอบ มีสมาธิ และไม่กระโดกกระเดก ซุ่มซ่าม เหมือนเด็กที่มีแต่ของใช้ พลาสติก เมลามีน แสงจากไฟฟ้า เสียงจากทีวี ฯลฯ เพราะธรรมชาตินั้นมีความสุภาพและละเอียดอ่อน จึงเป็นการสร้างจิตวิญญาณที่ดีให้เด็ก ซึ่งพ่อแม่ไทยโบราณเลี้ยงลูกได้เข้าท่ากว่าพ่อแม่สมัยนี้ เพราะการเลี้ยงลูกสมัยใหม่เป็นแค่เลี้ยงให้ตัวโต ไม่ได้เลี้ยงจิตใจ
    9. เด็กที่เล่นของเล่นสำเร็จรูป เช่น เครื่องบิน รถ เรือ หุ่นยนต์ ฯลฯ โตขึ้นเด็กจะกลายเป็นคนเบื่อง่าย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ขาดจินตนาการ อย่าลืมว่า ของเล่นยิ่งเล่นง่ายเท่าไร Hardware สำหรับสมองด้านขวาที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ก็จะเล็กเท่านั้น สมองไม่ได้พัฒนาอย่างเสรี ดังนั้น ของเล่นที่ดีจะต้องเน้น “จินตนาการ” อาจจะเป็นก้อนหิน ผ้าหนึ่งผืน ใบไม้ ฝาหอย ดินปั้นที่ทำจากแป้ง และให้เด็กสมมติโน่นนี่ นอกจากนี้การเลี้ยงเด็กในห้องที่ว่างเปล่าไม่ดี เพราะเด็กจะไม่เก่ง เนื่องจากในธรรมชาติจริงๆหรือในป่านั้น มีเสียงมากมาย มีสิ่งของอะไรๆมากมาย นี่แหละคือ โลก ไม่ใช่ห้องในคอนโด ห้องแถว ฯลฯ การเลี้ยงลูกแบบนี้จะประหยัดเงินค่าของเล่นมาก ๆ แต่ควรพาเด็กเห็นของจริง ช้างจริง ม้าจริง ฯลฯ ด้วย เพราะเด็กจะเกิดความคิดเสรี กลับมาจินตนาการได้ อุปมาดังพวกข้าราชการหลายคนที่ไปดูงานต่างประเทศ ไปเห็นของจริงเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว จำอะไรไม่ได้ ดูไม่เห็นอะไร มัวแต่ซื้อของ ถ่ายรูป ฯลฯ ก็เพราะข้าราชการพวกนี้ถูกเลี้ยงมาผิดๆ เช่นเดียวกับคนงานไทยหลายคนไปฝึกงานต่างประเทศ ซึ่งบางคนฝึกมาเป็นปี พอกลับมาไม่ได้ความคิด ไม่ได้จินตนาการกลับมาเลย หรือสงสารครูไทยสมัยใหม่ หลายคนที่พยายามสอนให้เด็กคิดเป็น ไม่เน้นให้เด็กจดหรือท่องจำมากมาย เพราะต้องการให้คิดเป็น แต่เด็กไปฟ้องพ่อแม่ว่า ครูขี้เกียจสอน แสดงให้เห็นว่า ทั้งเด็กและพ่อแม่ถูกเลี้ยงมาผิดๆนั่นเอง
    10. ในช่วง 0-3 ขวบ แม่ไทยควรจะอ่อนโยนต่อลูก ให้เข้าใกล้ธรรมชาติมากที่สุด และจะสอนอะไรก็สอน เด็กรับได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น การวาดสีน้ำแบบฟรีสไตล์ เด็กจะได้นิสัยความละเอียดอ่อน รอบคอบ (พ่อแม่ก็จะละเอียดอ่อน รอบคอบตามไปด้วย) การกิน การพูดเบาๆ เล่านิทาน เล่นละคร การรักสัตว์ การแบ่งปัน ว่ายน้ำ ฟังเพลงง่ายๆ หู พาไปดูของจริง การทำซ้ำๆ คือ กระตุ้นให้สนใจ เชื่อหรือไม่ว่าเด็กเล็ก เก่งพีชคณิตมากกว่าเลขคณิต รู้จักศัพท์สูงมากกว่าศัพท์ยากและสามารถที่จะสอนวินัย ความดี ความเลวได้ตังแต่ตัวน้อยๆ (สำคัญที่สุด การที่ยาย ย่า มาแทรกแซงการเลี้ยงแบบตามใจ เด็กไทยจะพังเพราะไม่มีวินัย ยายและย่าอาจทำลายชาติโดยไม่ตั้งใจ ด้วยประการนี้เอง ฯลฯ) ตอนก่อนเข้าอนุบาลควรตั้งใจถ่ายทอดเรื่องวินัยจากพ่อแม่สู่เด็กและปล่อยให้ เสรีตอนเข้าอนุบาลแล้ว (อยากเรียนอะไรก็ได้ เรียนตามอัธยาศัย ไม่เร่งเรียน เด็กเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ) แต่พ่อแม่ไทยบ้าเลือดหลายคนดันปล่อยปะละเลยตอนต้น 0-3 ขวบ (เด็กนิสัยเสียไปแล้ว และ Hardware เล็กด้วยช้าด้วย โดยเฉพาะถ้ายายหรือย่ามาถือหางเด็ก หรือตามใจเด็กด้วยแล้ว ก็มีแต่พังกับพัง) แต่มายุ่งมาเข้มงวดกับเด็กตอนหลัง 7 ขวบไปแล้ว เพราะทำให้เด็กงง สับสน และไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ และก็มีแม่บางคน บ้าเลือดกว่า คือ เข้มงวด (ในสิ่งที่ไม่ควรเข้มงวด เช่น เขียนหนังสือ ท่องศัพท์ กวดวิชาเข้าอนุบาล ตั้งแต่เกิดไปตลอด จนลูกแต่งงานไปแล้ว ยังตามไปเข้มงวดก็มี แต่ที่ทั้งบ้าแกมโง่ที่สุด คือ ให้คนใช้หรือพี่เลี้ยงเลี้ยง
    11. พี่น้อง ยิ่งมากยิ่งดี มี ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี (ถ้าไม่ตามใจจนเกินเหตุ หรือถ้าไม่ทำให้ข้ออื่นที่กล่าวมาเสียหาย) เด็กๆได้เล่นกันเองมากๆ จะทะเลาะกันเอง ระหว่างเด็กไม่เป็นไร (ลูกลิง ลูกเสือ ลูกสิงโต กัดกันทั้งวันเลือดไม่ไหล)
    12. อื่นๆ เช่น การดูข่าว (ทีวีบางช่อง) เป็นการเสริมสร้างภาษาที่ถูก เรียนไวโอลิน สร้างสมาธิ ท่องกลอน ช่วยสร้างความจำ ถ้าเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะมั่นใจมาก และจะเก่งเรื่องอื่นๆตามมา ต้องหมั่นชม อย่าด่า อย่าห้าม ใช้วิธีหลอกไปทำอย่างอื่นแทน ของเล่นมากไปจะจับจด การออกกำลังกายทำให้พัฒนาสมอง ให้เดินมากๆ แม่ต้องเก่งวิชาการ ฯลฯ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้บริหารคงจะปิ๊งทันทีว่า ทำไม คนในองค์กรจึงมีอะไรประหลาดๆ ไม่ซ้ำแบบกัน จะสอน จะขอความร่วมมืออะไร มันยากแสนยาก จะให้คิดอะไรที ซื่อบื้อไปหมด แกล้งโง่ก็มี ฯลฯ นี่แค่อ่านพบว่า ตอนก่อนเข้าอนุบาล สมองเด็กไทยถูกทำลายอย่างไร พอท่านได้อ่านเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกหลังอนุบาลแล้ว จะพบว่าเด็กไทยโดนทำลายสมองอีกแบบหนึ่ง เศร้าใจจริงๆ ประเทศไทย สรุปแล้ว หาหนังสือ “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” มาอ่านเองนะครับ

การสร้างปัญหา หรือ หาปัญหา

ประเด็นหลักของเครื่องมือต่างๆ ในบทนี้ คือหาปัญหาให้พบ ถ้าไม่พบก็สร้างปัญหาขึ้นมาเอง เพราะ “ที่ใดมีปัญหา ที่นั่นจะต้องมีคนหาเงินกับปัญหานั้นได้” สินค้าและบริการหลายอย่างเกิดจากมีปัญหา หรือมีคนรำคาญ อะไรสักอย่าง ถ้าท่านอยากรวย ก็ต้องรีบหาปัญหา สินค้า บริการต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพราะปัญหา เมื่อมีปัญหาก็มีทุกข์ เมื่อมีทุกข์ก็ต้องหาทางดับทุกข์นั้นๆ สินค้าบริการต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดับ ”กิเลส” ของคนซื้อ ส่วนการที่จะดับได้ถาวรไหม มันเป็นเรื่องของคุณภาพในการดับ เช่น การที่มีเครื่องปรับอากาศก็เพราะมีคนบ่นว่าร้อน แต่จะดับร้อนได้สนิทไหม ขึ้นอยู่กับวิธีการดับ เป็นต้น

องค์กรที่น่ากลัวที่สุด คือ องค์กรที่บอกว่าตัวเองไม่มีปัญหา เช่น มหาวิทยาลัยดังๆ โรงเรียนดังๆ รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ฯลฯ ไม่ค่อยจะยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา เพราะหลงตนเองว่าเป็นเลิศ พวกนี้พัฒนายาก

คนไทยเราหลายคน เคยถูกครู พ่อแม่ ตี ตวาด มาแต่เล็กๆ ดังนั้น การกลัวปัญหา เป็นเรื่องที่ติดแน่นในอารมณ์ (Fixation) เช่น ลูกน้องไทยๆ ไม่ยอมบอกหัวหน้าว่ามีปัญหา ส่วนหัวหน้าหรือเจ้านายที่ EQ ต่ำ ก็ด่าก่อน สอนทีหลัง เรื่องมันก็เลยแย่กันใหญ่ ตอนหลังพนักงานจะหมกเม็ดเก่ง เข้าทำนอง “ข้าไม่บอกเอ็ง เพราะเอ็งชอบตวาดข้า โรงงานของเอ็ง ไม่ใช่ของข้า”

ในประเทศญี่ปุ่น บางบริษัทจะให้ลูกน้องหาปัญหามาวันละ 10 เรื่อง เขาต้องการแก้ปัญหา

ทุกวัน ช่วงแรกๆจะเจอปัญหาใหญ่ ตอนหลังๆจะเจอปัญหาเล็กลงเรื่อยๆ แต่วันไหนไม่มีปัญหา พนักงานจะโดนเรียกมาสอบถาม เพราะแสดงว่าพนักงานขาดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และความรู้เชิงวิชาการหมดแล้ว จึงหาปัญหาไม่พบ เป็นหน้าที่ของเจ้านายที่ต้องต่อเติมปัญญาให้พนักงานอีก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ไม่รีบแก้ ต่อมาจะเป็นความเคยชิน และกลายเป็น “ไม่เป็นไร” ประเทศไทยถึงได้ย่ำแย่อย่างนี้

คนที่หาปัญหาไม่เก่ง คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา ดังนั้น ถ้าอยากมีปัญหา ต้องสร้างบรรยากาศ หรือ แสวงหา ”ปัญหา”ให้เป็น คำพูดที่ทำลายชาติ คือ “โนพรอมแพรม” ถ้าไม่เชื่อลองถามพนักงานดูว่า วันนี้มีปัญหาไหม พนักงานจะตอบว่า “โนพรอมแพรม” ท่านก็กุมขมับได้ พนักงานที่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ มักจะไม่ทะเยอทะยาน เช่น แทนที่จะเปรียบเทียบเพื่อนร่วมงานเพื่อพัฒนา กลับเปรียบเทียบเพื่ออิจฉา และพูดมาก แทนที่จะวิเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานแก้ไขตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น

พนักงานที่ทั้งวันอยู่แต่ในบริษัท หรือ ครูในโรงเรียน ที่พอตกเย็นๆก็อ่านแต่หนังสือพิมพ์แบบไม่คิด ดูแต่หนังน้ำเน่าไร้สาระ กินเหล้า เที่ยวเตร่ เล่นกีฬามากเกินไป คุยไปเรื่อยๆ คบแต่คนไร้สาระ มีคู่ครองที่ไม่ทะเยอทะยาน ฯลฯ คนพวกนี้จะไม่รู้ว่า “ปัญหา” คืออะไร เมื่อพวกเขาไม่รู้ว่ามีปัญหาก็ไม่มีการสร้างสรรค์ ผลงานที่ดีๆ ออกมา ทั้งต่อบริษัทและต่อชุมชนของเขาเอง

ฝรั่งเรียกคนพวกนี้ว่า พวก อิ๊ก นอแร้นท์ (Ignorant) หรือพวกคนหลังเขา คนหลังดอยเป็นต้น

เด็กฝรั่งถูกฝึกเรื่องการหาปัญหามากกว่าไทย เด็กฝรั่งจะมีการบ้านประเภท สร้างโจทย์เอง วิจัยเอง ค้นคว้ามากมาย ซึ่งเด็กไทยมีแต่ครูไทยป้อน วิทยากรที่มาสอนที่บริษัทก็มีจำนวนมาก ที่ไม่สนใจว่าผู้ฟังเป็นอะไร ต้องการอะไร ตะลุยโม้ไปเรื่อยจนหมดแผ่นใส การสอนแบบนี้เรียกกันว่า ตามใจผู้สอน (Teacher center) เป็นการสอนที่ผิดหลักคุณภาพ เพราะการสอนที่ดี ต้องเป็นแบบตามใจผู้ฟัง (Child center) ให้ผู้ฟังคิดเป็น

เครื่องมือที่ 1 เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น

การทำ Benchmark และการเปรียบเทียบตนเองกับสิ่งที่ดีที่สุด

การเปรียบเทียบนั้นจะทำให้เรารู้ว่า เรามีจุดอ่อน (รู้ว่ามีปัญหานั่นเอง) ตรงไหน จะได้ปรับปรุงต่อไป อุปมาเช่น การที่ผัวมีเมียน้อย ทำให้เมียหลวงรู้จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เช่น เลิกปากร้าย และเลิกเป็นปลาร้า ฯลฯ อุปมาเช่น การตีกอล์ฟ ออกรอบกับมืออาชีพ ทำให้รู้ว่าต้องแก้ไขอะไร

เครื่องมือที่ 2 จ้างที่ปรึกษา

การจ้างที่ปรึกษาเก่งๆ หรือนักวิชาการที่ทำนายเหตุการณ์เข้ามาเดินเล่น และมาสัมผัสกับบรรยากาศการทำงานของพวกเรา ที่ปรึกษาจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องต่างๆได้ เพราะเป็นคนนอกที่สายตาไม่ลำเอียง และเห็นอะไรมาเยอะ (อาจจะเห็นของคู่แข่ง หรือต่างประเทศมาแล้ว) ให้ที่ปรึกษา กำหนดปัญหา เราจะได้นำไปแก้ไขเป็นต้น ป้องกัน และปรับปรุงต่อไป

เครื่องมือที่ 3 หาสัญญาณบอกเหตุร้าย

การอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ รับฟังข่าวสารจากสื่อต่างๆ ดูแนวโน้มต่างๆ คุยกับเพื่อน ผู้ใหญ่ นักวิชาการ ไปร่วมสัมมนา ฯลฯ เครื่องมือนี้ไม่ได้ห้าม ให้หาหมอดู ซินแส หรือนั่งทางใน แต่ระวังโดนหลอกนะครับ

เครื่องมือที่ 4 หาอะไรแปลกๆ จากแหล่งแปลกๆ

การอ่านหนังสือประเภทเพ้อฝัน อาจจะนำมาซึ่งแนวคิด ไอเดียดีๆได้เสมอ หรือดูรายการทาง Cable TV เช่น Discovery ดูโฆษณาต่างประเทศ อ่านอินเตอร์เนต ฯลฯ

ไปเปิดหูเปิดตา ไปดูงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ดีกว่าหรือแย่กว่า ประเทศที่ดีกว่าเราจะเห็นอนาคต เห็นแนวโน้ม ไปประเทศที่แย่กว่าเราจะเห็นสิ่งที่ต้องระวัง อย่าไปแย่อย่างนั้น หรือถ้ากำลังจะแย่อย่างไหน ตอนนี้ เราต้องทำอะไร

คนที่ปิดตัวเองมากๆ ไม่เสพข้อมูล ก็คือ กบในกะลาครอบ นั่นเอง

การตระหนักว่า นี่คือปัญหา

ในบทแรก ช่วยให้เราทราบว่าจะสร้าง หรือ ค้นหาปัญหาได้อย่างไร แต่ถ้าไม่ย้ำกันจริงๆแล้ว นี่มันปัญหา นี่มันสำคัญนะ พวกเราก็อาจจะปล่อยให้ปัญหานั้นผ่านไป

ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงงานอาหารกระป๋อง 2 แห่ง มีเจ้าของเป็นคนๆเดียวกัน โรงงานแรก อาเฮียบริหารเอง จ้างคนไทย จบปริญญาโท ดูแล โรงงานที่สอง อาเฮียเข้าหุ้นกับญี่ปุ่น ผมไปชมโรงงานแรกก่อน เพราะจะทำ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) ให้ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่างชาติบังคับ ไม่เช่นนั้นเขาไม่ไว้ใจว่า สินค้าของเราสะอาด และปลอดภัยพอ

โรงงานที่คนไทยดูแล มีนักคิวซี 12 คน คนงาน 200 คน แต่ปัญหาของเสียมากมาย พอผมเจอหน้าผู้จัดการปริญญาโท (วิทยาศาสตร์ทางอาหาร อายุ 50 ปี) ถามว่าโรงงานเป็นอย่างไร แกมองหน้าอาเฮียแล้วบอกว่า “ไม่มีปัญหา โรงงานเรียบร้อยดี” แต่พอผมเดินดู ผมชี้ว่า ตรงนี้น้ำท่วมขังนะ เรียกว่า ไปตรงไหนมีปัญหา

ตอนบ่ายผมไปโรงงานที่สองของอาเฮีย พบหน้ามือเป็นหลังเท้า ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นแค่ 2 คน คิวซีชาวไทย 6 คน พนักงาน 200 คน เท่ากัน สินค้าก็คล้ายกัน ผู้จัดการชาวญี่ปุ่นเจอหน้าผม บอกเลยว่า “โรงงานเรายังไม่ดี มีปัญหามากมาย อาจารย์เจออะไร บอกมาจะแก้เลย” พอเดินตรวจ ผมหาข้อบกพร่องได้น้อยมาก แต่ก็มี เช่น ไฟม่วงจับแมลงวันอยู่เหนือที่บรรจุหนึ่งที่เศษอาหาร พนักงานทำหล่นลงท่อ ฯลฯ ญี่ปุ่นจดกันใหญ่ และก็แก้ไขทันที

เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นทั้งตัวอย่างของเครื่องมือที่ 2 และเพื่อจะทำให้เห็นความแตกต่างว่า ปัญหามันอยู่ที่ “ทัศนคติของคน” ชาวญี่ปุ่นคนนี้อยู่เมืองไทย เป็นปีที่สาม พูดไทยได้ จบเทคนิคไม่ได้จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ แกไล่แก้ปัญหาทั้งโรงงานทั้งวัน รับสมัครคนงานเอง อาเฮียเจ้าของคนเดียวกันก่อนหน้านี้ ผู้บริหารญี่ปุ่น ห่วย ๆก็มี เฮียไล่กลับไปแล้ว เช่น ดูดบุหรี่ นอนดึก บ้ากอล์ฟ ฯลฯ แต่น่าสงสัยจริงๆ ทำไมอาเฮียไม่ไล่ ผู้จัดการไทยออก

1 ความคิดเห็น:

  1. นายวีรยุทธ หยุดยั้ง11 เมษายน 2554 เวลา 00:38

    ขอบคุณมากครับ นายวีรยุทธ หยุดยั้ง

    ตอบลบ