++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550

ข้อคิดเพื่อผู้นำ

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
วางรากฐานด้วยลักษณะชีวิต ลักษณะชีวิตสร้างผู้นำ ผู้นำสร้างคน คนสร้างชาติ

ลักษณะชีวิตที่ดีจะเป็นรากฐานความสำเร็จที่มั่นคงได้
การศึกษาและฐานะเป็นเพียงส่วนประกอบเสริม
ฉะนั้นผู้นำที่ดีจึงควรมีลักษณะชีวิตที่ดีเป็นประการแรก

อัตราส่วนของเกลืเพียงน้อยนิด
มีอิทธิพลต่อเนื้อที่หมักไว้มิให้เน่าเสียฉันใด
ก็เปรียบได้กับผู้นำที่มีลักษณะชีวิตดีเลิศจำนวนน้อย
แต่สามารถมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงคนจำนวนมากได้

อย่ามองหาแบบอย่างจากคนที่มีตำแหน่งสูง
การศึกษาสูง หรือ ความสามารถสูง
แต่จงมองหาคนที่มีลักษณะชีวิตที่ดี
เพราะในการเป็น "ผู้นำ" นั้น
ลักษณะชีวิตสำคัญที่สุด

ผู้นำที่ตั้งใจรักษามาตรฐานชีวิต และไม่ปล่อยให้เสื่อมลง
ในระยะยาว จะเห็นผลแห่งความตั้งใจ
ปรากฏเป็นชีวิตคนจำนวนมาก
ที่ได้เลียนแบบอย่างชีวิตของเขา

สังคมไทยต้องการผู้นำในทุกระดับชั้น
ตั้งแต่สูงสุดจนถึงหน่วยย่อยที่สุดของสังคม
ที่ได้รับการสั่งสมและปลูกฝังมาตรฐาน
คุณธรรมและจริยธรรมที่สูงส่ง

ผู้นำต้องมีคุณลักษณะมุ่งมั่นยืนหยัด
พร้อมมีใจเปิดกว้าง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
และขณะเดียวกันก็ต้องก้มลงสำรวจตัวเองอยู่เสมอ

ผู้นำที่ดีมิใช่ผู้ที่ยืนอยู่บนหอคอยงาช้าง
แต่จะมีลักษณะของความถ่อมใจ
ยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายใต้
และนำไปปรับปรุงเสมอ

ผู้นำที่ดีต้องเรียนรู้จักตนเอง
สามารถพัฒนาจุดแข็งให้กลายเป็นจุดเด่น
และยอมรับจุดอ่อนในชีวิตพร้อมกับพยายามปรับปรุงแก้ไข

ผู้นำที่บรรลุภาวะทางอารมณ์
จะเป็นผู้ที่ประพฤติและวางตนได้อย่างเหมาะสม
จนได้รับการยอมรับและวางใจจากผู้ตามว่า
สามารถนำทิศทางพวกเขา
ยามเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆได้

ผู้นำที่รักการอ่าน
มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ
คือ คุณสมบัติของผู้นำที่มีความคิดกว้างไกล

ผู้นำที่เป็นคนช่างสังเกต
และเห็นคุณค่าของผู้ร่วมงานรอบข้าง
จะมองเห็นจุดดีของทุกคนทะลุผ่านความผิด
และข้อบกพร่องของเขาเหล่านั้นได้เสมอ

ความเพียรพยายามของผู้นำ
ถือเป็นต้นกำเนิดที่นำมาซึ่งความสำเร็จ
เขาจะสามารถฝ่าฟันขวากหนามแห่งอุปสรรคที่เกิดขึ้น
ทั้งจากภายนอกและภายในด้วยหัวใจที่ไม่มีคำว่า
"ยอมแพ้" หรือ "หวั่นไหว"
แม้จะต้องแบกรับความผิดหวังสักปานใด

"วินัย" สร้างชีวิตคนธรรมดาให้เป็นผู้นำ
ผู้นำที่ขาดวินัย แสดงว่าผู้นั้นได้รับการเลือก
บนพื้นฐานความมืดบอดแห่งจิตใจของใครบางคน

ผู้นำคือผู้ที่สวมวิญญาณแห่งความ "ดีเลิศ"
เริ่มต้นตั้งแต่ ความคิดดีเลิศ เป้าหมายดีเลิศ
การตัดสินใจดีเลิศ ทีมงานดีเลิศ การทำงานดีเลิศ
และสุดท้าย"ผลลัพธ์ดีเลิศ"

ความเก่งกาจสามารถของผูนำ
ไม่สามารถช่วยนำไปถึงซึ่งความสำเร็จได้เลย จนกว่า
ลักษณะชีวิตของผู้นำนั้นจะได้รับการปรับเปลี่ยน
ให้อยู่ภายใต้การบังคับใจของตนเอง
ได้รับการกุมบังเหียนให้อยู่ในร่องในรอย

การบังคับตนเองเป็นคุณสมบัติหลักของผู้ที่จะปกครองคน
หากขาดซึ่งสิ่งนี้ ผู้นำคนนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับนับถือ
และอาจเป็นที่เกลียดชังของคนภายใต้

ความมุ่งมั่นของผู้นำ
ต้องไม่ถูกทำให้ถดถอยด้วยสิ่งต่างๆ ง่ายนัก
แต่ต้องตระหนักเสมอว่า
สิ่งที่พยายามตั้งใจไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าตลอดชีวิตของเขา

ผู้นำต้องผสมผสานความเด็ดขาด
และความเมตตาให้กลมกลืนอย่างมีสติปัญญา
จึงจะสามารถปกครองคนได้

ผู้นำต้องควบคุมคำพูดให้เป็นที่หนุนใจ
เป็นคำพูดที่สร้างสรรค์เสมอ
โดยควบคุมปากของตนเองไม่ให้เป็นเครื่องมือของอารมณ์
ไม่ให้เป็นเครื่องมือของความไร้เหตุผล
เพราะคำพูดอาจนำมาซึ่ง
คุณเอนกอนันต์หรือโทษมหันต์ก็ได้

ความไม่ซื่อสัตย์ ทำให้คงความเป็นผู้นำไว้ได้ไม่นาน
เพราะเขาขุดหลุมพรางไว้เป็น "กับดัก" สำหรับตนเอง

* * * * * * สู่พฤติกรรมที่แตกต่าง * * * * * * * ความสามารถของผู้นำที่ชาญฉลาด
มิใช่ความเก่งกาจหรือความเลิศเลอเฉพาะตัว
แต่เป็นความสามารถในการมองการณ์ไกล
มีวิสัยทัศน์ในการถ่ายทอดอำนาจและความรอบรู้สู่ผู้อื่น
และมีวิญญาณในการบุกเบิกกระทำสิ่งใหม่ๆ
ไม่มีใครริเริ่มคิดจะทำ

ผู้นำที่มีอุดมคติ และมีความคาดหวังสูงเท่านั้น
จึงกล้าและสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันจะต้องมีหัวใจ "โต"
เพียงพอที่จะสามารถรองรับ
สภาพการโถมทับของความผิดหวัง
ที่อาจตกลงมาเมื่อใดก็ได้

หากระบบภายในองค์กรดี
แต่ผู้นำขาดความสามารถในการบริหาร องค์กรก็ล้มเหลว
แต่ถึงแม้ระบบไม่ดี
หากมีผู้นำที่มีความสามารถในการบริหาร
ความสำเร็จขององค์กรก็จะเกิดขึ้นในที่สุด

ผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะรับอิทธิพลจากภายนอกอย่างมีสติปัญญา
ใช้วิจารณญาณแยกแยะถูกผิด
ยึดมั่นในความซื่อตรงและเที่ยงธรรม
เพื่อจะสามารถมีอิทธิพลแก่ผู้อื่น
ในวิถีทางที่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง

ความสามารถในการประยุกต์หลักการ
เข้ากับบริบทท้องถิ่นอย่างเหมาะสมในทุกสถานการณ์
คือ "สติปัญญา" ที่ผู้นำทุกระดับพึงมี

ผู้นำที่ขาดการพัฒนาความรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ก็เป็นเรื่องยากที่องค์กรหรือหน่วยงานของเขา
จะก้าวหน้าและทันโลก

ผู้นำที่เปิดใจกว้างยอมรับการเรียนรู้ใหม่ๆ
จากคนทุกประเภท ทุกระดับชั้น
ย่อมก้าวหน้าไปไกลกว่าผู้นำที่ยึดติดกับความรอบรู้เดิมๆ
ของตนและตีค่าความรู้ของผู้อื่นต่ำต้อย

ความสามารถในการควบคุมดูแลงานให้สำเร็จ
ต้องอาศัยการทุ่มเทชีวิต ลงทุน ลงแรง อดทน พากเพียร
เสียสละ และเหนื่อยยาก แต่เมื่อเห็นผลงานที่เกิดขึ้น
ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มคำว่า "คุ้มค่า"

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่สามารถสร้างสรรค์ทุกสิ่งที่เขาปรารถนา
ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำลายสารพัดสิ่ง
ที่เป็นอุปสรรคต่อความปรารถนานั้น

ผู้นำต้องจัดวางกำลังคนไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ตามความสามารถและขอบเขตที่เขาสามารถรับผิดชอบได้
ควรหลีกเลี่ยงการวางตำแหน่งคนตามความพอใจส่วนตัว
เพราะจะเหมือนกับนำม้าไปไถนา
และเอาวัวไปส่บังเหียนวิ่งแข่ง

ผู้นำที่ดีต้องรู้จักแยกแยะระหว่างความถูกต้อง
และความสัมพันธ์ส่วนตัว มีการตัดสินด้วยความยุติธรรม
หากคนที่เราสนิทสนมทำสิ่งไม่ถูกต้อง
ก็ไม่ควรเป็นเหตุมห้เราต้องลดน้ำหนักของความยุติธรรม
ให้ด้อยลงไป

ผู้นำควรตระหนักว่า การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียว
อาจส่งผลร้ายตลอดชีวิตที่ไม่สามารถเรียกคืนได้
แต่การตัดสินใจอย่าง "รอบคอบ" ในทุกๆเรื่อง ทุกๆวัน
แม้ดูเหมือนจะเสียเวลาบ้าง
แต่สิ่งนั้นคือ การดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง
และวิถีแห่งความสำเร็จในชีวิตเสมอ

ผู้นำไม่ควรตัดสินปัญหาต่างๆ โดยปราศจากข้อมูล
เหมือนการรบที่ไม่รู้จักกำลังของศัตรู
โอกาสพลาดพลั้งพ่ายแพ้ก็มีมาก

* * * * การวางแผนอย่างมีวิสัยทัศน์ * * * * แววแห่งความล้มเหลวยังคงส่องแสงอยู่เนืองๆ
ท่ามกลางชุมชนหรือองค์กรที่ผู้นำขาดการวางแผนระยะยาว

น้อยคนนักที่เมื่อเผชิญสิ่งที่เลวร้ายแล้ว
ไม่หวั่นไหว หวาดกลัว
แต่ลักษณะพิเศษของผู้นำประการหนึ่ง คือ
มองข้ามความกลัวเล็งไปยังเป้าหมายแห่งความสำเร็จ
และวางแผนด้วยสติปัญญา ด้วยความมั่นคงแห่งจิตใจ

หากผู้นำเป็นผู้ที่ไม่มีสายตาคมชัดในการมองเป้าหมาย
เขาจะสามารถนำคนได้อย่างไร
นานวันก็จะยิ่งทำให้คนภายใต้สับสน
เหมือนสุภาษิตหนึ่งกล่าวว่า
"คนตาบอดจะนำคนตาบอดได้อย่างไร"

ผู้นำคือผู้ที่เจนจัดในการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โดยบรรจุสิ่งที่สำคัญที่สุดไว้ คือ "ความรอบคอบ"
เพราะเขารู้ว่า "ความประมาท"
คือเชื้อพันธุ์แห่งความล่มสลาย

ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ คือ ผู้แพ้สำหรับวันนี้
และเป็นผู้ที่ตายแล้ว สำหรับวันพรุ่งนี้และวันต่อๆไป
ผู้นำควรตระหนักว่า ความล้มเหลวโดยมิได้ตั้งใจ
คือ นิสัยผูขาดวิสัยทัศน์

ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
คือ ผู้นำที่ตั้งเป้าหมายเฉพาะหน้า
วางแผนเฉพาะหน้า แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แต่สร้างปัญหาระยะยาว

ผู้นำที่มีความสามารถ
ต้องเรียนรู้จักวางแผนการใช้เวลาอย่างดีเลิศ
เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของบุคคลผู้มี "ปัญญา"

* * * * "นำทิศทาง" และ "สร้าง" คนรุ่นต่อไป * * * * * ผู้นำไม่ได้เป็นบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยออกคำสั่ง
หรือชี้นิ้วเพียงอย่างเดียว
แต่ถูกตั้งมาเพื่อนำทิศทาง คอยแนะนำฝึกคน
ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ

ผู้นำ คือ บุคคลที่เรียนรู้การฝึกคน 10 คนให้ทำงาน
ดีกว่าทำงานของคนทั้ง 10 คน ด้วยตนเอง

ไม่มีผู้นำคนใดสามารถทำงานใหญ่ได้
ถ้าไม่รู้จักมอบหมายให้คนอื่นช่วยรับผิดชอบบ้าง

ผู้นำควรละงานที่ทีมงานสามารถรับผิดชอบได้
เพื่อมุ่งมั่นตั้งใจบุกเบิกงานที่ไม่มีใครสามารถทำได้
แล้วถ่ายทอดสู่ทีมงานให้รับผิดชอบต่อไป
เพื่อตลอดชีวิตนี้จะปรากฏว่า
เราได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีมากมายมอบให้แก่โลก

การสร้างคนให้เป็นผู้นำมีค่ายิ่ง
เพราะสิ่งที่เพาะเมล็ดพันธุ์ลงไปในชีวิตเขานั้น
จะไม่หายไปไหน แต่จะเจริญงอกงามอยู่ภายใน
และออกผลมากมายเพื่อผู้อื่น

ผู้นำคือผู้ที่มีความสามารถในการสร้างคนรุ่นต่อไป
ประดุจผู้เพาะเมล็ดพันธุ์พืช
คอยพรวนดินรดน้ำด้วยคำสั่งสอน ใส่ปุ๋ยแห่งการศึกษา
หล่อเลี้ยงรากแก้วด้วยสติปัญญา
เพียรพินิจดูลำต้นที่กำลังเจริญเติบโต
และตบแต่งให้งดงามด้วยแบบอย่างแห่งชีวิต

ผู้นำที่ดี คือ ผู้ที่ไม่เพียงแต่ยื่นปลาให้คน "กิน" เพียงอย่างเดียว
แต่ต้องสอนเขาให้ "จับ" ปลากินเองด้วย

ความสามารถในการถ่ายทอด "ภาระใจ"
และการ "เห็นคุณค่า" ในงานที่ทำ
คือ ความสามารถสร้างทีมงานให้มีอุดมการณ์เดียวกัน
ให้ทุกคนมีความฝันอันงดงาม ที่น่าบากบั่นไปให้ถึง
ต่างจากผู้นำที่ชอบถ่ายทอด "ภาระหนัก"
อันทำให้ทีมงานมีแต่ภาพวาดอันมืดมิด
ยิ่งทำไปก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อยและสิ้นหวัง

การถ่ายทอดสิ่งที่ดีในตัวเราต่อคนภายใต้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้นำจะต้องมีความคมชัดในความคิด ชัดเจนในเป้าหมาย
เข้าใจในแผนการ และลงมือปฏิบัติ
จนกลายเป็นสภาวะควบคู่กันในชีวิตของเราก่อน

อุดมการณ์และเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิตของผู้นำ
จะสามารถส่งผ่านอิทธิพลสืบทอดสู่ผู้อื่น
และนำพาไปถึงซึ่งความสำเร็จได้

ผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการสร้างคน
จะมีผลทำให้ได้คนที่มีประสิทธิภาพตาม
เหมือนคันธนูที่ดีจะต้องมีแรงส่งลูกธนูไปได้ไกลถึงเป้าหมาย

แบบอย่างจากชีวิตของผู้นำ คือ
บทเรียนฝึกหัดคนที่ดีที่สุด
แต่ปฏิบัติจริงได้ยากที่สุด
เพราะต้องระมัดระวังลักษณะชีวิตที่ไม่ควรถ่ายทอด
เป็นแบบอย่างที่อาจผสมผสานออกไปด้วย

แม่พิมพ์ คือ ตัวต้นแบบหล่อผลิตภัณฑ์
ที่มีลักษณะเหมือนๆกัน
หากต้นแบบดี ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาก็จะสมบูรณ์
เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำดีมีความสามารถ
ก็เปรียบประดุจต้นแบบที่เป็นตัวสะท้อนว่า
คนภายใต้จะมีลักษณะที่ดีมีความสามารถ
ตามแบบผู้นำนั้น

** * * * สร้างกำลังใจให้ทีมงาน * * * * * ผู้นำ คือ ผู้ที่ปลุกเร้าความคิด
และคำพูดแง่บวกให้เกิดขึ้นในทีมงาน
เพื่อให้การกระทำที่แสดงออก
จะตั้งอยู่บนรากฐานของความเชื่อมั่นว่า " เป็นไปได้"

ผู้นำย่อมไม่สร้างความหวั่นไหว
ให้แก่ทีมงาน เมื่อเจอปัญหา
ถึงแม้จะมองไม่เห็นทางออกเบื้องหน้า
แต่เพราะเขารู้ว่าการให้กำลังใจ
คือวิธีที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ

ความเข้มแข็งของผู้นำ จะปลุกพลังฮึดสู้ของผู้ตาม
แต่ถ้าความอ่อนแอปรากฏเมื่อใด
คนภายใต้ก็กระจัดกระจาย

ผู้นำที่มีแรงจูงใจสูงผิดปกติกว่าคนธรรมดา
จะสามารถนำคนที่มีแรงจูงใจธรรมดาได้

การสื่อสารเป็นทักษะจำเป็นสำหรับผู้นำ
ในการท้าทายบุคคลผู้อยู่ภายใต้
การสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผลจะวัดจากการตอบสนองที่ดี
หากการสื่อสารล้มเหลวอาจเกิดการต่อต้าน
กลายเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ผู้นำต้องเป็นผู้ประสานความแตกร้าว
และยุติความแตกแยกภายใน
ต้องพงึระลึกอยู่เสมอว่า
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้น
สามารถเอาชนะอุปสรรคที่รุมเร้าจากภายนอกได้

บทบาทที่จำเป็นของผู้นำ
นอกจากการวางแผนนำทิศทางสู่เป้าหมายแล้ว
ต้องเรียนรู้การนำด้วยความเข้าใจ
และเรียนรู้จักสภาพของผู้ตามด้วย

ผู้นำต้องสวมความกล้าหาญ
ในการตักเตือนคนด้วยใจปรารถนาดี
ด้วยใจแห่งความมุ่งมั่นและความพากเพียรไม่ลดละ
ผลลัพธ์ก็จะได้ "คนที่มีคุณภาพ"

ผู้นำต้องเรียนรู้การสร้างใจตนเองให้เข้มแข็ง
ต้องคอยปั้มกำลังใจให้กับตนเอง เพื่อเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ
จึงจะสามารถเป็นกำลังใจให้ผู้อื่นได้

ผู้นำเป็นคนธรรมดาที่อาจทำผิดพลาดได้
แต่แตกต่างตรงที่ เขามี "ใจสู้"
และสร้าง "กำลังใจ" ให้แก่ทีมงาน
เพื่อทำสิ่งที่เกินธรรมดา
หยิบยื่นให้กับองค์กร

การท้าทายที่มีพลังจะต้องท้าทายด้วย "ชีวิต"
ให้เห็นภาพคมชัดเต็มตาว่า "สำเร็จแน่!"
แต่การท้าทายจะหมดพลังหากเพียงแต่ท้าทายด้วย
"คำพูด" ซึ่งขัดแย้งกับการกระทำ

* * * "สานสัมพันธ์" สู่ความสำเร็จ * * * คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของผู้นำ คือ
ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
หากปราศจากสิ่งนี้เขาก็ไม่มีสิทธิ์เป็นผู้นำ

ผู้นำต้องเห็นคุณค่าคนทุกประเภท
โดยสะท้อนออกมาทางการประพฤติ
เปิดทางให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์
ไม่มองคนเป็นเพียงเครื่องมือ
เพื่อมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
หรือแสดงออกในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม
อันเป็นเหตุให้เราทำลายตัวเอง
ทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

ผู้นำที่ชาญฉลาดย่อมเป็นผู้ที่มี "มนุษยสัมพันธ์ดีเลิศ"
เพราะเขารู้ว่ามนุษยสัมพันธ์นั้น
เปรียบเสมือนมีคนที่คอยเปิดประตูแห่งความสำเร็จ
ซึ่งง่ายกว่าการดั้นด้นหาทางด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียว

ผู้นำควรไวต่อความรู้สึกผู้อื่น โดยตระหนักเสมอว่า
ก่อนปฏิบัติต่อบุคคลอื่นต้องคำนึงว่า
เขา "คิดอย่างไร" "ปรารถนาเช่นไร"
"เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น" "เป้าหมายของเขาคืออะไร"
"เราจะมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จของเขาได้เพียงไหน"
มากกว่าคำนึงถึงแต่เพียงว่า
เขาสามารถทำอะไรให้กับเราได้บ้าง

เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนแม้มีความถนัด
และความเชี่ยวชาญสักเพียงใด
ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
หากไร้ซึ่งการพึ่งพาผู้อื่น
มนุษยสัมพันธ์จึงเป็นเหตุให้เราได้รับการเรียนรู้
การยอมรับและถ่อมใจที่จะยินดีรับการช่วยเหลือ
และสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เรา
ปฏิสัมพันธ์ด้วย

ผู้นำที่ปรารถนาจะบรรลุถึงความสำเร็จได้นั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ได้ยากเสียทีเดียว
หากทุกสิ่งที่ลงทุนลงแรงและทุมเทสติปัญญาลงไปนั้น
ได้กระทำควบคู่ไปพร้อมกับการเห็นคุณค่า
ของการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นด้วย

ช่องว่างในความไม่เข้าใจที่ต่างระดับกันในความคิด
มักทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์
ผู้นำต้องเป็นผู้ริเริ่มประสานให้สนิท
โดยการเปิดเผยชีวิตที่โปร่งใส
มีความเข้าใจในสภาพความคิดของอีกฝ่าย
พร้อมจะขอโทษและยินดีให้อภัยเสมอ
เมื่อเกิดความเข้าใจผิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น