++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550

ครูภูมิปัญญาไทย ผู้ประจักษ์ชัดในวิถีทางการทำนาอินทรีย์ : นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง

อาชีพทำนาเป็นอาชีพที่หลายคนคงไม่คิดว่าจะสร้างความร่ำรวย ให้กับตนเองได้ ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 4 (สาขาเกษตรกรรม) เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (สาขาทำนา) ประจำปี 2549 ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง โดยยึดเป็นอาชีพหลัก ภายหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานกับการตั้งใจที่จะสร้างความร่ำรวยจากการทำโรงสี ไร่มันสำปะหลัง ตัดเย็บเสื้อผ้าและการเป็นช่างตัดผม

จุดหักเหในชีวิต คือ ตอนที่ทำโรงสีได้เห็นคนงานโกยข้าวเป็นลม เพราะได้รับพิษจากการใช้สารเคมีฆ่าเพลี้
ยกระโดดในนาข้าว ซึ่งพิษของสารเคมียังติดไปถึงเมล็ดข้าว จึงทำให้เริ่มหันมาใช้วิธีเกษตรกรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีแล้ว

สิ่งที่คิดได้ หากว่าเมื่อต้องเลิกใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีอย่างเด็ดขาด คงต้องหาอะไรมาทดแทน จึงได้เริ่มศึกษาตามแนวทางการใช้จุลินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มจากการปรับดินให้กลับไปมีความอุดมสมบูรณ์เหมือนสภาพป่าเปิดใหม่ๆ การหมักฟางข้าว และไม่เผาตอซัง ในที่สุดได้คิดค้นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์จากป่าเขาใหญ่ น้ำตาไซเบอร์และห้วยขาแข้ง เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ใช้กับนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีและสารเคมีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ ก็คือ นำจุลินทรีย์ที่ได้รับการหมักมาร่วมกับรกหมูและกากน้ำตาลนาน 15 วัน นำน้ำหมักที่ได้ จำนวน 0.5-1.0 ลิตรมาผสมในถังน้ำขนาด 20 ลิตร โดยต่อก๊อกที่ก้นถัง สำหรับเปิดตรงช่องปล่อยน้ำเข้านาโดยให้ค่อยๆหยดทีละน้อยๆ กะให้พอดี จะทำให้ข้าวมีใบสีเขียวสดใสอย่างนี้ทุกสัปดาห์จนกว่าข้าวจะมีปรากฏการณ์ใบสีเหลืองครั้งที่ 2

ในการทำนา ลุงทองเหมาะให้ความรู้ว่า เกษตรกรต้องหมั่นสังเกตให้ดีว่าข้าวมีสีเหลืองจากโรคหรือเหลืองเพราะธรรมชาติของข้าว “ชาวนาเดี๋ยวนี้รู้แต่วิธีทำให้ข้าวเขียวอย่างเดียว อย่าใส่ปุ๋ยจนทำให้ข้าวมีใบสีเขียวอยู่ตลอดเวลา” โดย ธรรมชาติแล้วข้าวจะมีการผลัดใบเป็นระยะโดยมีการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ใบเหลือง 3 ครั้ง ครั้งแรก คือ ตอนที่ข้าวอายุประมาณ 30 วัน ข้าวจะมีใบสีเหลืองเพื่อสลัดใบที่ 1 2 และ 3 ทิ้งแต่ถ้าหากใบที่ 4 เหลืองด้วยแสดงว่าข้าวเป็นโรค เกษตรกรต้องสังเกตว่า ข้าวมีกี่ใบเป็นการเหลืองโดยธรรมชาติหรือเหลืองเพราะเป็นโรคและเหลือง ครั้งที่ 2 เมื่อ “ข้าวอายุ 50-60 วัน โบราณว่าข้าวมีการแต่งตัว” เมือนับใบที่ 4 5 และ 6 ได้ในช่วงนี้ใบข้าวจะผลิตอาหารเพื่อสร้างรวงที่จะเกิดมาทำให้หยุดหาอาหารเลี้ยงใบที่ 1 2 3 ซึ่งจะทำให้ใบเหลือง ซึ่งเป็นธรรมชาติของข้าว “เกษตรกรที่เป็นชาวนาก็ไม่เข้าใจจะเร่งใส่ปุ๋ยมากในช่วงนี้ ทำให้ใบที่ 1 2 3 กลับมาเขียวซึ่งเรียกว่า หลงใบเลย ทำให้ไม่ได้จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก” ควรหยุดใส่ปุ๋ยในช่วงนี้และเมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้ว
ก็ให้เร่งใส่ปุ๋ยบำรุงรวงได้ต่อเนื่อง จนเหลืองครั้งที่ 3 คือ ระยะพลับพลึงซึ่งข้าวสุก สามารเก็บเกี่ยวได้เงินและได้เมล็ดเต็มรวง

สำหรับการทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของลุงทองเหมาะ ในพื้นที่ 30 ไร่ จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม นำข้าวเปลือก 1 เกวียน (ตัน) ที่ได้ไปสีเป็นข้าวกล้องได้ 600 กิโลกรัม ผลิตขายเองในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้สามารถมีรายได้ถึงเกวียนละ 24,000 บาท

ในการทำนาข้าวอินทรีย์โดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดหอยทำได้โดยใช้วิธีกำจัดหอยเชอรี่ไม่ให้ไข่บ่อย หรือให้จำนวนฟองต่อระจุกไข่ลดลงและทำให้ลูกหอยเจริญเติบโตได้ช้าลงดังนี้ คือ ใช้ส่วนผสมเหล้าขาว 2 ส่วน น้ำส้มสายชู อสร. 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และจุลินทรีย์ 1 ส่วน ผสมกันแล้วหมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำส่วนผสม 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่า 5 ลิตร ฉีดพ่น ให้ทั่วแปลงนาหรืออาจจะใช้ส่วนผสม 200 ซีซี กับน้ำเปล่า 20 ลิตร นำไปหยดตรงช่องน้ำเข้านาให้ไหลปะปนไปทั่วแปลงนาภายในหนึ่งวัน เมื่อหอยได้สัมผัสกับน้ำที่มีน้ำหมักผสมอยู่จะทำให้วงจรการไข่ของหอยสะดุดและทำให้ขนาดกระจุกไข่ลดลงจาก 2 นิ้ว เหลือเพียงครึ่งนิ้วเท่านั้น ซึ่งลูกหอยที่เกิดก็เจริญเติบโตช้าปลากินได้ เป็นอาหารทำให้สามารถควบคุมจำนวนหอยและจับไปทำลายได้ง่าย ต่างจากการฆ่าด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์ร้ายแรง เช่น เอนโดซัลแฟน ซึ่งหากหอยที่เหลือรอดชีวิตบางตัวหลุดไปวางไข่ได้คราวละมากๆ ยากแก่การกำจัดโดยปลาหรือศัตรูตามธรรมชาติ

ในทางวิชาการจุลินทรีย์ที่ลุงทองเหมาะผลิตก็คือ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำมาใช้กับนาข้าวอินทรีย์ได้ผลผลิตดีมาก และมีการผลิตขายเป็นการค้าแล้ว มีการนำมาเข้ามาขายในประเทศไทยด้วยในราคาลิตรละ 300-600 บาท จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (photosynthesis bacteria) จะตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และทำให้ข้าวได้รับธาตุหรือปุ๋ยในโตรเจนโดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ แต่มีเทคนิคการใช้ก็คือ ดินโดยทั่วไปที่มีสารเคมีจุลินทรีย์ สังเคราะห์แสงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จำเป็นต้องทำดินให้มีความอุดมสมบูรณ์หรือเว้นการใช้สารเคมีที่มีพิษต่อเซลล์เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจึงจะสามารถเจริญเติบโตในนาข้าวได้กิจกรรมที่เกิดจากจุลินทรีย์นี้จึงจะเป็นประโยชน์กับข้าว

สำหรับการเหลืองครั้งที่ 2 ของข้าว ในทางวิชาการเรียกช่วงดังกล่าวว่า ภาวะการสร้างจุดรวงหรือจุด IP ของข้าว (Panicle Initiation) ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพของข้าวที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงลำต้นภายในหรือการสร้างจุดรวงซึ่งมีระยะเวลาที่แตกต่างกันระหว่าง 40-60 วัน ตามชนิดพันธุ์ข้าวและความสมบูรณ์ของลำต้น เกษตรกรต้องรู้จักพันธุ์ข้าวของตนเองว่า จะสร้างจุดรวงที่เวลากี่วัน หากเกษตรกรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงก่อนระยะที่ข้าวจะเกิดจุดรวงก็จะเป็นการไปกระตุ้นการแตกกอและการสร้างสีเขียวและยอดหรือที่เรียกว่า หลงใบ จะทำให้ข้าวรวงเล็กจะมีจำนวนระแง้น้อย ทำให้มีจำนวนเมล็ดต่อรวงน้อย แต่หากเป็นการให้ปุ๋ยที่ตรงจังหวะการสร้างจุดรวงข้าวจะดูดธาตุไนโตรเจนไปสร้างรวงหรือสร้างระแง้แทน เมื่อหนึ่งรวงมีระแง้มากก็จะทำให้จำนวนเมล็ดที่มาเกาะที่ระแง้ได้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรที่จะทำให้ข้าวมีสีเขียวอยู่ตลอดเวลาจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเกษตรกรจะได้เมล็ดข้าวอย่างเต็มที่ เพราะข้าวอาจจะหลงใบ

ปัจจุบันลุงทองเหมาะ ได้จัดศูนย์อบรมเกษตรกรและจุดเรียนรู้ 1 ไร่ แก้จนให้กันเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาอบรม


นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง
หมอดินอาสากิตติมศักดิ์
52 หมู่ 6 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี




จากหนังสือ “ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง”
จัดทำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กันยายน 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น