แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ดีให้กับประชาชนนับล้านได้ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องสูญเสียจากความสะดวกสบายของการใช้ชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลยไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลลาว ซึ่งพยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อน "ดอนสะโฮง" ทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อกักเก็บน้ำและสร้างกระแสไฟฟ้านั้น กลายเป็นประเด็นที่นักอนุรักษ์ และนักวิชาการด้านนิเวศวิทยา ถกเถียงเป็นอย่างมาก
นายชิท แซม อัฐ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล หรือ WWF ประจำประเทศกัมพูชา ผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความเป็นห่วงคือ หากรัฐบาลลาวเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวจริง จะส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคอาเซียน
ไม่เพียงเพราะเขื่อนดังกล่าวจะขวางทางน้ำของประเทศที่อยู่ใต้ลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศลาวลงไป ซึ่งส่งผลให้แม่น้ำแห้งขอดและจำนวนของปลาที่ชาวประมงจับได้ลดลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตของปลาโลมาอิรวดี ในประเทศกัมพูชาอีกด้วย
ปัจจุบัน โลมาอิรวดีอาศัยอยู่ในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก แต่เขื่อนดังกล่าวจะส่งผลให้ปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาโลมาลดน้อยลง ขณะที่การใช้ระเบิดในการก่อสร้าง ยังส่งผลต่อหูที่ใช้นำทางและไวต่อเสียงของปลาโลมา จนไม่สามารถใช้การได้และอาจทำให้สูญพันธุ์ไปในที่สุด
สุดท้าย สิ่งที่รัฐบาลลาวต้องคิดก็คือ "ชั่งน้ำหนัก" ถึงผลดี-ผลเสียของโครงการสร้างเขื่อนนี้ว่า "ราคาที่ต้องจ่าย" ระหว่างการกักเก็บน้ำและสร้างกระแสไฟฟ้า กับชีวิตของปลาโลมานับร้อย และระบบนิเวศที่จะต้องถูกทำลายลงนั้นคุ้มค่าหรือไม่
คอลัมน์ รุ้งตัดแวง/สปาย-กลาส
ข่าวสดออนไลน์, 26 ก.พ.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น