++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

พรสวรรค์ พรแสวง' ประโยคที่ไอน์สไตน์ไม่ได้พูด และคนไทยไม่เคยเข้าใจ



วงศกร ชัยธีระสุเวท
'อัจฉริยะเกิดจาก พรสวรรค์ 1% และ พรแสวง 99%'
คิดว่าหลายต่อหลายคนคงได้เคยฟังประโยคนี้มาตั้งแต่เด็ก บ่อยบ้าง นานๆ ครั้งบ้าง เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจไว้ให้เรารู้จักฮึกเหิมพยายาม และเราก็อ้างคำพูดนี้มาโดยตลอด โดยหารู้ไม่ว่า พอมาดูต้นฉบับภาษาดั่งเดิมจริงๆ มันกลับถูกเขียนว่า
'Genius is 1% inspiration 99% perspiration'
perspiration แปลว่า การขับเหงื่อ ซึ่งจะอุปมาแปลว่าความพยายามก็ได้แต่ inspiration มันแปลว่า แรงบันดาลใจมิใช่หรือ ?
แม้ภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าจะค่อนข้างอ่อนด้อยสักปานไหน แต่ดูยังไง๊ยังไงข้าพเจ้าก็ไม่เห็นว่ามันจะแปลเป็น 'พรสวรรค์' ไปได้ ข้าพเจ้าพอเดาไปได้ว่าอาจเกิดจากความหลากเลื่อนของความหมาย (ซึ่งคนที่รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษมามากพอสมควรจะรู้ดีว่าภาษาไทยที่เราแปลกันใน dictionary มักจะไม่ค่อยตรงข้ามหมายจริงๆ เท่าใดนัก เพราะคำต่างๆ ในแต่ละภาษาก็มีประวัติศาสตร์บริบทสิ่งแวดล้อมมากมายที่เวลาแปลมาเป็นอีกภาษาหนึ่งแล้ว ความหมายมันจะได้ไม่ครบถ้วนเวลาสื่อออกไป) ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไปเช็คกับ Dicฯ อังกฤษ-อังกฤษ ให้แน่ใจอีกที แต่แปลแล้วแปลอีกอย่างไร ก็ไม่เห็นตรงไหนจะแปลเป็น 'พรสวรรค์' ไปได้เลย
ข้าพเจ้าคิดว่า ประโยคนี้มันน่าจะแปลออกมาได้ว่า 'อัจฉริยะเกิดจากแรงบันดาลใจ 1% และ ความพยายาม (หรือพรแสวงก็ได้) 99%' เสียมากกว่า
ข้าพเจ้าลองท่องโลกอินเตอร์เพื่อจะดูว่าคนไทยแปลประโยคสุดคลาสสิคนี้ออกมาอย่างไรบ้าง ก็พบว่ามีคนแปลตามความหมายที่ข้าพเจ้าคิดไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วที่มีคนเคยอ้างอิงว่ามันแปลว่า 'อัจฉริยะเกิดจากพรสวรรค์1% และ พรแสวง 99%' นั้นมันมาจากไหนกันหรือ?
ถ้าให้ท่านเลือกระหว่างการแปลสองสำนวนนี้ โดยไม่ต้องสนใจความหมายดั่งเดิม ท่านจะถูกใจประโยคไหนมากกว่ากัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าเกือบ 90 % เลือกที่จะชอบแปล inspiration ว่า พรสวรรค์มากกว่าแน่ๆ มันช่างลื่นหูและสอดคล้องลงตัวกับ คำว่าพรสวรรค์ที่จะยกพ่วงมาต่อท้ายเสียเหลือเกิน
สำหรับคนไทย (โดยเฉพาะคนแก่ๆ) แล้วเราไม่เคยรู้สึกเลยว่า 'แรงบันดาลใจ' จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จต่างๆ นาๆ ได้อย่างไร (ถ้าคนรุ่นใหม่ ก็อีกเรื่อง) ประเทศชาติเราไม่เคยเข้าใจ idea หรือตรรกะของคำว่า 'แรงบันดาลใจ' จริงๆ เพราะคำๆ นี้มันเป็นแนวคิดของฝรั่งที่ได้ถูกถ่ายถอดมายังเมืองไทยเมื่อสมัยหลังๆ นี้เอง ตั้งแต่โบราณมาเราไม่เคยมีแรงบันดาลใจอะไรหน้าไหนเป็นส่วนประกอบของความสำเร็จทั้งสิ้น เวลาเราเห็นใครประสบความสำเร็จอะไรนอกจากคำว่า 'พยายาม' ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากแล้ว เรามักจะโบ้ยว่า 'ทำบุญมาดี ดวงดี ศาลเจ้าพ่อช่วย หรือฟ้าประทาน' เสียมากกว่า เราไม่เคยบอกว่าที่คนนั้นคนนี้ประสบความสำเร็จเพราะมันมี 'แรงบันดาลใจที่แรงกล้าจริงเชียว'
คำว่าแรงบันดาลใจเราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของ โชค บุญ ฟ้าประทาน ก็ได้แต่ก็ไม่ใช่เสียเลยทีเดียว เพราะแรงบันดาลต้องเกิดจากการออกแรงในการคิดเสียก่อน เราต้องชอบที่จะวิเคราะห์ครุ่นคิดอย่างหนักคิดไม่ออกก็จะไม่ยอมกินข้าว เสมือนตาลุงนักวิทยาศาสตร์หัวหงอก ที่ชอบแบกหนังสือเล่มหนาๆ เดินครุ่นคิดไปมาทั้งวันจนเราต้องกล่าวหาว่าเขาเพี้ยน พูดอีกอย่างคือ การจะได้แรงบันดาลใจนั้นเราต้องมีความมานะอุตสาหะในการสะสมความรู้หรือความคิดมามากมายอยู่ก่อนแล้ว เสมือนบัวใกล้โผล่โพ้นน้ำขึ้นมา แต่แค่รอเพียงมีอะไรมาสะกิดอีกนิดเดียว ก็จะหาคำตอบได้ทันที
ส่วนคำว่า โชค บุญ ฟ้าประทานหรือพรสวรรค์นั้น เราไม่ต้องมีความพยายามอะไรเลยมาก่อนทั้งสิ้น แต่อยู่ดีๆ ความคิดมันก็พลันเข้ามาเสมือน มีเงินหล่นทับมาให้โดยไม่ต้องออกแรงทำงาน หรือเหมือนคนที่พูดภาษาอังกฤษขั้นเทพได้โดยไม่ต้องฝึกพูดมาก่อน
จากเหตุผลที่ร่ายยาวมานี้มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในวัฒนธรรมภาษาของชาติไทยเราจึงไม่มีคำว่า แรงบันดาลใจ มาก่อน นั่นก็น่าจะเป็นเพราะบรรพบุรุษชาติเราแต่เดิมทีคิดวิเคราะห์กันน้อยมาก ชาติเราเป็นชาติที่ค่อนข้างอยู่สุขสบายในแง่การกิน ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ปลูกข้าวค่อนข้างจะขึ้นตลอดทั้งปี ไม่ต้องมีการวางแผนหรือพินิจคิดอะไรซับซ้อนมากนักในการประกอบหน้าที่การงานในแต่ละวัน (หรือใครจะเสริมว่าเป็นเพราะชนชั้นปกครองกดไม่ให้คิดก็ตามแต่) เราเป็นชาติที่ 'ไม่ชอบคิด' อะไรที่ซับซ้อน ซึ่งแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของฝรั่ง ที่ชีวิตไม่สุขสบายเหมือนเรานัก เพราะอากาศค่อนข้างแปรปรวนเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชผักหรือหาอาหารเลี้ยงชีพจึงต้องมีการคิดวางแผนรอบครอบในแต่ละวัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ แล้ววัฒนธรรมในการคิดซับซ้อนนี้ก็มีผลทำให้ฝรั่งสามารถผลิตอัจฉริยะแห่งการประดิษฐคิดค้นมาได้มากมายดั่งที่เราเห็นในปัจจุบัน
ฉะนั้นแล้วสำหรับคนไทย เราจึงมีแนวโน้มที่จะเข้าใจ สำนวนแปลอันที่หนึ่งที่ว่า 'อัจฉริยะเกิดจากพรสวรรค์ 1% และ พรแสวง 99%' มากกว่า สำนวนแปลอันที่สองที่ว่า 'อัจฉริยะเกิดจาก แรงบันดาลใจ 1% และความพยายาม 99%' ซึ่งน่าจะเป็นความหมายที่ถูกต้องมากกว่า

มีข้อถกเถียงมากมายว่า คำพูดหรือ speech ที่ว่ามานี้มันถูกต้องหรือไม่ บ้างก็ว่า ความสำเร็จเกิดจากมีโชคมากกว่ามีความพยายาม หรือบ้างก็ว่าคนที่มีความพยายามเยอะๆ ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป
อย่างไรเสียข้าพเจ้าจะไม่ขอร่วมวงถกเถียงว่าจริงหรือไม่ แต่ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของนานาจิตตัง ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ความคิดความเชื่อของแต่ละคน แต่อยากให้ข้อสังเกตอันหนึ่งว่า คำพูดหรือ speech นี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะแห่งโลกฟิสิกส์ไม่ได้เป็นคนพูดดั่งที่เราเข้าใจกันมาโดยตลอด แต่เป็นคำพูดของ โทมัส อัลวา เอดิสัน อัฉริยะนักประดิษฐ์ผู้บ้างาน ต่างหาก (อ้างอิงจากนิตยสาร Harper's Monthly ฉบับ September ปี 1932) ก็ไม่น่าแปลกใจที่เอดิสัน จะเป็นคนพูด เพราะถ้าใครได้อ่านชีวประวัติของแกจะรู้ว่าแกเป็นคนที่บ้างานเอาเสียมากๆ สามารถควบคุมการงีบช่วงกลางวันของตัวเองได้อย่างลื่นไหล ตื่นขึ้นมาก็ลุกทำงานต่อได้เลยโดยไม่มีอาหารเซื่องซึม
และเป็นที่น่าสนใจมากว่า คนไทยดูจะรักใคร่นักฟิสิกส์ชื่อก้องที่ชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เสียเหลือเกิน ถ้าลองเอาประโยคเท่ห์ๆ เจ๋งๆ แนวๆ จากใครก็ได้ มาให้ ลุงไอน์สไตน์ สวมรอยอ้างแทน ก็มักดูดี และสามารถสะกดให้คนไทยเชื่อได้เสมอว่าเค้าเป็นคนพูดจริงๆ
ส่วนเอดิสัน ถ้าได้มาเห็นประโยคอันแสนเท่ห์ของแกในเมืองไทย ถูกตัดหน้าไปโดย ไอน์สไตน์ แล้วก็คง เสียใจไม่น้อย แต่ก็คงไม่สามารถทำให้แกเสีย Self ได้มากนัก เฉกเช่นความพยายามของแกต่อชิ้นงานในโลกแห่งการประดิษฐ์ เพราะเอดิสันนั้นดูเหมือนแกจะท่องคาถาแต่เพียงอย่างเดียวว่า 'จงพยายามๆๆๆๆ ต่อไป ' ส่วนไอน์สไตน์ นั้นกลับกล่าวถึงชิ้นงานฟิสิกส์อันลื่อลั่นของแกอย่างถ่อมตัวว่า 'ทฤษฎีต่างๆ ที่ผมค้นพบถ้าผมไม่ได้ค้นพบในวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องมีคนค้นพบอยู่ดี' ฉะนั้นแล้วสำหรับไอน์สไตน์เค้าเชื่อว่า บุญหรือโชคช่วยก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จของเค้าไม่น้อย

ถ้าเอดิสันจะพูดว่า Genius is 1% inspiration ไอน์สไตน์ก็คงจะพูดกลับกันว่า Genius is much more % inspiration !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น