++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

สอนบุตรหลานให้ใช้เงินเป็น


สอนบุตรหลานให้ใช้เงินเป็น
โดย : ธนรัตน์ ยงวานิชจิต dhanarat333@gmail.com
เงินคือสิ่งจำเป็นสำหรับซื้อหาปัจจัย ทักษะในการใช้เงินที่มีอยู่จำกัดไม่ได้มีมาแต่เกิด การฝึกฝนบุตรหลานให้ใช้เงินเป็นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"คุณแม่ครับ หนูขอตังค์ซื้อวีดิโอเกมครับ"
"คุณพ่อขา หนูขอตังค์ซื้อไอโฟนค่ะ"
คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายคงเคยได้ยินเสียงสุภาพอ่อนหวานแบบนี้มาแล้ว ก้าวเข้าไปในศูนย์การค้าทีใด หัวใจแทบหยุดเต้น เพราะลูกๆ ในครอบครัว ผู้อยู่ในวัยตื่นตาตื่นใจกับแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ วีดิโอเกม แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ อดไม่ได้ที่จะต้องซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านี้ โดยมักปราศจากการยั้งคิด เผลอแป๊บเดียว ลมแทบใส่ผู้ปกครองในขณะชำระเงิน ก่อให้เกิดความแคลงใจขึ้นมา ว่า การยื่นเงินให้ลูกๆ แต่ละครั้ง นั้น สมควรแล้วหรือ
ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยยาวนานอย่างเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่สามของสิงหาคม 2553 ถึง 12,000 ราย รวมเป็น 500,000 ราย และยังมีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะถดถอยอีกภายในเวลาอีกไม่นานเกินรอ ผู้ปกครองน่าจะถือโอกาสทำการฝึกฝนลูกๆ ในบ้าน ให้ใช้เงินเป็น (หากยังไม่ได้ทำ) เพื่อจะได้ช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจการเงินในบ้านให้ยั่งยืนต่อไปได้นานที่สุด และจะได้มีภูมิคุ้มกันไม่ถูกเงินใช้เป็นทาสเมื่อเติบใหญ่
นางเอลิซาเบธ คอริช มารดาผู้สำเร็จปริญญาโททางการศึกษา มีประสบการณ์อยู่บ้านเลี้ยงดูบุตรตัวเองร่วม 12 ปี เคยเป็นครูชั้นอนุบาล และกำลังสอนชั้นประถมสามที่ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา มีคำแนะนำ 5 ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฝึกฝนเด็กๆ (อายุ 5 ปีถึง 18 ปี) ให้ใช้เงินเป็น ดังจะได้นำมาเสนอต่อไปนี้
ขั้นแรก ขอให้ผู้ปกครองเรียกประชุมลูกๆ ทั้งหลาย เพื่อพูดคุยกันในเรื่องการสะสม และการใช้จ่ายเงินทอง ในขั้นนี้ ผู้ปกครองมีหน้าที่แยกแยะให้ชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นต่อชีวิต อะไรคือสิ่งไม่จำเป็นต่อชีวิต หากลูกๆ อยู่ในวัย 11 ปี ถึง 14 ปีด้วยแล้ว การประชุมอาจยาวนานหน่อย แต่อย่าท้อถอย
ขอให้พยายามใช้เหตุผลแยกแยะออกมาว่า อะไรจำเป็น (ปัจจัยสี่) อะไรไม่จำเป็น (ของเล่นสนุกๆ ชั่วครั้งชั่วคราว แฟชั่นที่มาและไปตามสมัยนิยมชั่วครู่) และให้แบ่งจำนวนเงินสำหรับใช้จ่ายออกเป็นสองส่วน คือ จำเป็นและฟุ่มเฟือย หากได้พูดคุยกันในขณะที่ลูกๆ มีอายุยิ่งน้อย การฝึกฝนให้ใช้เงินเป็นก็จะยิ่งง่าย ฉะนั้น ควรเริ่มทำการฝึกฝนแต่เนิ่นๆ ในทำนอง "ไม้อ่อนดัดง่าย"
ขั้นสอง ขอให้เปิดบัญชีธนาคาร ประเภทสะสมทรัพย์ โดยมีชื่อผู้ปกครองและลูกหนึ่งคนเป็นเจ้าของบัญชีร่วมต่อเล่ม (หากยังไม่ได้ทำ) เม็ดเงินงวดแรกในบัญชีควรมาจากเงินที่ลูกมีเก็บไว้อยู่ก่อนแล้ว
ผู้ปกครองควรบอกกล่าวให้ชัดเจนว่า เม็ดเงินนี้จะมาจากหมวดใดบ้าง โดยอาจมาจากเงินสดของลูกเอง เงินที่ผู้ใหญ่ให้ลูกเป็นของขวัญ หรือเงินที่รวมกันจากหลายๆ หมวด ข้อสำคัญ ผู้ปกครองจะต้องย้ำให้ชัดเจนว่า ที่เปิดบัญชีไว้ก็เพื่อให้ลูกมีประสบการณ์ในการเก็บสะสมเงิน และดูแลเงินทองของลูกเอง
ขั้นสาม ขอให้แยกเงินได้ของลูกออกเป็นสองกลุ่ม คือ เงินที่ได้รับเป็นของขวัญ และเงินที่ได้รับจากการทำงานในบ้าน โดยบอกกล่าวให้เข้าใจชัดเจนว่า เงินของขวัญไม่จำเป็นต้องนำไปใช้จ่ายจนหมด คือ เก็บสะสมไว้ในบัญชีบ้าง ก็ได้ ส่วนเงินจากการทำงานก็เช่นกัน
ต่อไป ขอให้ทำรายชื่อชิ้นงานในบ้านที่ลูกๆ ช่วยทำแล้วไม่ได้ค่าตอบแทน (งานกิจวัตร) และให้ทำรายชื่อชิ้นงานพิเศษที่ทำแล้วได้ค่าตอบแทน (งานจร) ทั้งนี้ งานทั้งหมดจะต้องเหมาะสม และไม่เกินความสามารถตามอายุขัยของลูกๆ
ขั้นสี่ ขอให้ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแลบัญชีร่วมของลูกๆ ในขณะเดียวกัน สอนให้รู้จักบันทึกจำนวนเงินที่นำไปฝากไว้กับธนาคารแต่ละครั้ง ด้วยการจดไว้บนปฏิทินรายเดือน ให้ตรงกับวันฝาก หรือบันทึกลงในหน้าบัญชีแบบง่ายๆ ซึ่งมีช่องแสดงตัวเลขยอดคงเหลือของแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจมีแผนจูงใจให้ลูกๆ หมั่นฝากเงินเข้าบัญชี ด้วยการให้รางวัลเป็นเงินก้อนเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกเก็บสะสมเพิ่มเติมเข้าในบัญชีในเดือนหนึ่งๆ ได้ เมื่อได้รับรายงานยอดเงินคงเหลือจากธนาคาร ก็ให้ลูกอ่านดูว่า จำนวนเงินในบัญชีได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นเท่าไรแล้ว
ขั้นห้า เมื่อลูกต้องการซื้อสิ่งของจากรายการฟุ่มเฟือย ขอให้ผู้ปกครองสอบดูว่า ลูกมีเงินทั้งหมดอยู่ในบัญชีเท่าไร และตักเตือนว่า หากซื้อของฟุ่มเฟือยชิ้นนี้แล้ว เงินในบัญชีจะเหลืออยู่เท่าไร เพื่อว่าลูกจะได้มีโอกาสใช้ความคิดของตน ในการตัดสินใจเบิกใช้หรือไม่ใช้เงินตน เพื่อซื้อหรือไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยชิ้นนั้น
ทั้งนี้ เป็นการฝึกฝนลูกๆ ให้รู้จักใช้สติปัญญาและหลีกเลี่ยงการใช้เงินแบบไม่ได้ยั้งคิด จะได้เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ต่อไป ข้อสำคัญ ประสบการณ์นี้จะเป็นโอกาสให้ลูกๆ ได้ฝึกฝนตนในวัยที่ความผิดพลาดในการใช้เงิน จะยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายระดับมโหฬารเหมือนเมื่อเติบใหญ่
เห็นได้ว่า การฝึกฝนลูกๆ ให้เรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวกับการเงินแต่ยังเยาว์วัย โดยมีโอกาสได้ฝึกหัดตัดสินใจใช้เงิน ไม่ใช้เงิน หรือเก็บสะสมเงิน ด้วยตัวเอง จะส่งผลดีต่อลูกๆ เองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ดีกว่าเมื่อก่อนฝึก โดยเฉพาะรู้จักใช้ชีวิตให้อยู่ในกรอบของรายได้ นั่นคือ รู้จักใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ เป็นทักษะที่จะเป็นประโยชน์ติดตัวไปตลอดชีวิต
อย่างน้อย ลูกๆ จะเรียนรู้ว่า เงินทองไม่ได้งอกเงยตามใบไม้ใบหญ้า และตนไม่จำเป็นต้องมีวัตถุสิ่งของตามอย่างผู้อื่น คือ ตนควรมีความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้ปกครองที่ถูกเศรษฐกิจการเงินบีบรัด มีเท่าไรก็ไม่พอใช้สักที จะได้ไม่ต้องไปกระซิบที่ใบหูลูกๆ ก่อนนอนบ่อยๆ ว่า เมื่อเติบโตแล้ว เจ้าต้องออกไปหาเงินเข้าบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะโดยวิธีใดก็แล้วแต่ เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าคนอื่นเขาในเรื่องวัตถุเงินทอง ทั้งนี้ เป็นการชักนำลูกๆ ให้ก้าวสู่หนทางที่ผิดๆ สู่การเป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ยึดมั่นใน "ตัวกู ของกู" และมีแต่ "ความเห็นแก่ตัว" ซึ่งกำลังเผาบ้านเผาเมืองอยู่ทุกวันนี้
เมื่อผู้ใหญ่ใช้เงินเป็น สังคมจะเริ่มมีความสงบสุข และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเศรษฐกิจถดถอย ไม่มากก็น้อย
การปฏิรูปประเทศจึงน่าจะเริ่มที่พัฒนาผู้คนในสังคม มิใช่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแต่ถดถอยไม่สิ้นสุด อย่างคนสติ "ไม่เต็มบาท"


ที่มา http://www.facebook.com/people.khon?ref=stream

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น