++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

.ยาวหน่อยนะท่านสาธุชนคนใจบุญ อ่านเถอะ!!! เผื่อจะได้เป็นคนโดยสมบูรณ์...


.ยาวหน่อยนะท่านสาธุชนคนใจบุญ อ่านเถอะ!!! เผื่อจะได้เป็นคนโดยสมบูรณ์...

ศีลจัดเป็นพ่อแม่ของธรรมะ
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท(พระสุปฏิปันโณที่บรรลุธรรมอันวิเศษของพระพุทธเจ้า)

ในการสอนฆราวาส คงไม่มีเรื่องใดที่หลวงพ่อได้สอนมากเท่าเรื่องศีลธรรม ตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ท่านได้อบรมสั่งสอนญาติโยมที่วัดหนองป่าพง

ท่านพยายามนักหนาที่จะให้โยมเข้าใจและเห็นอานิสงส์ของศีล โดยแต่ละครั้งท่านอธิบายศีลของโยมอย่างพิถีพิถันและตั้งใจจริง ๆ ความสำคัญที่หลวงพ่อให้แก่ศีล จะเห็นได้จากคำพูดของท่านดังต่อไปนี้

"ถ้าหากว่าคนปราศจากศีลวันหนึ่ง ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์วันหนึ่ง ปราศจากศีลปีหนึ่ง ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์ปีหนึ่ง ถ้าเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้วเป็นคนสมบูรณ์พอคน มันพอคน ถ้าคนไม่พอคนมันก็ครึ่ง ๆ กลาง ๆ คนครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็คือคนไม่เต็มพื้นของคนน่ะแหละ ไม่เต็มคน เพราะว่าศีลนี้เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ อย่างน้อยก็เรียกว่า ถ้าโยมพ่อบ้านแม่บ้านมีศีลกันแล้วน่ะ ก็เป็นคนสมบูรณ์ ไม่ต้องทะเลาะกัน ถ้าศีลไม่มีแล้วเอาเหอะ ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องทะเลาะกัน หรือมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งจนได้แหละ เกิดเหตุขึ้นมาเมื่อไหร่นั้นแหละขาดศีลแล้ว คือคนไม่สมบูรณ์พูดไม่รู้เรื่องกันเลย ผู้หญิงก็พูดไม่รู้เรื่อง ผู้ชายก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ทะเลาะเบาะแว้งกันไปนั้นคือคนขาดจากศีล

ดังนั้นศีลนี้จึงเรียกว่าเป็นคุณสมบัติของคน ถ้าคนไม่มีศีลเท่าไหร่เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นคนพร่องจากคน ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ศีลจึงจัดเป็นพ่อแม่ของธรรมะ ธรรมะจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะศีลเป็นพ่อเป็นแม่ ธรรมะเศร้าหมองศีลก็เศร้าหมอง ศีลเศร้าหมองธรรมะก็เศร้าหมอง มันเป็นเสียอย่างนี้ ฉะนั้นจึงพูดอยู่สม่ำเสมอว่าให้โยมพากันรักษาศีล"

มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาราธนาและสมาทานศีลบ่อย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความคิดเลยที่จะเอาไปรักษา คือมองการขอศีลเป็นแค่พิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นเอง บางคนก็ถือว่าต้องรับศีลจากพระ จึงจะเป็นผู้มีศีลอย่างแท้จริง หลวงพ่อจึงต้องคอยอธิบายว่าศีลคืออะไร การสมาทานศีลคืออะไร และการรักษาศีลคืออะไรอยู่เป็นประจำ ให้ญาติโยมเกิดสัมมาทิฏฐิในเรื่องของศีล และรับอานิสงส์ของศีลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย "จะไปไหนก็สมาทานศีลอยู่เรื่อย อาตมาไปที่ไหน ๆ บางครั้งก็รำคาญ ถ้าโยมมากราบก็พูดว่า มะยังภันเตฯ เลยทีเดียว ไม่รู้เรื่องอะไร บางครั้งอาตมารู้สึกเพลียใจ โดยเฉพาะการทำบุญมหาชาติกันนั้น ชอบแห่แหนกันมา แล้วก็มารับศีลกับพระ แต่ก็เมาเหล้าเซมาทีเดียว แล้วก็มารับศีล อาตมาขี้เกียจเล่นกับพวกนี้แล้วนะนี่ มันมองไม่เห็นทิศเห็นทางกันเลย ไม่เห็นที่จะได้จะดี แล้วก็อยู่กันอย่างนั้นเอง อาตมาเคยหนีไปอยู่ป่าเลยสบาย ไม่มีใครไปอาราธนา มันก็เลยสบาย ไม่มีใครไปหยอกไปล้อเล่น หยอกล้อเล่นหัว ขอแต่ศีบแล้วเอาไปทิ้งทุกที พรุ่งนี้ก็มาขอ มะรืนก็มาขอ คิดไปคิดมาก็เหมือนว่า เราเป็นลิงให้เขามาหลอกล้อเล่นไม่หยุด ไม่จบสักที อาตมาเลยหนีไปเสีย"

ท่านอธิบายว่า ที่แท้ศีลไม่ได้อยู่นอกตัวเรา แต่อยู่ที่เจตนาที่จะงดเว้นจากความชั่ว

"ญาติโยมไม่รู้จักศีล ก็นึกว่าศีลอยู่ในพระ พระจะมีศีลอะไรให้เราล่ะ ท่านก็อยู่ของท่าน ให้เข้าใจว่า ศีลมันอยู่ทุกทิศทุกทาง เมื่อเราตั้งใจรักษา มันก็เป็นศีลขึ้นเดี๋ยวนี้ เจตนาเป็นศีลขึ้นเดี๋ยวนี้ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ ให้เข้าใจเสียอย่างนั้น อย่างนี้เราจะมีปัญญากว้างขวาง ไม่จำเป็นที่เราจะไปสมาทานศีลกับพระ นี่ผู้รู้แล้วจะต้องง่าย การประพฤติก็ง่ายขึ้น การปฏิบัติก็ง่ายขึ้น ถ้าเรารู้จักแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักก็ลำบากหลาย

ศีลเราจะเอาเมื่อไร เอาเมื่อเรายังไม่ตาย อาตมาสงสาร เคยเห็นคนหนึ่งพ่อตายเอาใส่หีบ แล้วนิมนต์พระให้มาติกา คนเป็นก็อาราธนาศีลขึ้น ลูกชายก็ไปเคาะโลงกุก ๆ พ่อรับศีลเน้อ ก็ไปบอกคนตายนี่ ใครจะมารับศีล เราอย่าไปโง่ถึงขนาดนั้น อย่าไปงมงายถึงขนาดนั้น ที่เราทำบุญนั้น ก็เป็นการสนองคุณพ่อแม่ พ่อแม่เลี้ยงเรามา เป็นผู้อุปการะเรา เรามานึกถึงพระคุณของท่าน กตเวทีต่อท่าน จึงเกิดการกระทำบุญขึ้นมา แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้นถึงพ่อแม่ผู้มีอุปการะเรา นี่ท่านเรียกว่า บุคคลหาได้ยาก ควรทำเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่"

แล้วท่านก็สอนญาติโยมที่เข้าวัดประจำ ให้เข้าใจความหมายของการรักษาศีลที่แท้จริง

"การที่เราจะรักษาศีลนั้นมี ๓ ประการ หนึ่งเราจะขอสมาทานกับพระภิกษุ เป็นสมาทานวิรัติ สัมปัตตวิรัติคือเรางดเว้นด้วยตนเอง ถ้าเรารู้ว่าปาณา อทินนา กาเม มุสา สุรา ตลอดไปถึงอุโบสถศีล เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ละเอง ไม่ต้องไปสมาทานกับใคร อันนี้เป็นศีลประการที่สอง ประการที่สามเป็นสมุจเฉทวิรัติ เป็นศีลของพระอริยเจ้า เป็นศีลที่เรียกว่ากำหนดละเลย ตั้งไว้ในใจเด็ดขาด ไม่ต้องสมาทานกับใคร อันนี้เป็นศีลของพระอริยเจ้า สมุนเฉทตัดขาดเลย เป็นผู้มีสติคุ้มครองอยู่เสมอ ดูแลอยู่ด้วยตนเองตลอดกาลตลอดเวลา ศีลมีทางที่จะเกิดขึ้นได้อย่างนี้ คือ

สัมปัตตวิรัติ สมาทานวิรัติ สมุจเฉทวิรัติ สมาทานวิรัติก็คือว่าตามพระไป สัมปัตติวิรัติคืองดเว้นด้วยตนเอง ไม่ต้องสมาทานกับใคร คือเรารู้แล้วว่าสัตว์นี่ไม่ควรฆ่า เราก็ไม่ยอมฆ่ามันไม่เบียดเบียนมัน ไม่ต้องไปถามใครล่ะ รู้แล้วไม่ต้องทำ สมุจเฉทวิรัติขึ้นชื่อว่าบาปแล้ว ฉันเลิกเลย เลิกตลอดชีวิตไปเลย ขึ้นชื่อว่ามันเป็นบาปเป็นกรรม ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว ฉันเลิกแต่วันนี้เรียบร้อย นี่เรียกว่าสมุจเฉทวิรัติ ตัดขาดไปเลย

ทีนี้ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นพื้นฐานของพระนิพพานทั้งนั้น สมาทานวิรัติก็เป็นพื้นฐานของพระนิพพานได้ สัมปัตตวิรัติก็เป็นพื้นฐานของพระนิพพานได้ สมุจเฉทวิรัติก็เป็นพื้นฐานของพระนิพพานได้ อันนี้อุบาสกอุบาสิกาเราทั้งหลายบางทีก็ข้องใจ ศีลนี้ก็คิดว่าจะไปเรียนกับพระอยู่ทุกเวลา ใครอยากจะได้ศีลก็ไปอาราธนา มะยังภันเต ติสะระเณนะสหะ ปัญจะสีลานิยาจามะ คิดว่าอย่างนี้จึงจะได้ศีล ถึงจะเป็นศีล นอกจากนี้ไป ไม่มีพระไม่รู้จะไปรับศีลที่ไหน ถ้าอย่างนี้มันจนตาย จนเพราะความโง่ของเรานี้เอง

เมื่อรู้จักว่ากินสุรานี้มันบาป เราก็เลิกเท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปถามใคร เรารู้แล้วมันก็ไม่เมา เหมือนมันก็เป็นศีลอันบริสุทธิ์อยู่แล้ว ศีลเดิมมันเป็นอย่างนี้ จะไปสมาทานกับคนอื่นนั้นก็เรียกว่าเรายังไม่รู้จักศีล ท่านก็บอกไป ท่านว่าไปก่อน เรียกว่าประกาศศีล ขณะนั้นเราก็ยังไม่รู้เลย

ศีลนี้ถ้าพูดรวมแล้วมันเป็นพื้นฐานของธรรมะ ธรรมะเกิดขึ้นได้เพราะคนมีศีล คนรักษาศีลคือคนบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด ฉะนั้นบรรดาเราท่านทั้งหลายนั้นจึงพากันสมาทานศีล ความเป็นจริงสมาทานศีลนั้นเมื่อไรก็ได้"

แล้วหลวงพ่อสรุปเรื่องการรักษาศีลอย่างขำ ๆ ว่า

"เมื่อเราเพ่งความหมายแล้ว ศีลน่ะ เห็นจะโง่กว่าเราเสียละกระมัง ถึงต้องไปรักษาศีล คงจะไม่ดีขนาดเรา เราถึงไปรักษาศีล ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้ว ศีลน่ะไม่ต้องไปรักษาท่านหรอก ท่านดีแล้ว มารักษาตัวเรานี้เอง รักษากาย วาจา ใจของเรานี้ให้ได้ ศีลก็เกิดขึ้นมา เราไม่ต้องไปรักษาศีล แต่รักษาตัวของเรานี้ คำพูดอันนี้มันสูงเกินตัวไปแล้วกระมังว่า เราไปรักษาศีล"

สำหรับรายละเอียดในวิธีการสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน และเหตุผลที่หลวงพ่อชี้แจงแก่ญาติโยม ในการชักชวนให้เลิกละในสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายนั้น จะทราบได้จากคำบอกเล่าของพ่ออกแม่ออกที่เคยจำศีลกับหลวงพ่อหลายปี

"หลวงพ่อท่านสอนว่า การรับศีลก็ไม่ควรมารับเอาบ่อย ๆ ที่ให้ศีลทุกวัน ๆ ก็ให้เฉพาะคนใหม่เท่านั้น คนเก่าเข้าใจอยู่แล้วก็รักษาเอาได้เลย ถึงวันพระ ก็ตั้งใจเอาเลยว่าจะรักษาของเก่าอย่าให้พระต้องลำบากมาให้ศีลข้อเก่า ๆ อยู่บ่อย ๆ อย่างสามข้อหลังก็เป็นของใหม่ก็ต้องรักษาเพิ่มขึ้น แต่ห้าข้อของเก่าติดตัว ต้องให้ได้ทุกคน ใครยังรักษาไม่ได้ก็ต้องพยายามทำให้ได้ ใครผิดศีลข้อไหนก็ให้หยิบลูกหินมาลูกหนึ่ง ทุกครั้งที่ผิดศีลให้หยิบมารวม ๆ กันไว้อย่างนี้ จึงจะเรียกว่าภาวนากลับบ้านก็ดูตัวเอง ผิดศีลข้อไหนก็หยิบหินทันที กว่าจะออกพรรษาดูซิจะได้กี่ลูก ผิดไปกี่ครั้ง แล้วจึงไปขอคารวะท่าน ท่านจะยกโทษให้ ในฐานะที่พวกเรายังอยู่ในฆราวาสวิสัย ก็พยายามรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เพราะถ้าเรามีศีลก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข ครอบครัวก็จะไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวาย แม้กับเพื่อนบ้านจะมีความสามัคคีปรองดองกันฉันญาติมิตร ไม่ทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน ให้เป็นคนมีสัตย์ มีศีล ถ้ารักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เรามีศีลแล้วทรัพย์สมบัติก็จะเกิดมีตามมา ถ้าศีลเราขาดด่างพร้อยไม่สมบูรณ์แล้ว ทรัพย์สมบัติก็จะร่อยหรอหมดไป เพราะถ้ามีสัตย์มีศีลแล้วก็มีทรัพย์มาด้วยกัน ท่านเปรียบเทียบให้ฟังว่า เรามีปัญญาไม่ฆ่าสัตว์ แต่เราก็กินเหมือนกัน เช่น ปลาหนึ่งกิโลราคาก็ไม่กี่บาท เราเป็นคนขยัน ทำนา ทำสวน ปลูกข้าว ปลูกพริก มะเขือขาย วันหนึ่ง ๆ ก็คงได้หลายบาท เราก็ไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราต้องการได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทอดแหหาปลา ทั้งเสียเวลาทำการงานอย่างอื่น ทั้งเป็นการสร้างบาปกรรมให้กับตัวเองอีกด้วย ตรงนี้แหละญาติโยมยอมรับเหตุผลของท่านว่าดี ควรที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่ก่อนญาติโยมไม่รู้จักทำไร่ทำสวนกันนักหรอก แต่พอหลวงพ่อมาสร้างวัดนี่แหละ ท่านได้อบรมสั่งสอนให้รู้จักปลูกผักทำไร่ทำสวน ญาติโยมจึงตื่นตัวกัน เป็นคนขยันรู้จักพัฒนาภายนอก ทั้งพัฒนาภายในจิตใจกันทุกคน ก็ปรากฏว่าดีขึ้นมาก ไม่ลำบากยากแค้นจนเกินไป บางคนก็ยังรักษาศีล ๕ มาตลอด ซึ่งก็มีความสุขไม่เดือดร้อน รู้สึกว่ามีประโยชน์มากจริง ๆ"

อีกโอกาสหนึ่งหลวงพ่อได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับอานิสงส์ของศีลว่า

"ศีลนี้คือสัตย์ จะว่าศีลก็ได้จะว่าสัตย์ก็ได้ ให้มันขาดออกจากความชั่วทั้งหลาย ศีลนี้แปลว่าหิน มันเป็นของหนักไม่ใช่ของเบา ทิ้งลงน้ำก็จมดิ่งลงไป เป็นของหนักแน่น ถ้าเรามีศีลคือเราไม่มีโทษทางกาย ไม่มีโทษทางวาจา ไม่มีโทษทางใจ เราก็พูดได้ถนัดเลย พูดตรงไปตรงมาเลยไม่กลัวเกรง เป็นผู้อาจหาญกล้าพูดกล้าทำในทางที่มันถูก ไม่เกรงไม่หวาดกลัวใครทั้งนั้นแหละ นี่เรียกว่าศีลเป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน หรือเมื่อจะตายก็องอาจ เราไม่ทำความชั่ว เมื่อเราทำแล้วก็ละแล้ว ก็เลิกแล้วก็ไม่มีอะไร ใจเราก็สบาย องอาจรู้จักอันตรายทั้งหลายแล้ว เพราะว่าโทษอะไรเราไม่มี มันข้ามอันตรายทั้งหลายนี้

เมื่อหากว่ากาย หรือวาจาของเราไม่มีโทษแล้วใจเราก็เย็น เย็นลง ทำสมาธิก็เกิดง่าย จิตจะเป็นบุญ จิตจะเป็นกุศล เพราะไม่มีเรื่องราวอะไรต่าง ๆ เป็นต้น นั่นเรียกว่ามันเป็นไวพจน์ของสมาธิ สมาธิมันจะเกิดขึ้น สมาธิคือความตั้งใจมั่น เมื่อความตั้งใจมั่นมีขึ้น มันก็เป็นไวพจน์ให้เกิดปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอดอะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้น รู้จักเหตุผล รู้จักถูกเป็นถูก รู้จักผิดเป็นผิด อันนี้ก็เหมือนกัน ที่คนไม่มีปัญญานะ คือว่าเทศน์หนังสือ ที่ไม่มีตำรายกขึ้นมาก็เรียกว่าผิดนี่คือหมดปัญญา มีแต่ว่าปัญญาทราม ไม่ใช่ปัญญามันดี การประพฤติปฏิบัติของเราทั้งหมดนั้นก็เรียกว่าศีล เรียกว่าสมาธิ เรียกว่าปัญญา อยู่ตรงนี้

ฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายรู้แล้วเมื่อไร จะเป็นวันพระหรือไม่เป็นวันพระก็ตาม อยู่ในบ้านเราวันนี้หรือขณะนี้ ฉันเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นของที่ควรขโมยฉันไม่เอา เลิก เท่านี้ก็เป็นศีลขึ้นมาแล้ว สัตว์ควรฆ่ามัน ฉันไม่เอาละ เลิก เห็นเหล้าสิ่งที่มันเมาผิดศีล ผมจะไม่กินแล้ว เลิก นี่มันก็เป็นศีลขึ้นเดี๋ยวนี้ มันมีเหง้าอยู่อย่างนั้น ศีลในที่นี้เป็นสัมปัตตวิรัต"

ถึงแม้หลวงพ่อได้พรรณนาอานิสงส์ของศีลจนญาติโยมเห็นคล้อยตาม แต่บางคนที่อินทรีย์ยังอ่อน เมื่อลองรักษาศีลดูแล้ว พอมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็หวั่นไหวอยากเลิกรักษา อย่างเรื่องที่หลวงพ่อเล่าถึงตาแก่คนหนึ่ง เรียนหนังสือ ท่องเก่ง จำเก่ง สวดก็เก่ง แต่ไม่รู้จักพระรัตนตรัย ยังไม่ได้ศีลห้า ศีลแปด หลวงพ่อให้แกมาประกาศตัวเป็นอุบาสกรับศีลห้าแกก็มา กลับบ้านเอาศีลไปรักษาสามวันก็วิ่งแจ้นกลับมาหาหลวงพ่อ หน้าตาไม่สบาย หลวงพ่อก็ถามว่า

"มาทำไมพ่อออก?"

"โอย! ไม่สบายเลยครับได้สองสามวันแล้ว ตั้งแต่มาถึงพระรัตนตรัย มาถือศีลห้าไม่สบายเลย เมียก็บ่นว่าไม่รู้เอากะท่านมาทำไม ทำยังไงจะมีอยู่มีกินล่ะทีนี้ ข้าน้อยก็เลยจะเอามาคืน"

หลวงพ่อก็นึกขำ "โอ๊! ได้ยินแต่ครั้งพุทธกาล มีคนเอาศีลไปคืนพระพุทธเจ้า นึกว่าท่านเล่าเป็นนิทานเฉย ๆ มาเจอกับตัวเองจริง ๆ เอามาส่งไม่ได้หรอก ศีลนี้ไม่ใช่ศีลของอาตมา ศีลของพระพุทธเจ้า เอาไปส่งกับเจ้าของท่านไป๊" แล้วหลวงพ่อก็ได้ปลอบใจตาแก่นั้นว่า

"ไม่รับคืนหรอก เอาอีกเสียก่อน รักษาศีลห้าไปก่อน ถึงพระรัตนตรัย อย่าไปถือภูต ผี ปีศาจ ฤกษ์ดียามดี ให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต"

แกก็กลับบ้านไปพิจารณาใหม่ หลวงพ่อบอกว่าคราวนี้หายไปนานไม่เห็นแก่กลับมาหาอีก จนกระทั่ง ๓ ปีให้หลังไปเจอแกอีกที หลวงพ่อก็ถามว่า

"เป็นยังไงพ่อออก หายสงสัยหรือยัง?"

"หายแล้วครับ" ตาแก่ตอบยิ้ม ๆ "ไม่ได้สงสัยอะไรอีกแล้ว สบาย ใครจะพูดอะไร ใครจะว่าอะไร ไม่ได้สงสัยอีกเลย สบาย"

"เออ! เป็นคนแล้วละทีนี้" หลวงพ่อชม

1 ความคิดเห็น: