++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

"เหตุผลที่คนควรหยุดงาน" โดย นิ้วกลม


"เหตุผลที่คนควรหยุดงาน"
โดย นิ้วกลม

1 เคยคิดเล่นๆ ว่า พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ ควรใช้เวลาทำงานแค่หนึ่งอึดของแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก

...
หมายความว่า ตอนเช้าชาร์จแบตให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วดึงปลั๊กออก หลังจากนั้น ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปจนกว่าแบตจะหมด พอแบตหมดปุ๊บก็เลิกทำ เก็บโน้ตบุ๊ก โบกมือบ๊ายบายเพื่อนร่วมออฟฟิศ ยักคิ้วให้สักสองขยัก แล้วก็กลับบ้านไปพักผ่อนนอนเล่น หรือประกอบกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่งาน

ผมลองทำแบบนั้นดูแล้ว โน้ตบุ๊กของผมมีอายุขัยถึงประมาณบ่ายสามโมง

โดยเริ่มลืมตาดูโลกตอนประมาณสิบเอ็ดโมง
ช่วงเวลากำลังดีสำหรับพนักงาน
แต่คงสั้นไปมากสำหรับเจ้านาย

ก็แค่สงสัยว่า ทำไมเวลาโน้ตบุ๊ก "แบตหมด" เรายังชาร์จแบตให้มัน แล้วตอนตัวเราเอง "แบตหมด" เราควรจะชาร์จแบตบ้างไหม?
คุณสเตฟาน แซกมายสเตอร์ อาจมีคำตอบ

2 คุณสเตฟานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังจากนิวยอร์ก มีผลงานออกแบบอันเป็นที่ฮือฮามากมายหลายชิ้น ปกซีดีของศิลปินดังๆ หลายต่อหลายปก

แกตั้งเป้าหมายของวิชาชีพเอาไว้ว่า อยากออกแบบกราฟิกดีไซน์ที่จับใจคน (graphic design that touches people"s heart)

ถึงขั้นเขียนเอาไว้ในรายการสิ่งที่ต้องทำก่อนตาย ซึ่งจะว่าไปเขาอาจจะทำสำเร็จไปหลายชิ้นแล้ว
วิธีการคิดงานและวิธีการทำงานของคุณสเตฟานจึงน่าสนใจ
ที่มาของงานดีไซน์ที่ไปจิ้มหัวใจคนดูได้มันเกิดจากอะไรกันนะ

คุณสเตฟานแอบมาเผยเคล็ดลับการทำงาน (รวมถึงเคล็ดลับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข) ให้ชาวโลกฟังแบบเบาๆ บนเวที TED และผมแอบเข้าไปฟังเขาพูดในเว็บ www.ted.com

เขาเล่าให้ฟังว่า สตูดิโอออกแบบในนิวยอร์กหรือบริษัทของเขานั้นมีตารางการทำงานประหลาดๆ อย่างหนึ่ง (เขาไม่ได้พูดว่ามันประหลาดหรอกครับ แต่ผมคิดว่ามันประหลาดดี) คือ ทุกๆ เจ็ดปี เขาจะปิดบริษัทหนึ่งปี

ไม่ได้อ่านผิดหรอกครับ หนึ่งปี ไม่ใช่หนึ่งสัปดาห์เหมือนที่เราหยุดกันตอนปีใหม่หรือสงกรานต์

เพื่อให้พนักงานทุกคนในบริษัทออกไปค้นหาและทำการทดลองอะไรบางอย่างที่ทำไม่ได้ในช่วงเวลาที่ยุ่งกับการงานประจำ

ในปีนั้น บริษัทเขาจะไม่รับงานใดๆ ไม่ว่าลูกค้ารายเล็กหรือใหญ่ก็ไม่สน

เขาบอกว่า ในปีนั้นเป็นปีที่มีความสุขและเต็มไปด้วยพลัง

ซึ่งผมเดาว่า มันคงจะเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจด้วยเป็นแน่แท้

3 "ผมเปิดสตูดิโอนี้ขึ้นมาเพื่อจับสองสิ่งที่ผมรักมาผสมผสานกัน นั่นคือ ดนตรีและการออกแบบ" คุณสเตฟานบอกเหตุผลเบื้องหลังจากเปิดบริษัท

แล้วเขาก็ได้ทำในสิ่งที่รักนั้น ได้ออกแบบปกซีดีมากมายของทั้งวงดังมากและดังไม่มาก แต่แล้วเขาก็ค้นพบว่า งานดีไซน์ก็คล้ายๆ กับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เขารัก เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็รู้สึกเบื่อ

เบื่อกับสิ่งที่เคยรัก
งานออกแบบที่เคยน่าตื่นเต้นกลายเป็นความซ้ำซาก
มิใช่แค่ในความรู้สึก แต่มันยังแสดงออกมาทางผลงานเลยด้วย

เขาโชว์สมุดบันทึกที่มีการเจาะรูแล้วใส่ลูกตาลงไป ซึ่งก็ดูเป็นลูกเล่นที่แปลกใหม่ แต่มันก็เริ่มซ้ำกับงานชิ้นที่ออกมาหลังจากนั้น คือกล่องใส่น้ำหอมที่ทำเป็นหนังสือแล้วเจาะรูเพื่อใส่ขวดน้ำหอมลงไป

เทคนิคเดียวกัน ลูกเล่นเดียวกัน
งานออกแบบเริ่มวนเวียน ซ้ำซาก ซึ่งอาจจะมาจากความรู้สึกซ้ำซากของคนทำงาน
เมื่อเริ่มรู้สึกว่าซ้ำ เขาจึงตัดสินใจปิดบริษัทไปหนึ่งปีเต็ม
ว่าแล้วเขาก็แสดง "เส้นชีวิต" ของมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ให้ดู
เป็น "เส้นชีวิต" ที่ชวนให้คิดตามและคล้อยตาม

4 เขาแบ่งช่วงเวลาในชีวิตของมนุษย์เราออกเป็นสามส่วน

หนึ่ง, เราใช้ยี่สิบห้าปีแรกไปกับการเรียนรู้

สอง, อีกสี่สิบปีต่อมา เราใช้ไปกับการทำงาน

สาม, สิบห้าปีสุดท้าย เราใช้ไปกับการพักผ่อนหลังเกษียณ

คำถามคือ ทำไมต้องรอไปเกษียณตอนอายุหกสิบกว่าปีด้วยล่ะ?

ทำไมเราไม่หาเวลาพักผ่อนบ้าง ระหว่างช่วงวัยที่กำลังทำงานหนัก?

คุณสเตฟานจึงแนะนำแบบนี้ครับ

เขาลองเฉือนห้าปีจากสิบห้าปีในช่วงเวลาเกษียณออกมา แล้วเอามาเฉลี่ยให้กับสี่สิบปีแห่งช่วงเวลาทำงาน

แทนที่จะทำงานงกๆ (งกเงิน+งกตำแหน่ง) ยาวต่อเนื่องสี่สิบปี ก็กลายเป็นว่า ทำเจ็ดปีแล้วหยุดหนึ่งปีแทน

เจ็ดหยุดหนึ่ง
ห้ารอบก็ครบสี่สิบปีพอดี
แต่แบบนี้มีพักชาร์จพลัง
แหม ก็ทีคอมพิวเตอร์ยังมีชาร์จแบตเลย

ไม่เพียงได้พักผ่อนยาวๆ หลังจากทำงานหนักมาเจ็ดปีเท่านั้น แต่คุณสเตฟานยืนยันว่า ผลงานหลังการพักผ่อนเป็นเวลาหนึ่งปีนั้น ใหม่ สด และมีคุณภาพที่ดีขึ้นมาก

เขาถึงขั้นบอกว่า ผลงานตลอดเจ็ดปีหลังหนึ่งปีที่ได้หยุดยาวล้วนได้ไอเดียมาจากช่วงเวลาที่หยุดยาวไปเกือบทั้งสิ้น

5 คุณโจนาทาน ไฮดท์ ที่เคยมาพูดบนเวที TED เคยแบ่งลักษณะของการงานออกเป็นสามระดับ

หนึ่ง, Job คือ การทำงานเพื่อเงินเท่านั้น

สอง, Career คือ การทำงานที่เริ่มมีแรงจูงใจมากขึ้น เริ่มคาดหวังการเลื่อนขั้น แต่ก็ยังมีบางช่วงที่รู้สึกว่า โอย งานหนักจัง คุ้มที่จะทำไหมนี่

และระดับสูงสุด, Calling คือ การทำงานที่เราเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกับงานนั้นอย่างกลมกลืน เป็นธรรมชาติ ทำงานอย่างมีความสุข

6 พอตัดสินใจหยุดงานหนึ่งปี คุณสเตฟานเลือกไปพักร้อนที่บาหลี

เขาได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ มากมายมาใช้ในงานดีไซน์ของเขา

หมาจรจัดที่บาหลี กลายมาเป็นลายเสื้อเท่ๆ เก้าอี้หวายกลายมาเป็นต้นตอในการดีไซน์เก้าอี้ที่เต็มไปด้วยคำพูด ฯลฯ

เชฟที่ดีที่สุดในโลกก็ใช้นโยบายเดียวกับเขา ร้านอาหารของเขาเปิดแค่ปีละเจ็ดเดือน อีกห้าเดือนปิดเพื่อทดลองทำรายการอาหารใหม่ๆ ที่สำคัญ มีคนเข้าคิวจองที่นั่งในร้านอาหารของเขานับล้านคน

บริษัทคุณสเตฟานให้เวลาพนักงานของเขามีเวลาส่วนตัวถึง 12.5%

บริษัท 3M ให้เวลาวิศวกรในบริษัททำอะไรก็ได้ตามใจถึง 15% และไอเดียเจ๋งๆ อย่างสก๊อตช์เทปก็ผุดขึ้นมาในช่วงเวลา "ทำอะไรก็ได้" นี้เอง

บริษัทกูเกิ้ลให้เวลาวิศวกรซอฟต์แวร์ถึง 20% เพื่อทำโปรเจ็กต์ส่วนตัว

การหยุดพักจากการงานที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี นอกจากจะทำให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลายแล้ว มันยังเปิดโอกาสให้สมองมีที่ว่างสำหรับการผุดขึ้นของไอเดียใหม่ๆ อีกด้วย

"เวลาว่าง" จึงมิได้ "ว่างเปล่า"
ทว่า มัน "ว่าง" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ความคิดใหม่ๆ ได้ก่อเกิดขึ้น
หากไม่มีเวลา "ว่าง" เลย เราก็จะวนเวียนอยู่กับความคิดเก่าๆ อยู่อย่างนั้น

7 มิเพียงรู้สึกมีความสุขตอนที่ได้หยุดพักไปหนึ่งปี มีอีกหนึ่งความสุขเกิดขึ้นตอนที่คุณสเตฟานกลับมาทำงานอีกครั้ง

"งานของผมกลับมาอยู่ในสถานะ Calling อีกครั้ง"

ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาทำงานไปวันๆ เพื่อรอเงินเดือน ไม่ใช่การก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อรอเลื่อนตำแหน่ง แต่เป็นการทำงานอย่างมีความสุข ทำเพราะอยากทำ กระตือรือร้นที่จะทำ

ทำด้วยความรัก-อีกครั้ง
ไอเดียใหม่ๆ หลั่งไหลออกมามากมาย เขากลับไปตื่นเต้นกับการดีไซน์อีกครั้ง

ก็เหมือนกับคนรัก บางครั้งห่างกันบ้างก็ดี จะได้ตื่นเต้นเมื่อกลับมาจู๋จี๋กันอีกหน

8 เขียนมาถึงตรงนี้ แบตคอมพิวเตอร์ของผมใกล้จะหมดเต็มที แบตเตอรี่ของผมก็เช่นกัน ผมกำลังวางแผนกับตัวเองในใจ ถ้าเราจัดจังหวะชีวิตของเราได้จริงๆ เราจะหยุดกี่เดือนในหนึ่งปี หรือหนึ่งปีในกี่ปีดีนะ ซึ่งการจัดสรรเวลาแบบนี้น่าจะเป็นการแบ่งเวลาที่ดีกว่าการก้มหน้าก้มตาทำงาน ด้วยความทรมานจนเบื่อการงานที่เคยรักแล้วรอไปหยุดยาวตอนแก่

นี่น่าจะเป็นวิธีที่ดีในการใช้สอยวันเวลาในชีวิตอันแสนสั้น

ชีวิตที่มีความสุขทั้งตอนหยุดพัก และตอนกลับมาทำงาน
นั่นมิใช่ชีวิตที่เราต้องการกันหรอกหรือ?

(จากคอลัมน์ในมติชนครับ)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 เมษายน 2556 เวลา 11:53

    เห็นด้วยกับความคิดแต่อาจทำไม่ได้ในความเป็นจริง เพราะบางคนเวลาว่างสมองก็ว่างไปด้วย

    ตอบลบ