++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

7 อุปนิสัยของผู้ห่างไกลความสำเร็จ (ในการหางาน)


7 อุปนิสัยของผู้ห่างไกลความสำเร็จ (ในการหางาน)

1. ไม่ตรวจสอบรายละเอียดตำแหน่งงานหรือลักษณะงาน คำถามที่อาจทำให้ HR ถึงกับอึ้งในห้องสัมภาษณ์ เช่น วันนี้ให้หนูมาสัมภาษณ์ตำแหน่งอะไร? หรือ ตำแหน่งงานแบบนี้จะเหมาะกับหนูหรือคะ? ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้องที่เข้ามารับการสัมภาษณ์นั้นขาดการเตรียมตัว หรือไม่ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะงานที่จะมาสัมภาษณ์มาก่อนเลย แนวทางที่เหมาะสม คือ การสอบถามจากผู้ที่นัดสัมภาษณ์เบื้องต้น จากนั้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งทางออนไลน์ เพื่อน รุ่นพี่ ฯลฯ ประกอบ เพื่อตัดสินใจในการเข้ารับการสัมภาษณ์ (ถ้าคิดว่าไม่ใช่งานที่กำลังมองหา หรือมีเงื่อนไขไม่เป็นที่ถูกใจ ก็ควรใช้วิธีการปฏิเสธแบบสุภาพ)

2. ช่างต่อรองน้องๆหลายคนเพิ่งจบการศึกษา ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน แต่มักจะมีข้อต่อรองที่ HR ได้ยินแล้วก็ชวนให้หนักใจกับน้องไปตามๆกัน เช่น ขออัตราเงินเดือนที่สูงเป็นพิเศษ เกินกว่าระดับเพดานขององค์กรที่ตั้งไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถและประสบการณ์การทำงานที่มีมา บางคนต่อรองไปถึงเรื่องสวัสดิการ รวมถึงเวลาเข้างานกันเลยทีเดียว จึงอยากฝากไว้สักนิดว่าการมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเร็วเกินไป ในการสัมภาษณ์อาจจะดูไม่เหมาะสมนักในสายตาของกรรมการ ทางที่ดีควรให้ทางผู้สัมภาษณ์เป็นผู้เริ่มต้นก่อน นั่นหมายความถึงเขาเริ่มสนใจในตัวคุณ ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงท้ายๆของการคุยกัน

3. ไม่มาตามนัด ไม่โทรแจ้ง ไม่รับสายน้องๆหลายคน มักจะตอบรับเวลาถูกเรียกมาสัมภาษณ์ เพื่อเป็นตัวเลือก แต่พอถึงเวลาจริงแล้วไม่มา ไม่มีการโทรแจ้ง บางที HR ติดต่อกลับไป ก็ไม่รับสาย หรือรับแต่กลับไม่พูดแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน สัญญาณขัดข้อง ฯลฯ ซึ่งที่ถูกต้องแล้ว การที่เรารับนัดใคร แล้วติดเหตุฉุกเฉินจำเป็น ไม่สามารถไปตามนัดได้ สิ่งที่ควรทำที่สุด คือ แจ้งล่วงหน้าให้ผู้ที่ติดต่อเรามารับทราบ เพราะในการนัดหมายผู้สมัครแต่ละครั้งนั้น อาจมีคณะกรรมการรอสัมภาษณ์อยู่หลายท่าน ซึ่งไปกระทบกับตารางเวลานัดหมายของกรรมการแต่ละท่านด้วย ถือเป็นเรื่องที่สร้างความไม่สะดวกในการบริหารจัดการไม่น้อยเลยทีเดียว

4. มาสายกว่าเวลานัดหลายคนเมื่อได้รับทราบเวลานัดหมายแล้ว เกิดความชะล่าใจ หรือขาดการวางแผนที่ดี ทำให้ไปถึงสถานที่ไม่ตรงตามเวลานัดหมาย การไปถึงที่นัดหมายช้ากว่าเวลานี้ แน่นอนว่าดีกว่าไม่ไปเลย แต่ก็ไม่ดีแน่ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครท่านอื่น เนื่องจากเวลาของทุกๆคนเป็นของมีค่า บางครั้งการนัดหมายนั้น คุณต้องไปพบกับกรรมการคัดเลือกหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่าน ก็จะมีตารางเวลาทำงานที่ค่อนข้างรัดตัว อีกทั้งในวันนั้นอาจมีผู้สมัครอีกหลายท่านที่ต้องเข้ารับการสัมภาษณ์ต่อจากคุณ การที่คุณไปไม่ตรงเวลาย่อมกระทบกับตารางเวลาทำงานของท่านเหล่านั้นด้วย อาจต้องมีการสลับตารางกัน เกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น ระยะเวลาจึงอาจต้องยืดเยื้อออกไป สร้างความไม่สะดวกในการบริหารจัดการ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับตัวคุณ อาจถูกมองไปถึงอนาคตเวลาที่จะมาทำงานจริง ทางที่ดีคุณควรมีการวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า ไปถึงสถานที่ก่อนเวลานัดหมายอย่างน้อย คือ 15-30 นาที เพื่อการเตรียมตัว

5. แต่งกายไม่เหมาะสม ด้วยอิทธิพลของสื่อต่างๆ และวัฒนธรรมการแต่งกายที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ทำให้เกิดรูปแบบการแต่งกายที่แตกต่างไปจากอดีตมาก แต่หลายๆรูปแบบถูกมองว่าขาดความเหมาะสมกับการมาสัมภาษณ์งาน เช่น ผู้หญิงแต่งกายไม่มิดชิด เน้นสัดส่วน หรือนุ่งกระโปรงสั้น เครื่องประดับแวววาว ห้อยระย้า ใส่น้ำหอมกลิ่นแรง ใส่รองเท้าเปลือยส้น ผู้ชาย ไว้หนวดเครา ใส่รองเท้าผ้าใบที่ดูสกปรก หรือใส่ชุดนักศึกษามาสัมภาษณ์งาน ซึ่งแสดงถึงความไม่พร้อมที่จะทำงาน ขาดความเป็นมืออาชีพ หลักการพื้นฐานที่ควรคำนึงถึง คือ การแต่งกายที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณเอง เพราะจะช่วยให้คุณมีความมั่นใจ ประกอบกับคำนึงถึงตำแหน่งงานที่ไปสัมภาษณ์และประเภทธุรกิจขององค์กรนั้นๆด้วย

6. ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้องๆบางคนเมื่อก้าวเข้ามาถึงบริษัท อาจเป็นช่วงนั่งรอการสัมภาษณ์ แทนที่จะใช้โอกาสจังหวะนี้ในการพูดคุยทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่น บางคนใส่หูนั่งฟังเพลง บางคน นั่งส่งข้อความ หรือ สนทนาทาง BB แบบไม่ลืมหูลืมตา บางคนก็คุยโทรศัพท์กับเพื่อนเสียงดัง เฮฮา แบบขาดความเกรงอกเกรงใจผู้อื่น บางคนอาจรู้สึกว่า ก็ยังไม่ถึงเวลาสัมภาษณ์ จะทำอะไรก็ได้ แต่ความจริงคือว่า หลายๆบริษัท อาจมีการสังเกตพฤติกรรมของผู้สมัครอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ผู้สมัครก้าวย่างมาถึง และมีผลสำคัญต่อการประเมิน และผลการคัดเลือกพนักงานอย่างมากอีกด้วย

7. เป็นฝ่ายพูดมากเกินไป บทพูดที่ดูไร้สาระและเพิ่มคะแนนลบมากกว่าคะแนนบวก เช่น การพูดถึงบุคคลที่สาม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ครูอาจารย์ นายจ้างเก่า เพื่อนร่วมงานเก่า ในทางที่ไม่ดี หรือเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นกับคุณ เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ถูกใส่ความ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ประสบความล้มเหลวผิดพลาดในการทำงาน รวมถึงการถามคำถามที่ไม่เหมาะสมกับกรรมการ เช่น คุณทำงานมากี่ปี?ปัจจุบันเงินเดือนเท่าไหร่?มีครอบครัวแล้วหรือยัง?เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น