มะที่รัก
นี่คงเป็นเมล์แรกที่ดุ๊กเขียนถึงมะ หลังจากที่เราได้คุยกันทางโทรศัพท์มานานตั้งแต่เเยกย้ายจากกันเพื่อไปเรียนหนังสือในชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนแห่งใหม่ที่เราต่างแยกย้ายกันสอบเข้าไปเรียนได้
เคยคิดจะใช้สื่อนี้มานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก จนกระทั่งปิดภาคเรียนนี้ตามภาวะน้ำท่วมใหญ่
รู้ว่ามะสบายดี ดุ๊กก็เลยไม่ค่อยห่วง เพราะที่บ้านของมะยังเป็นเขตปลอดน้ำในกทม. แต่บ้านของดุ๊กที่รัชโยธิน น้ำท่วมสูงขึ้นมามากแล้ว และครอบครัวของดุ๊กก็ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านของคุณย่าที่เป็นเขตปลอดน้ำเช่นกัน
แม้จะเป็นบ้านเก่าที่ปลูกสร้างมากว่าร้อยปีตามที่คุณพ่อเม้าเล่าให้ฟัง แต่ก็รู้สึกอบอุ่น และยังมีกลิ่นอายของคุณปู่และคุณย่าให้ได้สัมผัส
ถึงแม้ดุ๊กจะเกิดไม่ทันสมัยคุณปู่ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่จากการเล่าเรื่องของคุณพ่อ คุณแม่ และพี่บรู๊คแล้ว ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าคุณปู่และคุณย่ายังอยู่ที่นี่ร่วมกันกับพวกเราอยู่เลย
ดุ๊กได้นั่งกินข้าวบนโต๊ะที่ทำจากไม้สักที่มีอายุมากกว่าห้าสิบปี พร้อมหน้าพร้อมตากันกับทุกคในครอบครัว
ช่างเป็นบรรยากกาศที่น่ายินดี เพราะก่อนน้ำจะท่วมทุกคนมัวยุ่งอยู่กับงาน แต่ในตอนนี้ ทุกคนจะรีบกลับบ้าน ด้วยความห่วงใยซึ่งกันและกัน และเช็คข่าวกันตลอดว่าอยู่กันตรงไหนแล้ว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในครอบครัวที่คุณพ่อเม้าเล่าว่ามาจากคุณลุงยีผู้แสนดีที่จากไปก่อนวัยอันควรเป็นคนสร้างขึ้นอย่างเหนียวแน่น
คุณพ่อและคุณแม่ก็รีบกลับบ้านเพราะห่วงลูกๆ พี่บรู๊คก็รีบกลับเพราะห่วงดุ๊ก กับคุณพ่อคุณแม่ ส่วนดุ๊กก็คอยทำหน้าที่ในบ้าน ปัดกวาด กรองน้ำและต้มน้ำใส่ขวด รวมทั้งหาซื้ออาหารที่ร้านสะอาดทำและราคายุติธรรมใกล้ที่พัก รวมทั้งหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า
แต่วันไหนถ้าพี่บรู๊คร่วมวงกินข้าวด้วย พี่เขาก็จะแย่งหน้าที่คนล้างจานไปแต่เพียงผู้เดียว เว้นเสียแต่ว่าพี่เขาจะติดเวรที่โรงพยาบาล ไม่สามารถกลับมากินข้าวด้วยกันเท่านั้น
ในหลายวันที่ผ่านมาคุณแม่เล่าเรื่องคุณปู่ให้ฟังมากมายว่าท่านเป็นคนใจดีเช่นไร แล้วยังเล่เรื่องเกี่ยวกับคุณย่าที่แสนจะใจดี และกล้าหาญอย่างไรอย่างไม่รู้จักหมด
รวมทั้งเรื่องของคุณลุงยีและคุณลุงตงผู็เปี่ยมอัธยาศัย ที่คอยช่วยเหลือผู้คน แม้ท่านจะจากไปแล้ว แต่ผู้คนก็ยังยกเรื่องราวของท่านทั้งสองมาเล่าสู่กันฟัง เหมือนมันไม่รู้จักหมดไปจากหัวใจ
บ้านหลังนี้คุณลุงเข่งที่แสนดีก็เคยมาพักอาศัยอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ท่านเป็นวิศวกรที่ใฝ่ความก้าวหน้ามาก จนได้ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชมงคล คุณพ่อเม้าเล่าให้ฟังว่าคุณลุงเข่งท่านเคยเล่าให้ฟังว่าในช่วงหนึ่งที่คุณลุงเข่งมาพักที่บ้านหลังนี้
มีอยู่คืนหนึ่งท่านลงมาอาบน้ำที่ห้องน้ำชั้นล่าง ท่านมองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวในชุดไทย แต่ไม่มีหัว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว
จนมีอยู่วันหนึ่งคุณลุงเข่งเปลี่ยนการใช้รถเดินทางจากการขับรถยนต์มาเป็นขับรถมอเตอร์ไซด์เพื่อไปซื้อยาให้คุณแม่ของท่าน แถวๆสะพานซังฮี้
แล้วก็เกิดเรื่องคาดไม่ถึง ท่านถูกรถบรรทุกสิบล้อชน แล้วทับหัวกระโหลกแตกตายคาที่ ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเองก็มีคำสั่งแต่งตั้งให้ท่านเป็นรองอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยราชมงคลที่ท่านสอนอยู่( เรื่องราวนี้คุณพ่อเม้าฟังมาจากพี่สาวของลุงเข่งที่เล่าให้ฟังพร้อมกับการร่ำไห้ของคุณป้า)
คุณปู่ของดุ๊กท่านตาเสื่อมจากการเป็นต้อ ท่านเคยเล่าให้คุณลุงยีและคุณพ่อเม้าฟังว่า มีเจ้าแม่กวนอิมมาพรมน้ำมนต์ให้ท่านยามดึกในขณะที่ท่านยังไม่ได้เข้านอน หลังจากนั้นท่านก็ถูกคุณลุงยีพาไปผ่าตัดตาต้อจนสายตาคมชัดเป็นอย่างดีราวกับที่เข้าแม่กวนอิมมาประ ทานพร แต่คุณพ่อเม้าท่านพูดให้ดุ๊กฟังว่าหมอเก่งนะลูก
คุณพ่อเม้าเล่าให้ดุ๊กฟังอีกว่าในระยะเวลาสุดท้ายของชีวิตคุณปู่ ท่านป่วยเป็นโรคหลอดเลือดดำตีบที่ขาและต้องมีการผ่าตัดขาออกไป ( ในตอนนั้นเทคโนโลยี่ในการรักษาไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบันที่สามารถทำบอลลูนหลอดเลือดได้) ในครั้งแรกคุณปู่ท่านอารมณ์ดีมาก กล้าหาญแม้จะผ่านการผ่าตัดขาที่แสนจะทรมานเพราะรู้สึกตัวและเจ็บอย่างมากมาแล้วก็ตาม ก็ยังอา รมณ์ดี ท่านบอกคุณพ่อเม้าอย่างนั้นในขณะที่ไปเฝ้าไข้คุณปู่
หลังจากนั้นสองสามวัน หมอมาบอกคุณพ่อว่าแผลผ่าตัดของท่านติดเชื้อและ บอกอีกว่าจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ คุณพ่อเม้าจึงบอความจริงให้คุณปู่ทราบ
คราวนี้คุญปู่เกิดอาการกลัวไปหนึ่งวัน แล้วท่านก็ตั้งสติได้ หลังจากนั้นคุณปู่จึงเล่าให้คุณพ่อเม้าฟังว่าคุณปู่ท่านดูดวงของตัวเองจากตำราหมอดูที่ท่านเรียนมาจากเมืองจีนหลายสิบปีก่อนว่ าท่านจะต้องพบการผ่าตัดติดต่อกันสองครั้งในบั้นปลายชีวิต แล้วท่านจะไม่รอด ซึ่งตรงกับพระที่วัดแคนางเลิ้งที่เพื่อนของคุณปู่ท่านช่วยเอาดวงไปดูให้ พระรูปนั้นท่านบอกว่าทำอย่างไรคุณปู่ก็ไม่รอด เพราะหมดอายุขัย
การผ่าตัดครั้งที่สองของคุณปู่ ก็ผ่านไปอย่างราบรื่นด้วยดี จนคุณหมอให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน คุณลุงใหญ่อุ้มคุณปู่กลับขึ้นบ้าน คุณปู่พบลูกหลานทุกคนเต็มบ้านไปหมดด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น
หลังกินข้าวกับครอบครัวใหญ่แล้ว คุณปู่ท่านก็ชวนคุยกับลูกหลานทุกคนอย่างสนุกสนานเฮฮามาก จนลูกหลานทะยอยกันกลับบ้านของตน
คุณพ่อเม้าเล่าให้คุณแม่ฟังว่าท่านเห็นหน้าคุณปู่อิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูก และอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนที่โบราณว่าหน้านวลจวนตาย แล้วก็บอกคุณแม่ต่อไปว่าสงสัยคุณปู่ท่าทางจะไม่รอดและผ่านคืนนี้ไปได้แน่
ตอนตีสองของคืนนั้น พี่ตาหลานของคุณปู่ที่นอนเฝ้าท่านมาเคาะประตูบอกด้วยน้ำตานองหน้ากับคุณพ่อเม้าว่าคุณปู่ท่านจากไปแล้ว
ดุ๊กมาดูห้องนั้นซึ่งปัจจุบันเป็นห้องพระ มาลูบที่ๆคุณปู่นอนคุยกับลูกๆหลานๆแล้วท่านก็จากไปตรงนั้น แทนที่ดุ๊กจะกลัว ดุ๊กกลับเสียดายที่ดุ๊กไม่ได้คุยกับคุณปู่ต่างหาก
ดุ๊กว่าส่งเมล์มาแบบนี้ดีนะ จะได้เก็บความคิดอ่านต่อบ้านหลังนี้มาเล่าให้มะฟังได้โดยละเอียด และมะจะได้เห็นครอบครัวใหญ่ที่มีความรักและเมตตาจากบรรพบุรุษเป็นเครื่องคล้องใจให้ลูกหลานรักกัน แม้ในขณะนี้จะเลือนลางลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่ดุ๊กก็มีความรู้สึกนะว่าดุ๊กรักคุณปู่จริงๆ
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เราจะได้คุยกัน เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านของคุณปู่คงไม่ทำให้มะกลัวนะ เพราะมะเป็นนักปฎิบัติมาแต่เด็ก กล้าหาญ แถมยังสวดมนต์ไหว้พระใส่บาตรทุกวัน ดีกว่าดุ๊กเป็นไหนๆ
แต่ดุ๊กก็ขอบอกทิ้งท้ายว่าดุ๊กยังรักมะเสมอ ยิ่งเห็นความดีและความตั้งใจอันดีในบุญกุศลของมะ ดุ๊กยิ่งรักมะเข้าไปใหญ่ บอกตรงๆนะและพูดอย่างไม่อายด้วย
สำหรับภาวะน้ำท่วม จะไม่คุยกันอีกแล้ว เพราะเราพร้อมจะช่วยเหลือกันเสมอมิใช่หรือจ้ะ แม้กายจะห่างแต่ใจที่ระลึกถึงในความดีที่ทำร่วมกันในกุศลที่แปลว่าหนทางที่ฉลาดที่คุณพ่อเม้าสอนไว้เสมอ จะทำให้พวกเราได้พบแต่กรรมดีที่เรียกว่ากุศลกรรมหรือกรรมที่เกิดจากความฉลาดหรือหนทางรกที่ถูกแผ้วแล้ว กรรมที่ทำให้เราหนักใจ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เป็นกำลังใจให้กันและกันเสมอ...นะจ้ะ
รักในตัวตนและความดีของมะเสมอ
ดุ๊ก
ขอบคุณเม้าและตัวแทนที่ส่งบทความน่ารักน่าอ่าน มาให้อ่านกัน เม้าเล่าต่อว่าพระที่ดูดวงให้คุณพ่อของเม้าคือหลวงตาช้วนหรือพระครูวิจารณ์วรกิจ วัดแคนางเลิ้งที่เป็นที่เคารพรักอย่างสูงของชาวแก่นธรรมนั่นเอง
เรื่องราวของแก่นธรรมตอนนี้เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ ที่ต้องรู้ ต้องเห็นต้องเป็น ขอยกคำสอนของท่านพระอาจารย์ว.วชิรเมธี มาทิ้งท้ายบทความตอนนี้ว่าคิดเป็นก็เห็นธรรม
และหลวงปู่ชา สุภัทโทท่านเทศน์สอนบ่อยๆว่าใครเห็นความไม่เที่ยงหรือไม่แน่นั่นแหละได้เข้าเฝ้าำพระพุทธเจ้าแล้ว
หลวงปู่พุทธทาส ภิกขุท่านเทศน์สอนไว้ว่าในพระไตรปิฎกมีคำสอนหนึ่งที่พบเห็นมากที่สุดก็คือคำว่าสติปัฎฐาน จำกันให้ดีเพราะสำคัญ
สำหรับรายละเอียดก็ต้องปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ ตามแนวถนัดของแต่ละท่านละครับ (รู้ ฝึก ดูผล)
สะมะชัยโย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น