มีคนถามผมเสมอว่า, ถ้าต้องเลือกระหว่าง “คนเก่ง” กับ “คนดี” ผมจะเลือกคนประเภทไหน?
ทุกครั้งผมจะตอบว่าทำไมผมต้องเลือกด้วย, ทำไมคนเก่งของสังคมไทยเราจึงไม่ใช่คนดีกระนั้นหรือ?
คำตอบที่ผมได้รับจากเพื่อนคนที่ตั้งคำถามนี้ก็มักจะทำให้ผมประหลาดใจพอสมควร นั่นคือ, ทุกวันนี้คนเก่งมักจะไม่ค่อยอยากเป็นคนดี
ก็ยุ่งซิครับ
เขาบอกว่าใช่, มันถึงได้ยุ่งทุกวันนี้เพราะคนดีกับคนเก่งไม่ได้มาบรรจบพบกัน, คนเก่ง ๆ กับคนดี ๆ กลายเป็นคนสองประเภทที่ยืนอยู่คนละข้าง และเมื่อคนเก่งกลายเป็นคนไม่ดีและคนดีดูเหมือนจะไม่เก่ง, บ้านเมืองจึงได้เกิดปัญหาอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เขาวิเคราะห์ว่าคนเก่งที่มี IQ สูงนั้นถ้าไม่มี EQ หรือ Emotional Quotient อันหมายถึง “ความฉลาดทางอารมณ์” หรืออาจจะเรียกว่า “สติสัมปชัญญะ” ก็จะเสี่ยงที่จะเป็นคนที่เป็นปัญหากับสังคม
ไอคิวเกี่ยวกับสมอง, อีคิวเกี่ยวกับใจและอารมณ์
ผมไม่ใช่นักวิชาการจึงต้องมองในฐานะชาวบ้านที่สัมผัสกับคนเก่งกับคนดีหลายประเภทที่เคยเห็นมา
คนเก่งที่ดีมีสติและมีสติสัมปชัญญะก็มีไม่น้อย เป็นคนน่านับถือ น่าคบหา และเสวนาด้วย เพราะคนเก่งที่มีอารมณ์หนักแน่นและมั่นคงนั้นคือคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
ยิ่งถ้าเป็นคนมีศีลธรรม รู้ดีรู้ชั่ว ไม่เห็นแก่ตัว และมีจิตวิญญาณงดงามด้วยแล้ว, ก็ถือว่าเป็นเพชรมีค่าล้ำของสังคมไทย
คนเช่นนี้หายาก, เจอแล้วก็ต้องอนุรักษ์เอาไว้จนสุดความสามารถเพราะเขาเหล่านี้คือสมบัติของชาติที่หาได้ยากยิ่ง
คนที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองนั้นคือคนไอคิวสูงแต่อีคิวต่ำนั่นแหละ เพราะแปลว่าเป็นคนหัวไว, รอบรู้, คล่องแคล่ว, แต่จิตใจไม่มั่นคง, หวั่นไหวง่าย, เชื่ออะไรได้ง่าย, ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง, และมี “อัตตา” สูงเกินกว่าที่ปุถุชนทั่วไปจะรับได้
คนเหล่านี้ไม่น่าคบหา, และไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของตนเท่าไหร่นัก เพราะไม่ได้ใช้ความเก่งของตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมเท่าไหร่นัก
ทำงานกับใครก็ไม่ค่อยจะได้, และหากใครทำท่าว่าจะมีความสามารถใกล้เคียงกับตน, ก็จะเกิดความอิจฉาเร้าร้อน, แทนที่ตนจะเป็นผู้แก้ปัญหา, ก็จะกลายเป็นปัญหาเสียเอง
นักวิชาการบอกว่ายังมี “Q” อีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย, และทำให้ “คนเก่ง” ไม่สามารถเป็น “คนดี” ได้, นั่นคือ Moral Quotient หรือ “คุณภาพด้านจริยธรรมและศีลธรรม”
ถ้าคนเก่งที่มี IQ สูง, แต่มี MQ ต่ำ, นั่นคืออันตรายเพราะคนเก่งคนนี้จะใช้ปัญญาที่มีมากกว่าคนอื่นกระทำสิ่งที่ผิดจริยธรรมและศีลธรรม
ซึ่งก็จะทำให้คนเก่งคนนั้นทำความชั่วร้ายที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติได้หนักหนากว่าคนอื่น
คนไอคิวต่ำนั้นแม้ว่าเอ็มคิวสูงบ้าง, ก็อาจจะไม่สามารถสร้างความเสียหายให้คนคนอื่นได้มากนัก เพราะไม่สามารถ “ซิกแซ่ก” กฎกติกาที่สังคมวางเอาไว้...เรียกว่าถึงพยายามจะทำชั่ว, ก็จะถูกจับได้ง่าย
แต่คนไอคิวสูง, อีคิวก็มาก, และมิหนำซ้ำยังมีเอ็มคิวเป็นเลิศอีกด้วยนั้นจะเป็นตัวอย่างของ “perfect storm” นั่นคือรวบรวมเอาความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ที่พึงจะมีมาอยู่ที่คนคนเดียวกัน
คนอย่างนี้หากอยู่ในตำแหน่งฐานะที่สำคัญก็สามารถจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับบ้านเมืองได้อย่างยิ่ง
เป็นลูกน้อง, ก็จะแนะนำและรับใช้เจ้านายให้ทำผิดกฎหมายพร้อมกับวิธีการที่จะหลบเลี่ยงกฎและกติกาของสังคมได้อย่างแนบเนียน, ไม่มีใครสามารถจับได้
ถ้าคนอย่างนี้เป็นหัวหน้าเสียเอง, ก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาหนักหน่วงได้อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะใช้ความฉลาดเฉลียวของตนเองที่อยู่เหนือคนอื่นแล้ว, ก็ยังสามารถจะสามารถสั่งการให้ลูกน้องทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ควรทำ หรือทำแล้วจะมีผลให้เกิดความเสียหายให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศชาติได้อีกด้วย
ยิ่งถ้าหากคนเดียวกันนี้มีอีคิวที่แย่ด้วยจะกลายเป็น “สามเด้ง” นั่นคือฉลาดเหลือล้น, โกงเหลือหลายและเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้นอย่างสุด ๆ อีกแล้ว
มีคนอย่างนี้ในบ้านเมืองไม่กี่คนก็ยุ่งยากวุ่นวายเหลือประมาณ
ดังนั้น, เราจึงต้องช่วยกันสร้างและส่งเสริม “คนดี” มาก ๆ ที่มีไอคิวดีแต่ก็มีอีคิวและเอ็มคิวในระดับที่น่าพอใจด้วย ไม่ต้องหวังว่าจะมีมีคนดีคนเก่งอย่างนี้มากมาย แต่อย่างน้อยถ้าให้ตัวเอ็มคิวคือ ความตระหนักในจริยธรรมเป็นหลักนำในความประพฤติประจำวันแล้วไซร้, ก็จะทำให้พอจะมีความหวังได้บ้างว่าเราจะสามารถสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันไม่ให้คนเก่งแต่เลวนั้นทำร้ายประเทศชาติมากเกินไป
ในท้ายที่สุด, หากสังคมไทยก้าวไปถึงจุดที่เราเรียกหา, ก็ไม่ควรที่เราจะต้องเลือกระหว่าง “คนดี” กับ “คนเก่ง”
เพราะบ้านเมืองของเราควรจะให้คนดีกับคนเก่งนั้นคือคนเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น