++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวยปิ๊ง! ด้วย "กัญชงจากกัญชา" ผลงานวิจัย จาก มช.

เมื่อเอ่ยถึงชื่อกัญชง ผู้คนทั่วไปจะนึกถึงกัญชา โดยไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ แต่หากพูดถึงเสื้อผ้าเส้นใยกัญชง ก็จะมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลเสื้อผ้าวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่า ซึ่งร่ำลือกันนักหนาว่า ผ้าใยกัญชงนั้น สวยงามแปลกตาและมีเสน่ห์ของอาภรณ์ที่คนพื้นราบ ไม่สามารถเลียนแบบได้ และนี่คือที่มาของการวิจัย เรื่อง กัญชง(Hemp)อนาคตพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงของประเทศไทย จนค้นพบคุณค่าด้านอาหารสุขภาพและประโยชน์เพื่อด้านเครื่องสำอาง พร้อมชี้ถึงเวลายกระดับเป็นอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชง

ทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ภก.สุรพล นธการกิจกุล และนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สำนักงาน ป.ป.ส., องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและ บริษัท มินเทค แล็ปบอราทอรี่ จำกัด กรุงเทพฯ ได้ร่วมกันบูรณาการงานวิจัย กัญชงหรือเฮมพ์ (Cannabis sativa L.var. sativa) ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พ.ศ. 2552-2556 ผ่านมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)

ในการวิจัยกัญชงครั้งนี้ รศ.ดร.ภก.สุรพล เผยว่า เนื่องจากพืชกัญชงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัญชา(Marijuana) ซึ่งเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 คณะผู้วิจัยจึงได้นำเสนอแนวทางในการตรวจสอบทางเคมีและกายภาพโดยอาศัยปริมาณสารสำคัญ และประเมินวิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์สำหรับใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อแยกเฮมพ์ประเภทเสพติดและประเภทเส้นใยของพืชกัญชง ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินรายได้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามสารเสพติด (ปปส.)

"ถือเป็นการวิจัยต่อยอดจากพืชที่มีการดั้งเดิมในความเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายและถือเป็นหัตกรรมชุมชนที่นำเอาต้นกัญชงมาทำเป็นเส้นใยผ้า และนำมาถักทอ ตกแต่งลวดลายศิลป์ตามแบบฉบับของชนเผ่าต่างๆทางภาคเหนือ กัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่มีการใช้ประโยชน์ตามประเพณีและรูปแบบชนเผ่า"

ความเหมือนและความแตกต่างทางพฤกษศาสตร์ของกัญชงและกัญชาคือ พืชกัญชงและกัญชา มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกันโดยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์เดียวกันคือ Cannabis sativa L. แต่มี subspecies แตกต่างกัน โดยกัญชง(Hemp)มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp. sativa ส่วนกัญชา (Marijuana)มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist ลักษณะภายนอกของพืชทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันน้อยมากจึงยากในการจำแนก

ลักษณะต้นกัญชงจะสูง กิ่งก้านน้อย มักสูงมากกว่า 2-3 เมตร ส่วนของยอดช่อดอกและใบกัญชงจะมีลักษณะเรียวเล็ก มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างกันชัดเจนและไม่มียางเหนียวติดมือ ต่างกับต้นกัญชา ซึ่งจะมีลำต้นเตี้ยกิ่งก้านมาก สูงไม่เกิน 2 เมตร แต่ใบกัญชาใหญ่กว้าง ใบเรียงตัวชิดกันหรือเรียงเวียนเป็นพุ่มโดยเฉพาะใบประดับบริเวณช่อดอกจะเห็นได้ชัดเจนและมักมียางเหนียวติดมือ กัญชงเส้นใยมีคุณภาพสูง โดยปลูกระยะห่างระหว่างต้นน้อยเพราะเน้นเอาเส้นใย ส่วนกัญชาปลูกระยะห่างระหว่างต้นมากเพราะเน้นเอาใบ

ปัจจุบันประเทศไทยยังจำแนกกัญชงหรือเฮมพ์เป็นพืชเสพติดประเภท 5 จำพวกเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากสารสำคัญในพืชกลุ่มกัญชาและกัญชง มี 3 ชนิด คือ 9-tetrahydrocannabinol(THC), Cannabinol(CBN) และ Cannabidiol(CBD) ซึ่งสาร THC เป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา ส่วน CBD เป็นสารต้านการออกฤทธิ์ของ THC ในกัญชงมีปริมาณ THC ต่ำมากและมีปริมาณ CBD สูงกว่า THC แต่กัญชามีปริมาณ THC สูงถึง 2-15% และมีปริมาณ THC สูงกว่า CBD

ทีมวิจัย นักศึกษาปริญญาโท คณะเภสัชศาสตร์ นายสมคิด ธิจักร ได้ใช้วิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์สำหรับใช้ในการแยกเฮมพ์ประเภทเสพติดและประเภทเส้นใย โดยอาศัยหลักการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอเป้าหมายสองตำแหน่งพร้อมกันด้วยไพรเมอร์สองคู่ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ผลแม่นยำ และสามารถแยกจำเพาะต่อกัญชงและกัญชา

"ในหลายประเทศสามารถปลูกกัญชงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องควบคุมให้มีสารเสพติดคือ THC ในปริมาณที่กำหนด เช่น ในประเทศแคนาดากำหนดให้มีสารเสพติด THC ในกัญชงไม่เกิน 0.3 % ส่วนประเทศทางยุโรปกำหนดให้มีไม่เกิน 0.2 % ประเทศออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกิน 0.5 - 1 % สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์หรือมาตรการควบคุม หากในอนาคตมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชงได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการจำแนกกัญชาออกจากกัญชงจึงมีความสำคัญมาก

ในการศึกษาครั้งนี้ได้นำพืชกัญชงที่ปลูกในเขตจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษานักศึกษาปริญญาเอก คณะเภสัชศาสตร์ ภญ.ประภัสสร ทิพย์รัตน์ พบว่า พืชกัญชงต่างสายพันธุ์และต่างแหล่งพื้นที่ปลูกจะมีลักษณะองค์ประกอบของสารสำคัญแตกต่างกัน และเมื่อเทียบกับกัญชาก็พบว่ามีความแตกต่างจากกัญชามากโดยพืชกัญชาจะมีปริมาณ THC เฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่ากัญชงมากและค่าอัตราส่วน CBD:THC ต่ำมาก"

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์และผลผลิต รศ.อาคม กาญจนประโชติ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่ามีความสัมพันธ์กับวิธีการปลูกและระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว ความสูงจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิ แสงแดดและปริมาณน้ำฝน จะมีผลต่อผลผลิตและปริมาณ THC จากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยค่อนข้างร้อนทำให้ปริมาณ THC ของเฮมพ์ที่ปลูกในประเทศไทยค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ผู้วิจัยได้สกัดน้ำมันเมล็ดกัญชงมาทดสอบคุณสมบัติทางเคมีกายภาพ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ตลอดจนวิเคราะห์หาปริมาณกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่จำเป็น (EFAs) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น alpha- linoleic acid (Omega 3), linoleic acid (Omega 6), linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid, oleic acid (Omega 9) และสารกลุ่มวิตามิน เช่น vitamin E ซึ่งเป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและชะลอการเกิดมะเร็งได้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาตำรับครีมน้ำมันกัญชงให้ความชุ่มชื้นและบำรุงผิวแห้งเพื่อรักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้ผลดี

นอกจากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมแล้ว รศ.ดร.ภก.สุรพล ยังได้กล่าวถึงภูมิปัญญาวัฒนธรรมและการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของกัญชงของชนเผ่าพบว่า มีการใช้ลำต้นมาลอกเปลือกออกจากต้น แล้วนำมาต่อให้ยาวแล้วม้วนให้เป็นเส้น ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้าเพื่อให้เกิดการนุ่มและเหนียวก่อนนำมาถักทอเป็นวัสดุสำหรับผ้าใยกัญชง ซึ่งตลาดหลักของเส้นใยกัญชงในปัจจุบันคือ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยที่ใช้ในการทำเสื้อผ้าและทำเยื่อกระดาษ เส้นใยกัญชงที่นำมาถักทอเป็นเสื้อผ้านั้นได้รับความนิยมมาก และยังสามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ โครงสร้างของเส้นใยทำให้ผ้าที่สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน อบอุ่นสบายในฤดูหนาว และมีคุณสมบัติของเส้นใยที่แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน อบอุ่นกว่าลินิน ทั้งยังเบาสวมใส่สบาย จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เส้นใยกัญชงเริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของตลาดเส้นใยธรรมชาติ ในอนาคตทรัพยากรพืชเส้นใยของประเทศจะขาดแคลนมากขึ้น กัญชงจะอาจเป็นพืชทดแทนแก้ไขปัญหานี้ได้

“อย่างไรก็ตาม กัญชงหรือเฮมพ์ปัจจุบันยังจัดเป็นพืชห้ามปลูกตามกฎหมาย ดังนั้นการจำแนกกัญชาออกจากกัญชงจึงมีความสำคัญมาก คณะผู้วิจัยได้หาองค์ประกอบสารสำคัญคือ THC CBD และ CBD/THC ratio และพัฒนาวิธีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ได้จำนวนมากและใช้ระยะเวลาสั้นและแม่นยำสูง เพื่อแยกกัญชงหรือเฮมพ์ออกจากกัญชาซึ่งเป็นพืชเสพติด ทำให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือสามารถปลูกได้โดย ไม่ถูกจับกุม ดังนั้นหากได้รับการส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมเส้นใย อาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง จะสามารถทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ” รศ.ดร.ภก.สุรพล กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น