++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันออกพรรษา - วันปวารณา - พิธีตักบาตรเทโว (วันพระเจ้าเปิดโลก)

"........วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น

........."วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา

........ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (เพ็ญเดือน ๑๑) ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ

๑.ไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒.ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
๓. ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้
๔. มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก ๔ เดือน

วันปวารณา

อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า

"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"

แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี

การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทางท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผลจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผลนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู

เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาตัดไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตามให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้โยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่คือผู้มีอาวุโสท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง

การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อยๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง

ตัวอย่าง วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

ตักบาตรเทโว (วันเทโวโรหนะ)

ส่วนพิธีของฆราวาสนั้น ควรจะนำเอาพิธีปวารณาของพระท่านมาใช้ดูบ้าง ซึ่งจะมีผลดีที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัวและสังคมต่าง ๆ และมีพิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง

มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า " ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน

การทำบุญตักบาตรเทโวนี้ ท่านจัดเป็นกาลนาน คือ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง และการกระบุญเช่นนี้ โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า

เมื่อก่อนพุทธศักดิ์ราช ๘๐ ปี พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา (ซึ่งทรงบังเกิดอยู่ในสวรรคชั้นดุสิต)

ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ ๓ เดือนพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของนับไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวาบันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง ๓ พาด บนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตู เมืองสังกัสสนคร และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์"

อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้นประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง บางวัดจึงเตรียมการในคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้างแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อนและมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์

พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตรเป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าว กับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาวและข้าวต้มลูกโยนนี้มี ประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้

ความมุ่งหมายของการปวารณากรรม
ปวารณากรรม มีความมุ่งหมายชัดเจนปรากฏอยู่ในคำที่สงฆ์ใช้ปวารณาซึ่งกันและกัน ดังนี้
- เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยให้หมดไปในที่สุด

- เป็นทางประสานรอยร้าว ที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกันให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน

- เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ

- เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดว่ากล่าวตักเตือนได้โดยไม่จำกัดด้วย ยศ ชั้น พรรษา วัย

- ก่อให้เกิด "ภราดรภาพ" รู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐานนำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงานคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญุตา

มงคลสูตร

อนึ่ง ก่อให้เกิดการปฏิบัติใน "มงคล ๓๘" ข้อว่า สุวโจ เป็นคนว่าง่าย พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ถึงพุทธบริษัทที่เป็นผู้ว่ายาก คือไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะพลัดตกไปจากพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัทผู้ว่าง่าย ก็จะเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ว่าง่ายกับผู้ว่ายากมันผิดกันเยอะ คือบางทีเวลาพูดก็ฟังแต่ไม่ยอมทำตาม ไปทำอย่างอื่น ไม่ทำตามพระพุทธเจ้าสอน

อย่าง พระฉันนะ ก็อยู่ในข่ายเหมือนกัน คือพระพุทธเจ้าตรัสก็ฟัง แต่ไม่ทำตาม ลูกที่ดื้อ พ่อแม่เรียกมาอบรมสั่งสอนนั่งตาแป๋ว พอกลับไป ปรากฏว่าเหมือนเดิม อย่างนี้เรียกดื้อด้าน อย่างนี้ดื้อคนเดียว อีกพวกหนึ่งดื้อดึง คือไม่ดื้อคนเดียว ดึงคนอื่นไปด้วย มีพี่น้องเพื่อนก็ดึงไปหมดเลย ทำให้เหมือนอย่างที่เขาทำ

ลักษณะของการเป็นผู้ว่าง่าย พระพุทธเจ้าแสดงไว้ใน นาถกรณธรรมสูตร ธรรมที่สำหรับทำที่พึ่งแก่ตน แก่ผู้อื่นด้วย มี 10 ข้อ ใน 10 ข้อนั้นมีข้อหนึ่งคือ สุวโจ อยู่ด้วย ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย ขโม เป็นผู้อดทน ปทกฺ ขิณคฺคาหิ อนุสาสนิน รับโอวาทด้วยมือข้างขวา นี่เป็น idiom คือรับโอวาทด้วยความเคารพ

ที่ว่าประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย คือเป็นคนมักน้อย สันโดษ มีความอดทน มีความเพียร อันนี้เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย

ถ้าเป็นคนว่ายาก ก็ตรงข้ามคือเป็นคนมีความมักมาก มีความปรารถนาเลว ไม่สันโดษ ไม่มีความอดทน เกียจคร้าน

คนโง่มักจะสำคัญตนว่าฉลาด ใครเตือนก็ไม่ได้ มักโกรธ แต่คนฉลาดก็จะร้องขอให้เตือน รับคำเตือน ทำตามที่รับคำเตือนไป ไม่ดื้อด้านและไม่ดื้อดึง

ปกติพระเวลาออกพรรษา ก็จะมีการปวารณาว่า ทิฏเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ ถ้าหากว่าการกระทำของกระผมถ้าหากท่านสงสัย เห็นก็ดี ไม่เห็นก็ดี สงสัยก็ดี ด้วยความอนุเคราะห์ก็ขอให้ว่ากล่าวตักเตือน อันนี้ถือว่าเป็นคุณธรรมของผู้ว่าง่าย ให้ว่ากล่าวตักเตือน

แต่ถ้าพอมีผู้ไปว่ากล่าวตักเตือนกลับโกรธ อันนี้จะไปเข้าใน อนุมานสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงเอาไว้ว่า ถ้าแม้ภิกษุจะปวารณา เปิดโอกาสให้ตักเตือนว่าท่านจงกล่าวตักเตือนผมเถิด แต่พอใครตักเตือนเข้าก็กลับเป็นคนว่ายากสอนยากไม่อดทน ไม่รับคำเตือนโดยเคารพ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็จะเบื่อหน่าย ไม่อยากจะว่ากล่าวตักเตือนอีกต่อไป เพราะว่าทำตนเป็นคนไม่ควรกับการตักเตือนสั่งสอน แล้วก็ไม่ต้องการจะคบหาสมาคมและคุ้นเคยกับเธอ

บุคคลที่ว่ายากสอนยาก ในสมัยพุทธกาล

แต่ถ้าภิกษุบางรูป แม้จะไม่ปวารณาว่า ท่านผู้มีอายุจงกล่าวตักเตือนผมเถิด ผมซึ่งท่านตักเตือนแล้ว สั่งสอนแล้วก็จะมีความปีติพอใจ พอเขาเตือนก็เป็นคนมีความว่าง่าย มีความอดทน อย่างนี้ใช้ได้

ตัวอย่างพวกว่ายาก เช่น พระอัสสชิ บุนัพพสุกะ ไม่ใช่ "พระอัสสชิ" ในปัญจวัคคีย์ ก็อยู่ใน "กิฏาคีรี" แถวเมืองราชคฤห์ นี่ก็เรื่องเยอะ "พระฉัพพัคคีย์" (พระ ๖ รูป) ก็มี พวกนี้มีทั้งดื้อด้านและดื้อดึง ก็มีเยอะในสมัยพุทธกาล

ตัวอย่างผู้ที่เมื่อตักเตือนแล้วก็รับด้วยดี ก็มี พระราธะ ที่ยกเป็นตัวอย่างกันบ่อย พระอานนท์ ก็มี พระมหากัสสปตำหนิท่าน 4-5 เรื่อง ตอนปรินิพพาน แต่พระอานนท์ก็ขอบคุณ บอกว่าผมไม่เห็นโทษในเรื่องนี้ แต่เมื่อท่านเห็นว่าผมผิด ผมก็ยอมแสดงอาบัติ นี่ก็ถือว่าเป็นผู้ว่าง่าย และพระมหากัสสปก็รักท่านมาก จนพระอานนท์ศีรษะหงอกแล้ว พระมหากัสสปยังเรียกท่านว่าเด็กน้อยอยู่ เพราะชอบพอ พระมหากัสสปแก่กว่า ก็เหมือนคนหนึ่งอายุ 80 อีกคน 60 ก็ดูยังเด็กอยู่เรื่อย

คนว่าง่าย ไม่เหมือนกับพวกคนหัวอ่อน พวกนี้จะไม่มีหลักการ ไม่มีจุดมุ่งหมาย คือใครชักไปไหนก็ได้ จูงได้ง่าย ลมเพลมพัดหรือที่เขาว่ายอดไผ่ต้องลม หรือไม้หลักปักขี้เลน นี่พวกหัวอ่อน

ถ้าเป็นคนว่าง่าย จะเป็นคนที่มีหลักการและมีจุดมุ่งหมาย คือ คนพวกนี้ถ้าผิดหลักการและจุดมุ่งหมาย จะแข็งขึ้นมาทันที ดูปกติเป็นคนสุภาพ ก็คืออ่อนนอกแข็งใน ก็กลายเป็นไม่ว่าง่ายแล้วถ้าผิดหลักการ ไม่เอาด้วยแล้ว ถึงใครจะไม่สนับสนุนให้ก้าวหน้าก็ยอม แต่มีความภูมิใจ มีความสุข เพราะมีหลักการและมีจุดมุ่งหมาย

คนว่าง่ายเพราะเห็นแก่ปัจจัย 4 กับคนว่าง่ายเพราะเห็นแก่ธรรมอันนี้ต่างกัน นี่ข้อความปรากฏใน กกจูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12

คนว่าง่ายเพราะเห็นแก่ปัจจัย 4 ก็คือว่า ถ้าได้ปัจจัย 4 จึงจะเป็นคนว่าง่าย ถ้าไม่ได้ปัจจัย 4 จะเป็นคนว่ายากขึ้นมาทันที

แต่คนว่าง่ายเพราะเห็นแก่ธรรม สักการธรรม เคารพธรรมนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง คือถึงเอาปัจจัย 4 มาล่อก็ไม่เอา แต่ถ้าทำไปเพื่อความถูกต้องตามธรรมแล้วก็เอา

มีผู้ถามเสมอว่าดื้อกับพ่อแม่ ถือว่าเป็นคนดีไหม ดูก็ว่าน่าจะไม่เป็นคนดี แต่ผมก็ถามกลับว่า สิ่งที่พ่อแม่สอนนั้นถูกหรือผิด ถ้าเผื่อสิ่งที่พ่อแม่สอนนั้นผิด ก็ดื้อได้ เพราะถ้าไปทำตามพ่อแม่ที่สอนผิด ก็แย่กว่าดื้อเสียอีก อย่างพ่อแม่สอนให้เป็นโจร ถ้าลูกปฏิบัติตามก็กลายเป็นแย่ ต้องไม่ปฏิบัติตาม

อันนี้คือความมีเงื่อนไขของธรรมะ ไม่ได้หมายความว่าจะว่าไปตามตัว จะว่าง่ายก็คือใครสอนอะไรก็ทำตาม มันมีเงื่อนไขคือว่าใครสอนผิดหรือสอนถูก หรือโดยที่สุด ครูบาอาจารย์หรือสำนักสอนผิดหรือสอนถูก ถ้าสอนผิดก็ไม่เอา ถ้าสอนถูกก็เอา

ในพระไตรปิฎก ก็มีพูดถึงเรื่องนี้ ศาสดาที่สอนผิด ถ้าสาวกปฏิบัติตามมากเท่าใด ก็ชั่วมากเท่านั้น ถ้าศาสนาสอนถูก สาวกปฏิบัติตามมากเท่าใด ก็ดีมากเท่านั้น ฉะนั้นก็ดูเหมือนว่าจะดื้อกับศาสดา แต่สาวกที่เป็นคนมีโยนิโสมนสิการและฉลาด เขารู้ว่าศาสดาสอนผิด เขาก็ไม่เอา สาวกคนอื่นที่ไม่ฉลาด ก็นึกว่าคนนี้ดื้อ เป็นผู้ว่ายากสอนยาก ที่จริงไม่ใช่

ในเรื่องทำนายฝันของ พระเจ้าปเสนทิโกศล 16 ข้อ พระพุทธเจ้าท่านเล่าให้ฟัง ว่ามีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ไม่ทำตามอาจารย์ที่หลอกลวง หมายถึงอาจารย์ต้องการจะหลอกลวงพระราชาในการที่จะไปทำพิธีบูชายัญ เพราะพระราชาฝันร้าย ได้ทูลพระราชาไว้ว่าฝันแบบนี้ต้องบูชายัญด้วยแพะด้วยสัตว์ต่างๆ

แต่มีศิษย์คนหนึ่งของคณะพราหมณ์ บอกว่าท่านอาจารย์ในตำราของเราเคยมีบอกไหมว่า การที่จะสะเดาะเคราะห์ เอาชีวิตของเรารอด ด้วยการเอาชีวิตของสัตว์อื่นมาแทน อาจารย์บอกไม่มี

ถ้าอย่างนั้นอาจารย์กราบทูลพระราชาทำไมให้บูชายัญสัตว์ อาจารย์บอกว่า แกยังเด็กไม่รู้อะไร นี่เป็นทางได้ลาภของพวกเรา

ลูกศิษย์ก็บอก แล้วแต่อาจารย์เถอะ ผมไม่เอาด้วย ขอลาแล้ว

นี่พระพุทธเจ้าก็ตรัสเล่าให้ฟัง ว่าในอดีตก็เคยมีเรื่องอย่างนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้น สรุปว่า ความดื้อความว่าง่ายนี้มันก็อยู่ที่ความถูกต้องด้วย

การหลอกลวงไม่ใช่มีแต่ในพุทธกาล ปัจจุบันก็ยังมี สำคัญคือว่าทางศาสนาก็ดี ทางผู้ใหญ่ก็ดีที่ปกครองบ้านเมืองต้องสาดแสงสว่างทางปัญญาให้กับประชาชน ให้เขามีปัญญา ให้เขาได้แสงสว่าง แล้วเขาก็จะไม่เชื่อ ไม่งมงาย ถ้าคนฉลาดแล้ว ความงมงายมันหมดไปได้

คนมันมีจุดบอดอยู่ที่ว่า คนมีทิฐิมานะ จะมีทิฐิอยู่ว่าเราก็เก่งเหมือนกัน เราก็รู้เหมือนกัน ก็ไม่ยอมให้สอน นี่เป็นจุดบอดอันหนึ่ง แข่งดี และไม่ยอมฟังสิ่งที่ถูกต้อง ไปตาม กระแสเสียมาก

มีเรื่องที่เล่ากันซ้ำๆ ก็เรื่องฝนตกขี้หมูไหล ก็มีคนบอกว่าอย่างนั้นถูกอย่างนี้ผิด พระเจ้าปยาสิ ก็ยอมรับ ยอมแพ้ พระกุมารกัสสป เมื่อถกปัญหาทางปรัชญากัน เรื่อง ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ ชาติเดียวหรือหลายชาติ พระเจ้าปยาสิก็ยอมแพ้ แต่บอกว่าผมเปลี่ยนความคิดไม่ได้ เพราะว่าใครๆ เขาก็รู้กันมานานแล้ว ว่าพระเจ้าปยาสิคิดอย่างนี้เห็นอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้

พระกุมารกัสสป ก็เล่านิทานให้ฟัง คนไปหาอาหารหมูไปเจอขี้หมู นึกว่าเป็นอาหารหมู ก็ใส่กระสอบแบกกลับบ้าน เดินมากลางทางฝนตกขี้หมูไหล ก็ไม่ยอมทิ้ง บอกว่าแบกมานานแล้วเสียดาย

เหมือนคนที่มีทิฐิมานะ มีอหังการจัด ถือมานานแล้ว คิดมานานแล้ว ก็ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมทิ้ง

พระกุมารกัสสป ก็เทียบว่าพระองค์แบกทิฐิผิดมานานแล้ว และก็ไม่ยอมทิ้งไม่ยอมปล่อย ก็เทียบหลายเรื่อง จนในที่สุดพระเจ้าปยาสิก็ยอมเปลี่ยนความเห็น

อีกรายหนึ่ง คือ สญชัยปริพาชก อาจารย์ของพระสารีบุตรนี่ก็แบกขี้หมูเหมือนกัน แต่เหตุผลท่านก็เข้าที ยังใช้ได้จนบัดนี้ คือว่า คนฉลาดก็ไปหาพระพุทธเจ้า คนโง่ก็มาหาเรา ตราบใดที่ยังมีคนโง่อยู่ อาจารย์ก็ยังมีทางหากินอยู่

หลักการในพุทธศาสนาของเรานี่ลึกซึ้งอย่างนี้ พอมีประสบการณ์แล้วกลับไปดูคำพูดต่างๆ เอามาคิดแล้วชัดเจน อย่างที่ว่า “มันเป็นช่องทางหาลาภของเรา” คืออาจารย์ก็รู้ว่ามันไม่ถูก แต่เป็นช่องทางทำมาหากิน ก็เลยรักษาไว้ ใจไม่สูงพอที่จะละทิ้งสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง แล้วก็มาทำสิ่งที่ถูกต้อง

เคยมีเรื่องเล่าที่ลูกศิษย์ไปเรียนวิชากับอาจารย์พอจะจบแล้ว อาจารย์บอกว่ามีอีกวิชาหนึ่งจะเรียนไหม ทำอะไรก็ได้ให้เป็นทอง ลูกศิษย์ก็บอกว่ามันเป็นทองแล้วอยู่ได้กี่ปี อาจารย์บอกว่าอยู่ได้ 500 ปี ลูกศิษย์ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นผมไม่เรียน อาจารย์บอกว่า ถ้าอย่างนั้น เธอเรียนสำเร็จแล้วกลับได้

ทำไมอาจารย์จึงบอกว่าจบแล้ว อาจารย์ต้องการจะทดลอง ลูกศิษย์ ถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เรียน ลูกศิษย์ก็บอกว่า ทำไปแล้วถ้ามันเป็นทองไป 500 ปี มันก็กลายเป็นเหล็ก ตอนอีก 500 ปี ไม่รู้มันไปอยู่ในมือใคร ทองมันเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย ถ้าไปอยู่ในมือใคร คนนั้นจะขาดทุนแย่ เพราะทองกลายเป็นเหล็กไป

อาจารย์ก็มองเห็นคุณธรรมของลูกศิษย์ว่ามีคุณธรรมสูง และมองเห็นการณ์ไกล ไม่ได้มองแค่ปีนี้ ถ้ามีวิชาความรู้อย่างนี้และมีคุณธรรมอย่างนี้ ก็ใช้ได้ตรงกับที่เราสวดมนต์สรรเสริญพระสังฆคุณที่ว่า วิชฺชา จรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐฺ เทวมานุเส ขตฺติโย เสฏฺโฐฺ ชเนตสฺมึ เย โคตตปฏิสาริโน

ในบรรดาคนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร ยังถือโคตรอยู่ ผู้ที่เป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด แต่คนที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ประเสริฐทั้งในเทวดาและมนุษย์ อย่างท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกพูดอยู่เสมอว่า ธรรมต้องเหนือเทพ คนบูชาเทพกันมาก แต่เทพก็ต้องยอมให้แก่ผู้มีธรรม .


ที่มา - www.ruendham.com


พิธีตักบาตรเทโว (วันพระเจ้าเปิดโลก)

มีปรากฎในอรรถกถาธรรมบทว่าในขณะนั้นพระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ในนครสาวัตถี พรรษาที่ ๒๕ ผู้คนในชมพูทวีปหันมาเลื่อมในพระพุทธศาสนาทำให้นักบวชของศาสนาอิจฉา เพราะเขาเหล่านั้นเดือดร้อนในการขาดผู้ค้ำจุนดูแลและขาดลาภสักการะ จึงทำการกลั่นแกล้งพระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ

โดยเฉพาะในเรื่องฤทธิ์พระองค์และเหล่าสาวกของพระองค์เองศาสนาอื่นปลุกปั่นจนพระองค์ทรงห้ามเหล่าสาวกทั้งหลายแสดงฤทธิ์ พระองค์ก็งดแสดงฤทธิ์เช่นกัน จึงทำให้ศาลามีจุดที่จะทำให้ศาสนาอื่น เช่น อาจารย์ทั้ง ๖ และศาสนาเชน ทำการโฆษณาชวนเชื่อว่า พระพุทธศาสนานั้นมีพระพุทธเจ้าและสาวกสิ้นฤทธิ์หมดแล้ว อย่าไปนับถือเลยสู้พวกตนไม่ได้ ยังมีฤทธิ์เหนือกว่า ควรจะมานับถือพวกตนดีกว่า

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ถือขืนปล่อยไว้เฉยต่อไป โดยไม่ตอบโต้บ้าง อาจเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนา ดังนั้นวันเพ็ญอาสาฬหะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นคู่ ๆ ซึ่งก็มีปรากฎเพียงครั้งเดียว ในครั้งนั้นทำให้ผู้คนที่เคลือบแครงสงสัยหันมานับถือศาสนาอย่างมั่นคงอีกครั้ง

ในวันรุ่งขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าทรงประกาศจำพรรษาที่สรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทำกันมาเมื่อลาพระพุทธเจ้าทรงลาบริษัทแล้วก็เสด็จไป ณ ดาวดึงส์เทวโลกเพื่อโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม ๗ พอครบเวลา ๓ เดือนของการโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ในวันเพ็ญเดือน ๑๑ ก็เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ณ ที่ประตูเมือง สังกัสสนคร

ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยบริวารตามลงมาเสด็จทางบันใดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพ พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์บรรดาลให้โลกทั้ง ๓ มี เทวโลก , มนุษย์โลก , สัตว์นรก มองเห็นกันทั้งหมด จึงเรียกวันนั้นว่า วันพระเจ้าเปิดโลกพอวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ผู้คนในชมพูทวีปพากันมาใส่บาตรพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

การตักบาตรในครั้งนั้นไได้นัดหมายกันมาก่อนเลยต่างคนก็ต่างมาด้วยศรัทธาจึงทำให้คนมามากมาย เมื่อมีมามากทำให้ไม่ถึงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จึงเอาข้าวของตนห่อหรือปั้นเป็นก้อน โยนใส่บาตรพระด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลังจึงนิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในวันเทโวณหณะ

พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน

ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ภาคกลาง
จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาตร

สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล

สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒ วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล

ภาคใต้
ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ

ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก กับชักพระทางน้ำ

พิธีชักพระทางบก
จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน " ปัด" คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ๑ - ๒ สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ ๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า)

บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง ๒ ตัวเมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี มีอิสลามร่วมด้วย

พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่าง ๆ ก็จะนำเรือมา ๒ - ๓ ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงาน จะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน

ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน

พิธีรับพระภาคกลาง
พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระ-พุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย

ประเพณีตักบาตรพระร้อย
"ประเพณีตักบาตรพระร้อย" หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต

เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่า หลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตพระร้อยสืบมา

ประโยชน์ของพิธีออกพรรษา
๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป

๒. ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง

จากพิธีออกพรรษา
๑. เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงค์อยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล

๒. การทำบุญออกพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมาอาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

๓. ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูกความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา

๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น