++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สถานภาพการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุไทย

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 16 สิงหาคม 2553 15:17 น.
ต่อให้หัวจิตหัวใจแกร่งกล้าแค่ไหน แต่ด้วยช่วงวัยที่สูงขึ้น ความป่วยไข้ทางร่างกายก็ย่อมบ่อนทอนจิตใจเข้มแข็งลงไป ดังข้อเท็จจริงที่พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลใน 3 กองทุนหลักของประเทศไทย ทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนไม่น้อยเมื่อเทียบกับ ประชากรทั้งหมด

แม้นว่าถึงที่สุดแล้วผู้สูงอายุเหล่านั้นจะยังคงมีจิตใจแข็งแกร่ง เหมือนสมัยหนุ่มๆ สาวๆ แต่ทว่าท้ายสุดก็ต้องไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะทนโรคร้ายหลายหลากรุม เร้าร่างกายไม่ไหว

ในจำนวนประชากรทั้งสิ้น 62.2 ล้านคนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ 3 กองทุนในปี 2552 นั้นเป็นผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 13 โดยกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 25 ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และมีอัตราเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 13 ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

นั่นทำให้ผู้สูงอายุไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางชุมชนและสังคมเนื่อง จากร่างกายอ่อนแอ ขาดสวัสดิการสังคมรองรับ และไร้รายได้ทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงและใช้บริการรักษาพยาบาลจาก 3 กองทุนที่เกี่ยวกับสุขภาพได้ค่อนข้างดี ถึงแม้นว่าในจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิการรักษาทั้งสิ้น 7,408,341 คน หรือร้อยละ 94.2 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศในปี 2551 จะมีผู้สูงอายุมากถึง 95,476 คน หรือร้อยละ 1.3 ยังคงไร้หลักประกันสุขภาพใดๆ (สิทธิว่าง) อยู่ หากก็มาจากการสิ้นสภาพการใช้สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจหรือสิทธิประกัน สังคมแล้ว แต่ยังไม่แสดงความจำนงใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพเมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัย 80 ปีขึ้นไปไร้หลักประกันสุขภาพสูงสุด

นอกเหนือจากนั้นก็เป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพจำนวนสูง สุด 5,909,828 คน หรือร้อยละ 79.8 รองลงมาเป็นสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 1,252,384 คน หรือร้อยละ 16.9

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในย้อนหลังตั้งแต่ปี 2549-2552 พบว่าอัตราการใช้บริการในแต่ละกลุ่มโรคค่อนข้างคงที่ โดยโรคร้ายที่รุมเร้าผู้สูงอายุจนต้องนอนโรงพยาบาลสูงสุดคือโรคระบบไหลเวียน โลหิต โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นตามอายุ รองลงมาคือโรคระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ ส่วนโรคในกลุ่มเนื้องอก เช่น มะเร็ง โรคตา และโรคต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวานจะมีอัตราการใช้บริการลดลงตามอายุ ซึ่งผู้สูงอายุหญิงจะเจ็บป่วยสูงกว่าผู้สูงอายุชายทุกโรค โดยผู้สูงอายุ 70-79 ปีเจ็บป่วยในทุกโรคสูงสุด รองลงมาเป็นผู้สูงอายุ 60-69 ปี และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปน้อยสุด ยกเว้นโรคเบาหวานที่เป็นในผู้สูงอายุ 60-69 ปีสูงสุด

นอกจากนั้นผู้สูงอายุยังประสบอาการบาดเจ็บจากภายนอกเสมอๆ ดัง 5 อันดับแรกในปี 2551 ที่พบว่าผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มสูงสุดเนื่องจากภาวะความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะตาที่มีปัญหาในการมองเห็น รองลงมาเป็นถูกกลไกที่ไม่มีชีวิต อุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานยนต์ สัมผัสกับสัตว์หรือพืชมีพิษ และการรักษาทางศัลยกรรมและอายุรกรรมที่ทำให้เกิดความผิดปกติ

ที่สำคัญ เมื่อผู้สูงอายุหกล้มราวร้อยละ 50 จะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หรือไม่ก็เกิดภาวะพิการเรื้อรังตามมา และมีชีวิตอยู่ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชาย

ปัจจุบัน แม้จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุยังคงเป็นส่วนน้อยอยู่เมื่อเทียบกับประชากร ทั้งประเทศ ทว่าอัตราและสัดส่วนการใช้บริการด้านรักษาพยาบาลก็อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจะกระทบการเงินและระบบบริการสุขภาพในที่สุด ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีภาระทางการเงินในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุตามสัดส่วนและ การใช้บริการของผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน

ดังตัวเลขปี 2552 ที่พบว่าในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนผู้ป่วยในสูงอายุถึง ร้อยละ 52 ของผู้ป่วยในทั้งหมด คิดเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 63 ของค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยในทั้งหมด ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้ป่วยในสูงอายุร้อยละ 24 ของผู้ป่วยในทั้งหมด คิดเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยในทั้งหมด ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีผลกระทบทางการเงินไม่มากนักเนื่องจากมีผู้สูงอายุ เพียงร้อยละ 1 ของผู้ประกันตนทั้งหมด

ที่สำคัญในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ มากถึง 2 เท่าของค่าเฉลี่ยประเทศและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้รัฐบาลอาจ แบกรับภาระหนักหนานี้ไม่ไหว ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยในและใช้สิทธิบัตร ประกันสุขภาพมหาศาลในแต่ละปี เฉพาะปี 2551 ภาครัฐก็เสียค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยในไปถึง 16,976,263,090 บาท จากผู้ป่วยสูงอายุ 1,273,708 คน หรือเฉลี่ยค่ารักษาคนละ 13,328 บาท

ทั้งนี้ ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่สูงนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ช่วงวัยนี้มีการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น อีกทั้งการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต (End of Life Care) เป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของค่าใช้จ่ายในการดูแลในช่วง สุดท้ายของชีวิตนั่นเอง โดยค่าใช้จ่ายต่อปีของผู้สูงอายุที่มารับบริการแบบผู้ป่วยในที่ไม่เสียชีวิต ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตประมาณ 4 เท่า ถึงแม้ว่าอัตราใช้บริการผู้ป่วยในจะสูงในกลุ่มเด็กแรกเกิด แล้วลดลงตามอายุ ก่อนกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน แต่โดยภาพรวมแล้วอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในของประชากรไทยช่วงปี 2549-2552 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 70-79 ปีมีอัตราการใช้บริการสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป

เหนืออื่นใดผู้สูงอายุที่กลายสถานะเป็นผู้ป่วยในเหล่านี้ไม่ได้เป็น ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจที่มีสวัสดิการสุขภาพหรือร่ำรวยจนมีเงินออมมากพอจะ จ่ายค่ารักษาพยาบาลแสนแพงแต่อย่างใด

ดัง ข้อเท็จจริงของสังคมไทยที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้น การเร่งคุ้มครองสุขภาวะผู้สูงอายุตามเจตนารมณ์มาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพได้รับสวัสดิการด้าน การรักษาพยาบาลอย่างสมศักดิ์ศรีจากรัฐ จึงจำเป็น เท่าๆ กับการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เน้นการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ และผู้ให้บริการมีความสุข อย่างเคร่งครัดจริงจัง เพราะจะไม่ก่อเกิดการหวาดระแวงระหว่างแพทย์กับคนไข้จนนำไปสู่การฟ้องร้อง

เมื่อผู้สูงอายุเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยความสุขใจมั่นใจ ก็จะทำให้วันเวลาที่ต้องสวมยูนิฟอร์มคนไข้หัวใจไม่ห่อเหี่ยวทุกข์ทรมานมาก เกินกว่าอาการของโรค ถึงเฉลี่ยแล้วผู้สูงอายุ 60-69 ปีจะต้องนอนโรงพยาบาล 4.92 วัน อายุ 70-79 ปีนอน 5.22 วัน และอายุ 80 ปีขึ้นไปนอน 6.77 วัน โดยภาวะปัญญาอ่อน (Mental retardation) เป็นโรคที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนนานสุดเฉลี่ย 170.67 วัน

ส่วนโรคเบาหวานและไตวายทำให้ผู้สูงวัยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน เฉลี่ยไม่เกิน 5 วัน ขณะความดันโลหิตสูงซึ่งผู้สูงอายุป่วยสูงสุดอันดับ 1 ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยไม่เกิน 3 วัน

สุขภาวะที่ดีขึ้นของผู้สูงวัยในยามป่วยไข้ภายใต้การบริหารจัดการของ 3 กองทุนข้างต้นจึงนับเป็น ‘จุดคลิก’แรกในการถักถ้อยร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการ สาธารณสุขให้กลับมากระชับแนบแน่น จน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายประหัตประหารกันหรือทำลายศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ระหว่างกัน

สถานภาพ การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุไทยใน 3 กองทุนหลักที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพจึงเป็นหนึ่งรูปธรรมที่ท้าทายรัฐบาลว่า ได้ทุ่มเทงบประมาณและศักยภาพทั้งมวลที่มีเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและ สวัสดิการคนไทยอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น