++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

บ้านขวาง...กำแพงขวางการร้องเรียน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขวาง อ.มหาราช จ.อยุธยา

เรียบเรียงโดย ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลออ

            "บ้านขวาง" เป็นตำบลเก่าแก่ อยู่ในกรุงเก่า อยุธยา ชื่อนี้มาจากน้ำในลำคลองบางแก้ว ที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านขวางหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อว่า "ตำบลบ้านขวาง" จากการที่พื้นที่มีน้ำท่าถึงตลอด ประชาชนมีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่ และประกอบอาชีพเสริม
            เมื่อทำนา ทำไร่ มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เรื่องปากท้องไม่ขัดสน เรื่องสุขภาพก็ได้รับความใส่ใจจากหน่วยงานในชุมชนตามมา
            แต่เดิมตำบลบ้านขวาง มีโครงการบ้านขวางแข็งแกร่งซึ่งมีแพทย์เป็นผู้ดูแล และชาวบ้านร่วมมือช่วยเหลืองานโครงการเป็นอย่างดี ส่วนราชการระดับจังหวัดจึงต้องการให้โครงการมีความต่อเนื่อง จึงเสนอตำบลนี้เข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อให้มีทุนจากภายนอกชุมชน เข้ามาสนับสนุนการทำงานด้านสุขภาพได้ยั่งยืนอีกแรงหนึ่ง

            เมื่อเริ่มต้นกองทุนฯ คณะกรรมการกองทุนฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เข้าใจแนวการดำเนินงานของกองทุนฯ นัก อาจจะเปรียบได้กับเด็กที่เพิ่งหัดเดิน โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายเงินเป็นปัญหาหลัก เพราะฝ่ายบริหารยังไม่เข้าใจชัดเจน จึงไม่กล้าที่จะเบิกจ่าย และคณะกรรมการเข้าใจว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ งานจึงไปอยู่ที่สถานีอนามัยฝ่ายเดียว
            แต่เมื่อได้เรียนรู้ร่วมกัน และคณะกรรมการมีความเข้าใจในกองทุนฯ มากขึ้น ประกอบกับทีมงานสถานีอนามัยซึ่งเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับสุขภาพของคนในชุมชนช่วยผลักดัน งานกองทุนฯ จึงเคลื่อนไปได้ด้วยดี  " ถ้าเราเข้าใจวิธีใช้เงินแล้ว จะทำให้การบริหารง่ายขึ้น ซื้อใจชาวบ้านได้ และลดการร้องเรียนได้"  หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านขวางเล่าอย่างอารมณ์ดี

            "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" ประโยคนี้ยังใช้ได้เสมอ คณะกรรมการจึงได้จัดทำโครงการอบรมด้านสุขภาพแก่นักเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงาน ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ครู และประชาชนทั่วไป โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้วนเป็นฐาน
            การจัดกิจกรรมนั้นต้องทำงานประสานกัน ทั้งครูอาจารย์ ชาวบ้าน เมื่อมีหลายฝ่ายหลายแรงจึงเกิดพลังกลุ่มช่วยผลักดันการทำงานให้เคลื่อนไปได้
            " ถ้าเราจัดเป็นแบบนั่งเรียนชั่วโมงต่อชั่วโมงนั้น วิทยากรที่มาสอน ถ้าสอนเสร็จแล้วก้กลับ สุดท้าย คนที่อยู่ร่วมงานกับเราจริงๆ เหลืออยู่ไม่กี่คน ถ้าเราจัดคนเป็นฐาน ทั้งนักเรียนและวิทยากรอยู่ครบไม่มีหาย" เสียงจากฝ่ายจัดการอบรมกระซิบมา
           
            กรุงศรีอยุธยาไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ความสำเร็จของกองทุนฯ ชาวกรุงเก่า ตำบลบ้านขวางก็ใช่จะได้มาง่ายๆ แต่เป็นไปได้ด้วยกำลังกายใจของผู้ที่ทีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนในชุมชน
            อาจพอสรุปสั้นๆ ได้ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จของกองทุน ได้แก่

  1. การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ เป็นการร่วมมือกันทั้งในส่วนของสถานีอนามัย, ภาคการศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  2. มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
  3. หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุน     

            การเรียนรู้จากการดำเนินงานกองทุนฯ คือ ในการทำงานไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ทั้งหมดในทีเดียว จึงต้องคิดหาทางบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงาน โดยรวบวัตถุประสงค์ของโครงการต่างๆ แล้วจัดทำโครงการหลักที่มีทิศทางตามวัตถุประสค์ร่วมกัน
            มีการเปรียบเทียบกองทุนฯ นี้ว่าเป็น "กำแพงกันข้อร้องเรียน" ของชาวบ้าน ในขณะเดียวกันกองทุนฯ ยังเป็นทั้งกำแพงล้อมความสมานสามัคคีกับชุมชนได้อีกด้วย อย่างนี้ไม่ใช่หรือที่เขาเรียกว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว"


        ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
        จรีย์ สะอิ้ง
        เสน่ห์ ขุนแก้ว
        ทิพาวรรณ สมจิตร
        จีรวัฒน์  เศรษฐบุตร
        วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก นนทบุรี


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น