++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ถอดรหัสอุบัติเหตุรถทัวร์นรก

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


ข้อสรุปง่ายๆ เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมรถโดยสารสาธารณะว่ามาจากความประมาทของคนขับรถเพียงอย่าง เดียวไม่สมเหตุสมผล แม้ข้อมูลกรมทางหลวงจะระบุว่าสาเหตุของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดจากคน ขับรถถึงร้อยละ 75 ก็ตามที เพราะโดยข้อเท็จจริงสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ด้วยเกี่ยวพันกับสภาพถนน มาตรฐานรถ ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่งประจำทาง จนถึงนโยบายระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยในการสร้างเสริมความปลอดภัยผู้ โดยสาร

ในจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกว่า 3 พันครั้ง/ปี หรือเฉลี่ย 1 ครั้งใน 10 วันนั้นจึงมีเหตุปัจจัยมากมายให้ต้องสอบสวน (Accident investigation) มากกว่าการด่วนสรุปว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทุกครั้งคือน้ำมือของคนขับเท่า นั้น เพราะนั่นนอกจากจะเท่ากับเป็นการละเลยรากเหง้าของภูเขาน้ำแข็งที่ซุกซ่อน อยู่ใต้มหาสมุทรมหาศาลราว 9 ใน 10 ส่วนแล้ว ยังหมายถึงการไม่นำพาชีวิตผู้โดยสาร 11-12 ล้านคนที่เดินทางด้วยรถโดยสารในแต่ละปีอีกด้วย เนื่องจากว่าร้อยละ 90 ของรถโดยสารสาธารณะ 8.5 พันคันที่วิ่งอยู่บนถนนในปัจจุบันนี้เป็นรถร่วมบริการที่มีอัตราการเกิด อุบัติเหตุสูง เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่า ชีวิตผู้โดยสารกว่า 10 ล้านคนจึงตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกจะเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาออกใบ อนุญาตประกอบการขนส่งเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางได้รับ ความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาระบบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารให้สามารถแข่งขันกับบริการ ขนส่งสาธารณะระบบอื่นที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างทัดเทียม โดยกำหนดกฎระเบียบให้ผู้ยื่นขออนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดทำข้อมูล ข้อเสนอ และแผนงานต่างๆ ตั้งแต่สภาพของรถ การเป็นเจ้าของรถ แผนงานด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม สถานที่เก็บ ซ่อมและบำรุงรักษารถ จุดพักรถต้นทางและปลายทาง แผนการให้บริการ แผนการบริหารจัดการและการจัดการเดินรถ แผนด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับตัวรถและผู้โดยสาร ถึงฐานะความมั่นคงของผู้ขอ

หากทว่าท้ายที่สุดแล้วกฎระเบียบข้างต้น ตลอดจนเงื่อนไขในการเดินรถอื่นๆ อาทิ ราคาค่าโดยสาร จำนวนเที่ยวขั้นต่ำต่อวัน จำนวนรถ และมาตรฐานรถ ต่างถูกหลบเลี่ยงโดยผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบบางส่วน กระทั่งนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมรุนแรงต่างๆ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ทั้งในช่วงเวลาปกติและเทศกาลปีใหม่ไทยและสากล

อุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะที่แต่ละครั้งคร่าชีวิตผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยจึงถูกรายงาน ผ่านสื่อมวลชน ‘ทั้งปี’ ควบคู่มากับอาการหวาดผวา ‘ทุกครั้ง’ ของประชาชนคนไทยที่ส่วนใหญ่ต้องใช้บริการรถโดยสารเพราะฐานะยากจนจนการเดิน ทางด้วยรถโดยสารเป็นทางเลือกเดียวที่สามารถเข้าถึงได้ แม้นจะตระหนักรู้ถึงฉายาสุดแสนอันตรายและน่ากลัวอย่าง ‘ทัวร์ผี-ทัวร์นรก’

แต่ถึงที่สุดแล้วประชาชนคนยากจนก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักเพราะแต่ละ เส้นทางมีบริษัทรถโดยสารให้เลือกไม่มากนักหรือไม่มีเลย แม้นจะประจักษ์แจ้งว่ารถโดยสารที่ตนเองใช้บริการไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ เลยก็ตาม แต่ก็ต้องไปเพื่อให้ถึงที่หมาย ด้วยเหตุปัจจัยนี้ฉายารถทัวร์ผี-ทัวร์นรก ที่สื่อมวลชนและประชาชนมอบให้รถโดยสารไทยจึงจำเป็นต้องทำการ ‘ถอดรหัส’ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่าจะโยนความผิดบาปทั้งหมดแก่คนขับ ดังที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ โดยนำกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดห้วงสงกรานต์มาศึกษาเพื่อพลิกวิกฤตเป็น โอกาสสังคมไทย

สำหรับกรณีโศกนาฏกรรมทัวร์ผีคว่ำตาย 2 เซ่นสงกรานต์ แม้จะพบว่าสาเหตุเสียชีวิตมาจากเก้าอี้หลุดมาอัดก๊อบปี้ทับผู้โดยสาร แต่เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบเงื่อนงำไม่ชอบมาพากลจากการที่รถคันที่เกิด อุบัติเหตุเป็นรถโดยสารปรับอากาศสองชั้นไม่ประจำทางที่ได้ให้เด็กรถไปหาผู้ โดยสารที่ตกค้างตามช่องขายตั๋วได้ 50 ราย ปลายทาง จ.ยโสธร โดยคาดว่าคนขับพยายามแซงรถพ่วง 18 ล้อ จนเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำก่อนไถลชนต้นขี้เหล็ก หลังเกิดเหตุคนขับหลบหนี
กรณีนี้ถึงความประมาทของคนขับจะเป็นสาเหตุหลัก หากแต่การวิเคราะห์สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญก็ทำให้การฝากชีวิตไว้กับรถ โดยสารสาธารณะครั้งต่อๆ ไปของผู้โดยสารคนต่อๆ ไปในรถเส้นทางนี้และเส้นทางอื่นๆ ก่อคุณูปการยิ่งยวด ด้วยจะเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะและระบบขนส่งสาธารณะ ของประเทศไทยได้ เพราะ

1) การวิเคราะห์ที่พิจารณาสภาพถนน วัตถุข้างทาง เช่น ต้นไม้ และตัวรถที่สูงสองชั้น ร่วมกับปัจจัยด้านพนักงานขับรถ ได้ทลายมุมมองที่คับแคบลง 2) ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่มี 2 รายเสียชีวิตเนื่องจากเก้าอี้นั่งหลุดมาอัดก๊อบปี้นั้นเป็นเพราะเก้าอี้ที่ ยึดกับโครงสร้างตัวรถ รวมทั้งเข็มขัดนิรภัยของรถคันดังกล่าวด้อยมาตรฐาน ทั้งๆ ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการลดการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตเมื่อรถพลิกคว่ำ ได้สูงถึงร้อยละ 75

การสอบสวนอุบัติเหตุที่ไม่ได้แค่พุ่งเป้าไปที่คนขับได้สะท้อนความ เห็นแก่ได้ของผู้ประกอบการ และความล้มเหลวของระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยจนเด่นชัด ถึงแม้คนขับจะหลบหนีไปตามระเบียบก็ตามที ดังที่ นพ.ธนะพงศ์ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ดังนี้

1) คนขับรถอาจอ่อนล้าจนตัดสินใจและควบคุมรถผิดพลาด เพราะโดยทั่วไปรถเสริมหรือรถทัศนาจรมักมีพนักงานขับรถแค่คนเดียว ขณะที่ระยะทางจากกรุงเทพฯ-ยโสธร ยาวกว่า 600 กิโลเมตร จำเป็นต้องมีคนขับสำรอง และระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามขับต่อเนื่องเกิน 8 ชั่วโมง โดยทุก 4 ชั่วโมง ต้องพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงและรวมกันไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน รวมถึงคนขับอาจพักผ่อนไม่พอเพราะเป็นช่วงเทศกาล ‘งานเข้า’ รายได้ดีจากการรับงานติดๆ กัน ต้องเร่งทำเวลา

2) คนขับรถที่หลบหนีมีใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ได้มาอย่างไร ถ้าลักลอบเข้ามาในระบบก็อาจไปอยู่บริษัทอื่นแทน ระบบตรวจสอบคัดกรองก่อนรับเป็นพนักงานขับรถรองรับปรากฏการณ์นี้หรือไม่ และถ้าคนขับประสบอุบัติเหตุอันเนื่องจากความประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้โดยสาร บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตจำนวนมากจะมีมาตรการจัดการอย่างไร

3) รถสองชั้นเสี่ยงพลิกคว่ำสูง ยิ่งมีการเปลี่ยนทิศทางขณะใช้ความเร็วสูงและมีระยะกระชั้นชิดด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็จะสูงยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

และ 4) สภาพรถอาจไม่พร้อม เพราะข้อมูลไม่ได้ระบุว่ารถคันนี้มีการตรวจสภาพครั้งสุดท้ายเมื่อใด โดยระเบียบของกรมการขนส่งทางบกกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะต้องเข้ารับการตรวจ สภาพ 2 ครั้ง/ปี ที่สำคัญถ้าผ่านการตรวจสภาพจริง เหตุใดเมื่อรถคว่ำจึงมีเก้าอี้หลุดจากที่ยึดเกาะ หรือที่จริงแล้วระบบการตรวจสภาพรถไม่มีการตรวจความแข็งแรงของโครงสร้างและ การยึดเกาะของเก้าอี้ จนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุแต่ละครั้งมีผู้โดยสารบาดเจ็บเสียชีวิต จำนวนมาก

คำถาม ข้อวิเคราะห์ และสมมติฐานเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการ ‘ถอดรหัสอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ’ ที่มีความสลับซับซ้อนของเหตุปัจจัย ช่วยให้เห็นภูเขาน้ำแข็งที่เป็นรากเหง้าของวิกฤต เท่าๆ กับทำลายมายาคติว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทั้งหมดมาจากคนขับเท่านั้น

ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงกลับสวนทางเมื่อพนักงานสอบสวน โจทก์ที่เป็นเหยื่อผู้สูญเสีย หรือแม้แต่สื่อมวลชนกลับมองข้ามข้อเท็จจริงหรือละเลยการวิเคราะห์เชิงโครง สร้างหรือตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ระบบเหล่านี้ สุดท้ายคดีจึงมักจบลงที่การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ของคนขับ พร้อมๆ กับการประนีประนอมยอมความของผู้ประสบอุบัติเหตุที่ถูกล็อบบี้โดยเจ้าของหรือ ตัวแทนผู้ประกอบการขนส่ง หรือไม่ก็ตัวแทนบริษัทประกันภัยที่ใช้ทักษะการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อจบปัญหา อันเนื่องจากความไม่รับผิดชอบชีวิตทรัพย์สินของผู้โดยสารด้วยเงินน้อยนิด

ดัง นั้น ตราบใดสังคมไทยทุกภาคส่วนยังไม่ช่วยกันถอดรหัสอุบัติเหตุให้ลึกถึงรากฐานของ ปัญหา ทางออกของวิกฤตการณ์โศกนาฏกกรรมรถโดยสารสาธารณะที่ทำได้ก็คงแค่ดำเนินคดีกับ คนขับรถ และถูกข่าว ‘รถทัวร์ผี-ทัวร์นรก’ หลอกหลอนไม่รู้จบ

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น