++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

สวัสดิการวันละ 100 บาท จากส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ถึงแม้ว่า ไทรย้อย จะจัดเป็นชุมชนขนาดเล็ก แต่ก็แบ่งเขตในการดูแลได้ 17 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 9,044 คนหรือ  2,650  ครัวเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกร
            นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายก อบต. มีแนวคิดหลักในการทำงานดังนี้ "เน้นความสามัคคี ทั้งผู้นำ หมอ ครู กำนัน  ควรทำงานร่วมกันได้ ในการทำงาน ต้องไม่เป็นใหญ่กว่าเขา พยายามทำความเข้าใจในทุกเรื่อง ไปงานของชุมชนสม่ำเสมอ"

            "เดิม อบต.จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้าง แต่ปัจจุบันถนนหนทางก็สร้างจนเกือบเต็มพื้นที่แล้วจึงต้องหันมาดูแลสุขภาพของประชาชนบ้าง" นายก อบต.กล่าว
            โครงการที่ได้จัดทำในช่วงแรกนั้น มีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณ และระเบียบในการใช้เงิน ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำโครงการระหว่าง อบต.กับสถานีอนามัย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้าใจระเบียบในการใช้เงินของกองทุนฯ จึงไม่กล้าตัดสินใจที่จะใช้เงิน
           
            ในระยะต่อมา การทำงานเน้นคุณภาพของโครงการมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาที่แท้จริง และมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับคนภายนอกองค์กรมากขึ้น เช่น การไปดูงานที่สถานีอนามัยนาบัว สถานีอนามัยอื่นนอกพื้นที่ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลวิธีการทำงานซึ้งกันและกัน
            โครงการที่กองทุนฯ ได้ดำเนินการแล้ว นายก อบต. คิดว่าน่าพอใจ คือ
            "พอใจ โครงการชดเชยการเข้ารับการรักษาพยาบาล เพราะประชาชนโหวตให้ทำ ที่สำคัญคือ เป็นการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีสวัสดิการ ถ้าเจ็บป่วยจะขาดรายได้"
           
            โครงการชดเชยการเข้ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในวันละ 100 บาท  เป็นโครงการที่ส่วนหนึ่งของรายได้มาจากการระดมทุนจากคนในชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการ ในปีแรกต้องจ่าย 24 บาทต่อคนต่อปี ต่อมามีข้อตกลงใหม่เปลี่ยนเป็น 36 บาทต่อคนต่อปี สิทธิประโยชน์ของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ คือ จะได้รับเงินชดเชย 100 บาทต่อคนต่อวันแต่ไม่เกิน 7 วันต่อการเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลต่อครั้ง

            ยังมีโครงการอื่นอีกใน อบต.ไทรย้อยที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น โครงการจัดซื้อชุดปฐมพยาบาลและยาสามัญประจำบ้าน, โครงการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง , โครงการจัดหาบุคลากรเพิ่มเติม, โครงการบ้านน่าอยู่ สุขาน่าใช้ ชุมชนน่าอาศัย และ โครงการจัดทำแผนชุมชน
            สิ่งที่ทำให้โครงการใน อบต.ไทรย้อยพัฒนาสู่ความสำเร็จนั้น มาจากภาวะของผู้นำที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักมอบหมายงานให้เหมาะสมกับคน รู้จักให้เกียรติผู้อื่น
            ดังที่ นางสุดใจ ชมพูมี รองนายก อบต.ไทรย้อย ได้กล่าวไว้

            " ทุกครั้งที่มีการประชุมของ อบต. นายกจะเชิญกำนันเข้าร่วมประชุมด้วย ให้ความสำคัญ ให้เขารู้สึกว่า เราเป็นผู้รับใช้เขา สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน"
            และการมีทีม อสม. ที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาสุขภาพ ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัด คือ อสม.ที่ อบต.ไทรย้อย นั้น มีรางวัลการันตีคุณภาพอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฃ
            นายไพฑูรย์ พรรณนา เป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติในปี 2544-2545
            นายจรัญ ต่วนตาด เป็น อสม.ดีเด่นการป้องกันควบคุมไข้เลือดออกระดับเขต ปี 2547-2548
            นางสุดใจ ชมพูมี เป็น อสม.ดีเด่นการจัดการสุขภาพระดับจังหวัด ปี 2548-2549
            ซึ่งการมี อสม.ที่มีคุณภาพดังกล่าว ได้สะท้อนถึงความโดดเด่นของผลงานของตำบลไทรย้อยเช่น บ้านผารังหมีหมู่ที่ 3 ได้รับการคัดเลือกเป็น หมู่บ้านต้นแบบทางด้านส่งเสริมสุขภาพ
           
            การทำงานเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน ที่เกิดจากตัวของคนในชุมชนเองนั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าความเข้าใจใดๆ เช่นเดียวกับ ต.ไทรย้อย ที่คนในชุมชนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับรายได้ที่ขาดหายไปเมื่อเจ็บป่วย ดังนั้น สิ่งที่คนในชุมชนนี้ร่วมกันสร้างขึ้นคือ สวัสดิการสำหรับคนที่เจ็บป่วยแล้วขาดรายได้ เพราะประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยากจนและไม่มีสวัสดิการ แค่ได้รับเงินวันละ 100 บาท ในขณะที่เจ็บป่วย ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้เกิดความสบายใจได้
            และนี่เป็นการสร้างสุขภาพด้านการรักษาพยาบาลแบบมีส่วนร่วมของชุมชนไทรย้อย จากสสัวดิการวันละ 100 บาท

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.ประจวบ แหลมหลัก
วสส.พิษณุโลก


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น