++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หม่องยิ้ม - สามล้อพม่า (๑)

ชัยชนะ โพธิวาระ

            ประเทศใดจะผลิตสามล้อขึ้นใช้เป็นชาติแรกของโลกผมไม่ทราบเหมือนกัน รู้เพียงว่าพอโตขึ้นมาก็มีสามล้อให้นั่งเรียบร้อยแล้ว และเมื่อมีโอกาสไปต่างประเทศที่อยู่ในแถบอาเซียด้วยกัน ก็พบว่า ประเทศเหล่านั้นล้วนมีสามล้อใช้เหมือนบ้านเรา

            จะผิดแผกแตกต่างก็เฉพาะรูปทรงเท่านั้น
            หลังจากพิจารณาดูอย่างถ้วนถี่แล้ว ผมก็เห็นว่าสามล้อไทยแข็งแรงที่สุด เพราะเราผลิตออกมาด้วยรูปแบบมาตรฐานเพื่อสำหรับบริการผู้โดยสารจริงๆ

            แต่ถ้าเป็นสามล้อรูปทรงก้าวหน้าแล้ว ผมกลับยกให้แขกไป เพราะอาบังแกมีสามล้อตู้ด้วย ดูเผินๆนึกว่ารถขายไอติม แต่พอพิศดูดีๆจึงรู้ว่านั่นเป็นสามล้อ มีหน้าต่างเล็กๆและภายในบรรทุกเด็กนักเรียนแบบรถตู้บ้านเราซะด้วย
            เห็นอาบังแกโหย่งก้นปั่นสามล้อตู้จนน่องโป่งแล้วก็เก๋ไปอีกแบบ
   
            ส่วนสามล้อมาเลเซียนั้น ตะแกเอาที่นั่งไปติดไว้ด้านข้างยังกะสามล้อของพวกทหารเยอรมัน เพียงแต่อาบังมาเลย์ไม่สร้างแข็งแรงขนาดนั้น เจอมอเตอร์ไซต์วิ่งผ่ากลางก็แยกเป็นสองทางตัวใครตัวมันทันที

            สไตล์สามล้อที่ผู้โดยสารนั่งด้านข้างนี้ ผมยังไปเจอที่พม่าอีกแห่งหนึ่ง และรู้สึกว่าคุณหม่องแกจะทำที่นั่งของผู้โดยสารหยาบกว่าสามล้อมาเลเซียอีก เพราะใช้กระบะไม้ติดล้อผูกเข้ากับด้านข้างจักรยานเท่านั้นเอง

            จึงมีบ่อยครั้งถีบๆไปที่นั่งก็หลุดแซงคนถีบ เล่นเอาผู้โดยสารบนนั้นกระโจนหนีเป็นพัลวันก่อนที่มันจะบวกกับสิบล้อที่วิ่งสวนมา

            จากลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้หลายคนบอกว่าถ้าจะดูนิสัยนักขับของชนชาติต่างๆว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องดูที่ลักษณะของสามล้อ
            อย่างเมืองไทยคนถีบอยู่ด้านหน้า ผู้โดยสารอยู่ด้านหลัง เรื่องนี้ผู้สันทัดกรณีวิจารณ์ว่า สามล้อไทยใจนักเลงและเป็นผู้เสียสละ

            เรื่องนี้มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่ยกให้สามล้อไทยใจกล้าก็เพราะคนถีบอยู่ข้างหน้าเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นก็โดนก่อน อย่างบวกกับสิบล้อ คนถีบก็เรียบร้อยก่อนผู้โดยสาร (แต่ผมว่า เรียบร้อยด้วยกันนะ ขนาดรถเมลใหญ่ๆ เจอสิบล้อยังไม่เหลือ)
            ส่วนสิงคโปร์นั้น ขี้ขลาดเห็นแก่ตัว (ผู้สันทัดกรณีว่านะ ไม่ใช่ผม เพราะฉะนั้นใครไม่ชอบใจก็ไปด่าผู้สันทัดกรณีเองละกัน)

            ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะสามล้อที่นั่นให้ผู้โดยสารนั่งหน้าส่วนคนถีบอยู่ด้านหลัง เวลาเกิดอะไรมาก็ขอเอาหน้าผู้โดยสารรับไว้ก่อนซึ่งแค่เบาะๆ ก็หน้าแหกละครับ แต่ถ้าหนักก็เละเป็นหมูบะช่อ
            สำหรับคนมาเลเซียยึดถือความเสมอภาคเป็นหลัก คือ คนถีบและผู้โดยสารไปพร้อมกัน ดังนั้นเวลาถูกหวยก็ม้วยพร้อมกัน
            พม่าก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับมาเลย์ เพราะให้ผู้โดยสารนั่งข้าง จะแตกต่างก็ตรงที่สามล้อมาเลย์ผู้โดยสารอยู่ด้านซ้ายคนถีบอยู่ขวาเพื่อความสะดวกในการขึ้นลง ส่วนพม่าคนถีบอยู่ซ้ายให้ผู้โดยสารอยู่ด้านกลางถนน เกิดเฉี่ยวชนขึ้นมาผู้โดยสารก็โดนก่อน

            ผมไปถึงร่างกุ้งวันแรกก็มองหาสามล้อเพื่อจะเอามาเขียนให้แฟนๆต่วยตูนอ่าน ปรากฏว่าไม่เจอเลยจนต้องถามคนขับแท็กซี่ว่าประเทศนี้มีสามล้อกันหรือเปล่า
            "มี แต่ไม่เป็นที่นิยม"               
            "ทำไมล่ะ" ผมถาม
            "เพราะไม่จำเป็นน่ะซียู คนพม่าส่วนใหญ่มีจักรยานใช้ส่วนตัวจึงไม่จำเป็นต้องนั่งสามล้อให้เสียเวลา"
            "ก็ถ้าไม่มีจักรยานล่ะ?"
            "เดินน่ะซี ประหยัดกว่าตั้งแยะ"
           
            เออ ก็จริงของเขาแฮะ เพราะเท่าที่ดูตามถนนหนทาง มีคนเดินกันขวักไขว่ไม่ยักมีใครนั่งสามล้อเต๊ะจุ๊ยเหมือนบ้านเรา
            เมื่อคนไม่ชอบนั่ง กิจการด้านสามล้อก็เลยซบเซาจนแทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่มิว่าเมืองใหญ่เมืองเล็กก็ตาม
           
            อย่างมัณฑเลย์ที่ผมไปก็พบว่า คุณหม่องที่นั่นนั่งรถม้ากันหมดขนาดบางคนมีรถม้าแบบสปอร์ตส่วนตัว (จะเป็นอย่างไรเอาไว้คราวหน้าดีกว่า เพราะถ้าเขียนปนกันไปมาใครไม่รู้จะหาว่า ผมมั่วจับโน่นชนนี่และที่สำคัญคือ ได้ค่าเรื่องครั้งเดียว แต่ถ้าแยกเป็นตอนๆไปก็มีโอกาสไถพี่ต่วยได้หลายตังค์ เพราะฉะนั้น เพื่อความสุขความเจริญของตนเองจึงต้องขยักเอาไว้คราวหน้า  ฮ่า)
           
            จึงเป็นอันว่า นานๆจะมีคนบ้ามานั่งสามล้อสักที ทำให้พวกสารถีทั้งหลายต้องหันไปอาศัยชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในพม่า
            โดยเฉพาะพวกฝรั่งฮิ้ปปี้
            คนพวกนี้จะพยายามประหยัดอย่างที่สุด ที่พักก็อยู่ในเกสเฮ้าท์ราคาถูกๆ กินข้าวก็ร้านริมถนน เวลาไปไหนมาไหนก็เดินจนขาถ่าง เอาไว้ตอนเมื่อยจนหน้ามืดไปไหนไม่ไหวจริงๆจึงยอมนั่งรถ
            ถ้าเป็นเมืองไทยก็ไม่พ้นตุ๊กๆ เพราะราคาถูกดี

            แต่ที่พม่าต้องสามล้อครับ
            ด้วยเหตุนี้ หลังโรงแรมซึ่งมีชาวต่างชาติมาพักมากจึงมีสามล้อจอดคอยบริการ เช่น โรงแรมสเตรนด์ เป็นต้น
   
            (อ่านต่อตอนที่ ๒)

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น