++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สังคมต้องการ "สันติวิธี" หรือต้องการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไปสู่ "สันติ"?

โดย สุจิตรา 19 พฤษภาคม 2553 14:42 น.
คงเป็นที่ยอมรับของสากลโลก ทั้งโลกในอดีต โลกปัจจุบัน
โลกอนาคตว่าทุกสังคมย่อมต้องการ "สันติ" (Peace)
ถ้ามองในเชิงกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการแล้ว "สันติ"
ที่ว่านี้มีสถานะเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ

ในกระบวนการรักษาของแพทย์นั้น
แพทย์รักษาผู้ป่วยก็ต้องเริ่มจากวิธีที่ง่าย ต้นทุนการรักษาต่ำ
เป็นอันตรายน้อย เช่น การจัดให้กินยาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ถ้าวิธีการดังกล่าวไม่ได้ผล
แพทย์ผู้ทำการรักษาก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาไปยังวิธีที่ซับซ้อนขึ้น
ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรืออาจเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง
จนไปสู่การผ่าตัดที่แม้จะเป็นวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อน
แม้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด ความเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อไปสู่การหายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่
เพื่อกลับสู่สุขภาวะปกติของผู้ป่วย
ซึ่งเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ทุกคนต้องการ

เช่นเดียวกัน วิธีการเพื่อไปสู่สังคม "สันติ"
ได้นั้นก็มีหลากหลายวิธี
นับแต่การตักเตือนของเจ้าหน้าที่ในกรณีจอดรถในที่ห้ามจอด
การเจรจาเพื่อตกลงในการปัญหาชายแดน
การปรับสถานบริการในกรณีที่สถานบริการเปิดทำการเกินเวลา
การร้องขอให้เลิกชุมนุมเพราะไปละเมิดตสิทธิผู้อื่น
วิธีการเหล่านี้ล้วนเรียกว่า "สันติวิธี (Peaceful Means or Peaceful
Ways)"

"สันติวิธี" เป็นกระบวนการ (Process) มิใช่ผลลัพธ์สุดท้าย
(Ultimate Outcome) ต่างกับ "สันติ" ที่เป็นผลลัพธ์สุดท้าย

ถ้าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล
เจ้าหน้าที่หรือรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินการโดยการยกระดับมาตรการ
เช่น การออกใบสั่งหรือการล็อกล้อในกรณียังคงจอดในที่ห้ามจอดทั้งที่เตือนแล้ว
การปิดสถานบริการเพราะยังคงขัดขืนเปิดเกินเวลา
การใช้กำลังทหารเข้ากดดันบริเวณชายแดนเพื่อให้อีกฝ่ายถอยไป
การตัดไฟเพื่อมิให้ทำการชุมนุมต่อ แต่ก็ยังคงเป็น "สันติวิธี"

ท้ายที่สุด
ถ้าผู้กระทำผิดกฎหมายยังคงขัดขืนเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายตรงข้ามใช้กำลังรวมทั้ง
อาวุธซึ่งผู้กระทำผิดดังกล่าวอาจมีศักยภาพเพียงพอที่จะมีอาวุธสงคราม
รัฐและเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดตที่จะต้องใช้
กำลังรวมทั้งอาจต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งอาวุธ
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสลายการชุมนุมโดยการใช้แก๊สน้ำตาหรือกระบอง
การใช้กำลังทหารและอาวุธต่อทหารต่างชาติ
การรื้อสถานบริการอย่างถาวรตามคำสั่งศาลหรืออำนาจที่มีอยู่
การวิสามัญฆาตกรรมโจรเพราะมีการยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ เหล่านี้มิใช่
"สันติวิธี" เหล่านี้เป็นการใช้ "กำลัง" แต่เป็นการใช้
"กำลัง"เพื่อให้สังคมไปสู่ "สันติ" เพื่อให้สังคมดำรงได้โดยมีความเสมอภาค
นั่นคือ ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย เป็นนิติสังคมหรือนิติรัฐ
เป็นสังคมที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพราะสังคมจะดำรงได้อย่าง "สันติ"
ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างถ้วนทั่ว

สังคมและคนในสังคมควรที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและแยกแยะให้
ออกระหว่าง "สันติ" และ "สันติวิธี"

ในกรณีผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์นั้น
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายตามนิยามสากล
ไม่ว่าในเรื่องของ (ก) การหวังโค่นล้มอำนาจรัฐ โดย (ข)
การดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ ร่วมกับ (ค) การใช้อาวุธ (ไฟแนนเชียล ไทมส์
ของอังกฤษ รายงานว่า การชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช.
พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า
มีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุมจริง)
และมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนถึง (ง)
การทำร้ายประชาชนทั้งที่เป็นผู้ชุมนุมในกลุ่มตนประชาชนทั่วไปจนถึงชีวิต
(ซึ่งมีข้อมูลมากมายตามโลกอินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนรวมทั้งศูนย์อำนวยการ
แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.) โดย (จ)
มุ่งหวังประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตน

การก่อการร้ายดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการหวังประโยชน์ในการยึดครอง
อำนาจรัฐเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงความพยายามอย่างเด่นชัดในการที่จะโค่นล้มทำลายสถาบันอันเป็นที่
รักยิ่งของปวงชนชาวไทยอย่างเป็นขบวนการตามการเปิดเผยของศูนย์อำนวยการแก้ไข
สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

รัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกขั้นตอนเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิก
การชุมนุมในบริเวณดังกล่าว
รัฐบาลได้ใช้วิธีการตั้งแต่เบาไปหาหนักไม่ว่าในการออกประกาศเตือน
การให้เวลาอย่างเหลือเฟือแก่ผู้ชุมนุม
(จนประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบและทนไม่ได้)
การเชื้อชวนให้ผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา การแจ้งเตือนถึงความผิดตามกฎหมาย
จนนำมาสู่การปิดล้อม
การอธิบายขั้นตอนและอาวุธที่ประจำกายคือปืนไรเฟิลซึ่งจะใช้เพียงเพื่อ
ป้องกันตัวและยิงต่ำ
เพื่อสกัดกั้นมิให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งจะนำความสูญเสียมาก
ยิ่งขึ้นดังเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน 2553

ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม
ได้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงไปแล้ว 35 ราย
ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกระทำโดยกองกำลังที่เป็นที่รับรู้ของสังคมโดยทั่วไปว่า
มีผลประโยชน์และความเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง
และเชื่อว่าทั้งสองกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการซึ่งได้มีการวางแผนและจัด
ตั้งแต่ต้น (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ
นปช.ยอมรับว่าสามารถสั่งการกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ใน
ช่วง 5 วันที่ผ่านมาให้หยุดดำเนินการได้ถ้ารัฐบาลจะเจรจา)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความรุนแรง
รุนแรงในระดับที่รัฐบาลยอมเจรจาและผลการเจรจานั้นย่อมเป็นไปตามที่กลุ่มผู้
ชุมนุมร้องขอ โดยเฉพาะประเด็นการให้ประกันตัวแกนนำ
และเชื่อแน่ว่าจะรวมถึงการนิรโทษกรรมผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ
ทักษิณ ชินวัตร และการยุบสภาสู่การเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต้องการ
ให้เกิดโดยเร็ววัน

ถ้ารัฐบาลยอม "เจรจา"
หรือที่เหล่านักวิชาการเสื้อแดงรวมทั้งสื่อมวลชน 2-3 ฉบับเช่น
"หนังสือพิมพ์มติชน" เรียกร้องและเรียกขานสิ่งนั้นว่า "สันติวิธี"
กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และผู้ก่อการร้ายได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา
มั่นใจหรือว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ "สันติ" สังคมจะ "สันติ"
ได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายได้เกิดการละเมิดเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคน
บางกลุ่มและมีการใช้กำลัง มีการก่อการร้าย
และรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายละเลยหรือไม่บังคับใช้กฎหมายโดยอาศัย
เกราะแห่งความ "กลัว"
เพื่ออรรถาธิบายพฤติกรรมแห่งการละเว้นการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายของตน
จนไปถึงการยอมให้ประกันตัวแกนนำหรือนิรโทษกรรมผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์
ทั้งหมด รวมทั้งการประกาศยุบสภาตามคำขู่ขอซึ่งก็คือการประกาศ
"นับถอยหลัง" การทำงาน

และเป็นการประกาศให้ข้าราชการเริ่มต้น "หยุดทำงาน"
นับแต่วินาทีที่รัฐบาลประกาศการยุบสภา สังคมนั้นจะเป็น "นิติรัฐ"
ได้อย่างไร หรือว่าสังคมที่ป่าเถื่อนโดยมีสมาชิกในสังคมหรือกลุ่มสมาชิกของสังคมนั้นที่
จะดำเนินการอย่างไรก็ได้ตามใจปรารถนาแม้ว่าการกระทำนั้นจะละเมิดสิทธิผู้
อื่นทั้งทรัพย์สินและร่างกายจนถึงชีวิต สังคมนั้นสามารถมีสถานะเป็นสังคม
"สันติ" ได้

ถ้ารัฐบาลยอมที่จะเจรจาและยอมตามคำเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย
รัฐบาลคงมีคำถามที่ต้องตอบอยู่ 2-3 ประเด็น
ประการแรก รัฐบาลมีกำลังทหารและตำรวจมากมายเพื่ออะไร
รวมทั้งงบประมาณมหาศาลที่ใช้จ่ายไปกับทหารตำรวจนั้น ใช้จ่ายไปเพื่ออะไร

ประการที่สอง ถ้าจะสันติวิธีในทุกเรื่อง
ทำไมรัฐไม่ปล่อยคนในคุกที่ถูกจองจำด้วยข้อหาต่างๆ
หรือทำไมตำรวจต้องใช้อาวุธปืนกับโจรที่ยิงใส่ตำรวจ ทำไมเหล่านักวิชาการ
หนังสือพิมพ์คุณภาพ เช่น "มติชน" จึงไม่เรียกร้องให้รัฐปล่อยนักโทษในคุก
หรือเรียกร้องให้ตำรวจไม่ต้องมีอาวุธปืน เพื่อจะได้เป็นไปตามแนวทาง
"สันติวิธี" หรือเพราะว่านักโทษและโจรเหล่านี้ไม่มีพวกพ้อง
ไม่มีเครือข่าย ไม่มีเงินทุนเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน จึงไม่ต้องไปไยดี

ประการสุดท้าย มีรัฐบาลไปทำไม

สุดท้ายเป็นประเด็นที่สังคมต้องตอบตนเองว่า ในท้ายที่สุดแล้ว

สังคมและคนในสังคมต้องการ "สันติวิธี"
หรือต้องการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำพาสังคมไปสู่ "สันติ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น