++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สองแรงแข็งขัน ธรรมาภิบาล ประสานใจ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            เมื่อวันก่อน ชุมชนห้วยกรดอยู่บนเส้นทางที่ใช้เดินทางค้าขายระหว่างเมืองแพรกศรีราชากับโพนางดำดก ทำให้ชุมชนนี้มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
            มาวันนี้ ตำบลห้วยกรด ยังคงเป้นศูนย์กลางทางการค้า ดังคำขวัญของท้องถิ่นที่ว่า
            " ภาษาถิ่นสืบสาน  ตาลโตนดลือเลื่อง พระเครื่องอาคมขลัง
            ตลาดกลางข้าวและพืชไร่  มรดกไทยรำมะนา  ตลาดค้าขายสุกร"

            อีกไม่นาน คำขวัญของตำบลอาจมีวลี "ประชาชนสุขภาพดี" เพิ่มเข้ามา เพราะขณะนี้เส้นทางของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯกำลังก่อตัวขึ้น ที่ตำบลห้วยกรด ด้วยการริเริ่มของ  "สองคน สองแรง"
            แรงแรก เป็นของนายกณัฐพนธ์กิจ เยียมบุญชัย นายก อบต.ห้วยกรด ผู้มุ่งมั่นพัฒนาชุมชน เลือกกองทุนฯ เข้าสู่ตำบลที่มีประชากรเกือบหมื่นแห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า
            "ปกติทาง อบต. ก็สนับสนุนงบประมาณเพื่อการดูแลสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนอยู่แล้ว แต่เห็นว่ากองทุนนี้มีประโยชน์มากเพราะ เป็นการจัดสรรตรงสู่พื้นที่ ช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับสมาชิก อบต. ด้านสาธารณสุข และสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่ชัดเจน"

            แรงที่สอง มาจากหมออนามัยมืออาชีพ ที่มิได้เป็นหมอเพียงอาชีพ แต่เป็นด้วยใจรัก ความตั้งใจ เสียสละ และจริงจัง นั่นก็คือ หมอนพพร อินมณี หัวหน้าสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทรราชินี จ.ชัยนาท
            อบต. และ สอ. ทำงานสร้างเสริมสุขอนามัยของชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลห้วยกรดร่วมกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะในแผนงานพัฒนาตำบล 3 ปีของ อบต. ห้วยกรด  มีแผนพัฒนาด้านสุขภาพอยู่ด้วย
            หมอนพพรเเห็นดีเห็นงามกับ นายก อบต. ที่จะรับกองทุนฯ เข้ามาสู่ห้วยกรด เพราะเห็นว่างบประมาณที่ สปสช. จัดสรรจะตรงมาสู่ท้องถิ่น และหากมีการจัดการที่ดี จะช่วยสร้างสุขภาพและการมีส่วนร่วมได้จริง

            "การดำเนินงานกองทุนฯต่างๆ มีประสบการณ์ของความล้มเหลวให้เห็นโดยทั่วไป ขาดการต่อเนื่องและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาเหตุหนึ่งมาจากแนวทางการบริหารจัดการกองทุนที่ไม่ชัดเจนของคณะกรรมการ ขาดความโปร่งใส เห็นแก่พวกพ้อง... ตรงนี้ เข้าใจว่า สปสช. นอกจากจะให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพดีให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำและคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมที่แท้จริงด้วย การนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นแนวการบริหารจัดการน่าจะช่วยให้การบริหารกองทุนชัดเจนขึ้น"

            หลักธรรมาภิบาลที่หมอนพพรเอ่ยถึงนั้น คือ การนำหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า มาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนฯ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้าน คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการกองทุนฯ และผ่านการประชุมและอบรมให้มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ ก่อนที่จะเริ่มทำงาน
            การบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลของคณะกรรมการฯ เริ่มต้นจากการนำข้อมูลจากการทำประชาคมมาวางแผนงานทั้ง แผนระยะสั้น และระยะยาว ผู้นำชุมชน อสม. และตัวแทนภาคประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาแผนงาน จากนั้นจึงนำแผนกลับเข้าสู่กระบวนการประชาคมอีกครั้งหนึ่ง

            "ชาวบ้านจะฟังและดูว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะมีเสียงสะท้อนกลับมา"
            ในขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนงาน คณะทำงานอีกชุดหนึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานตามโครงการที่วางแผนไว้ และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คณะทำงานชุดนี้ มีปลัด อบต. เป็นประธาน เจ้าหน้าที่ สอ.7 คน เป็นกรรมการ และหมอนพพรเป็นเลขานุการ

            นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจรับการดำเนินงานของโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว และส่งให้ที่ประชุมกรรมการบริหารกองทุนรับรองผลการดำเนินการ
            สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้น มีทั้งสิ้น 406,359.31 บาท เป็นเงินจาก สปสช. 358,725 บาท เงินอุดหนุนจาก อบต.ห้วยกรด 35,183 บาท เงินสมทบจากชุมชน 12,010 บาท (ระดมทุนจากชาวบ้านคนละ 5 บาท 10 บาท เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย) และดอกเบี้ยธนาคาร 441.31 บาท
            โครงการที่ดำเนินงานในปี 2550 มีทั้งหมด 7 โครงการ ครอบคลุมประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โครงการรักและห่วงใยสุขภาพเด็กไทย 0-6 ปี แบบองค์รวม โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวที่ติดเชื้อเอดส์  โครงการสนับสนุนนมผงสำหรับเด็กด้อยโอกาสและมีภาวะทุพโภชนาการ6 เดือนถึง 3 ปี โครงการดูแลสุขภาพประชาชนที่บ้าน โครงการเทอดพระเกียรติในหลวงด้วยการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปที่ด้อยโอกาส โครงการมอบถุงยังชีพแก่ผู้พิการเทิดพระเกียรติในหลวง 80 พรรษา และ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายในเด็กนักเรียน บุคลากรทางการศึกษาและเยาวชน

            แม้ชาวบ้านห้วยกรดจะยังได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง และบางโครงการมีลักษณะคล้ายการสงเคราะห์ซึ่งต่างจากเป้าหมายของกองทุนฯ แต่คณะกรรมการเห็นว่า โครงการแบบนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีและสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ เมื่อผู้คนได้รับการดูแลเอาใจใส่ จะเกิดความหวัง ยอมรับและเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนฯ ทุกชีวิตในชุมชนก็จะดำรงอยู่อย่างเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรม
            หนึ่งปีของการดำเนินงาน นับได้ว่าเส้นทางการพัฒนาของกองทุนฯ ห้วยกรดเป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน และประสบความสำเร็จด้วยมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้
  • คณะกรรมการได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
  • ทุกภาคส่วนประสานความร่วมมือ วิธีการทำงานและทรัพยากรเข้าด้วยกัน ปรึกษาและพูดคุยและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  • การบริหารโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล มีกลไกขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ มีกลไกการตรวจสอบ ตรวจรับผลงาน และสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ
  • ผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์ เสียสละเพื่อสังคม และมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้มีสุขภาพดี เข้มแข็ง และพัฒนาอย่างยั่งยืน           
            สำหรับก้าวต่อไปบนเส้นทางสายสุขภาพของกองทุนฯ ห้วยกรดนั้น เจ้าหน้าที่ สอ. เจ้าหน้าที่ อบต. และประชาชนห้วยกรดหวังว่า คนในพื้นที่ยังจะมีโอกาสได้รับการพัฒนา ได้ใช้ศักยภาพและได้ทำงานตรงตามบริบทและขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา

            "...การทำงานแบบนี้ได้แก้ปัญหาจริงของคนในพื้นที่จริง... มีความสุขในการทำงานมากกว่า อดีตที่ผ่านมางบประมาณที่ได้รับจัดสรรมามักมาตามรายโครงการ ที่ในบางครั้ง ไม่ตรงกับสภาพปัญหาของคนในพื้นที่ แต่เราก็ต้องทำ ..ขอบคุณ สปสช. ที่มีแนวคิดการทำงานที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนและสนใจ ห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างแท้จริง" หมอนพพรกล่าวด้วยความสุขใจ

            " ในปีหน้า ทาง อบต. จะสนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุนฯ นี้เพิ่มขึ้น จาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะ เห็นว่าประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ" คือคำมั่นที่นายก อบต. ทิ้งท้ายไว้

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
พรเจริญ บัวพุ่ม
ดวงใจ เกริกชัยวัน
วงเดือน เล็กสง่า
ปารวีรฺ์ กุลรัตนาวิโรจน์
อุไรวรรณ บุญสาลีพิทักษ์
เพ็ญศรี รอดพรม
วพบ.ชัยนาท

       
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น