++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เด็กเล็ก ยิ้มสวย ฟันดี ที่หัวไผ่ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

เรียบเรียงโดย ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลออ

            "การดูแลสุขภาพคนในชุมชนนอกจากจะมุ่งเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพและเฝ้าระวังโรคแล้ว เมื่อคนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสุขภาพ ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางกาย จิตใจ เศรษฐกิจและการทำมาหากินของคนเหล่านั้นรวมไปถึงครอบครัว การให้การช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรับบริการรักษาพยาบาล 1 คน ก็คือ การดูแลสุขภาพจิตใจของคนในครอบครัวอีก 4-5 คน ด้วย ...ดังนั้น กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ต้องลงไปให้ความช่วยเหลือ..."

            นี่คือ มุมมองต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของนายทวีป จูมั่น หัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลบริหารกองทุนฯ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
            คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทราบดีว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนในชุมชน จึงได้มีแนวคิดและการวางแผนจัดทำ "โครงการเคลือบฟลูออไรด์ โดย อสม." เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพฟันของเด็กเล็ก เพราะถ้าเด็กเล็กฟันผุจะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของเด็กในอนาคตด้วย
            ภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มาจากตัวแทนกรรมการสภาหมู่บ้านและผู้นำชุมชนตามระเบียบที่กำหนด พร้อมทั้งร่วมมือกับสถานีอนามัย จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมั้งรถพยาบาลของ อบต. เสียงตามสาย, หอกระจายข่าว เพื่อให้คนในชุมชนรับทราบ

            ในตอนเริ่มต้น ตำบลหัวไผ่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเงินสมทบจาก อบต. การดำเนินงานเบื้องต้น คณะกรรมการกองทุนฯ ใช้เงินส่วนหนึ่งอุดหนุนค่าพาหนะ (รถพยาบาลของ อบต.) แก่ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางเพื่อไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลนอกพื้นที่ และให้เงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต ซึ่งดูเหมือนไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ ที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโรคแต่ด้วยแนวคิดว่า หนึ่งคนป่วย คนในครอบครัวก็มีสุขภาพจิตไม่ดีด้วยของ นายก อบต จึงคิดว่า แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่อย่างน้อยก็เพื่อหาทางผ่อนคลายทุกข์เฉพาะหน้าของคนในชุมชนให้เจือจางลงไปก่อน

            โครงการเคลือบฟันฟลูออไรด์ แม้ฟังดูเหมือนง่ายคือ ให้ผู้มีความรู้ มีทักษะเข้าไปทำการเคลือบฟลูออไรด์ให้เด็กในชุมชน เพียงเท่านั้นก็จบกระบวนการ
            แต่ในทางปฏิบัติ ต้องเริ่มตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพฟัน จัดตั้งทีมอาสาสมัครสาธารณสุขอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะการประเมินภาวะทันตสุขภาพ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองพาเด็กในชุมชนมารับบริการในจุดต่างๆ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพในช่องปากในชุมชน โดยอาสาสมัครสาธารณสุข และมีการติดตามดูแล ประเมินผล

            ผลลัพธ์ของโครงการนี้พบว่า มีผลในด้านบวก คือ ไม่พบฟันผุเพิ่มในเด็กนักเรียน และผลสำเร็จของโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจจากกำลังหลายฝ่าย คือ อาสาสมัครสาธารณสุข  องค์กรต่างๆในชุมชน  ทั้งศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน, หอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน และจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตำบลหัวไผ่
            คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เล่าว่า "... การดำเนินงานครั้งนี้  ถ้าไม่มี อสม.ช่วยคงสำเร็จยาก ...เพราะเราต้องลงไปทำงานในหมู่บ้าน เวลาชาวบ้านไม่เข้าใจหรือได้ข้อมูลอะไรมาที่ไม่ชัดเจน อสม.จะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยอธิบาย ...และที่สำคัญที่สุดก็คือ  เราได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องของงบประมาณและการประชาสัมพันธ์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ผ่านสื่อต่างๆในหมู่บ้าน  ทั้งรถพยาบาลของ อบต. เสียงตามสาย หอกระจายข่าว โดยท่าน นายกทวีป ท่านจะช่วยเราอย่างมากในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ...."

            จากการดำเนินโครงการนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ ได้รับบทเรียนและข้อเสนอแนะ คือ การร่วมแรงร่วมใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนในชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนและ ทำให้กองทุนฯ ได้ดำเนินการเพื่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

            นอกจากนั้น การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ ให้มีชั่วโมงบินสูง มีประสบการณ์กับชุมชนโดยตรง ทั้งจากการประชุมในกลุ่มคณะกรรมการกองทุนฯ การพบปะพ่อแม่ผู้ปกครอง และตรวจทันตสุขภาพของเด็ก จะช่วยให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น...


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พรเจริญ บัวพุ่ม
ดวงใจ เกริกชัยวัน
วงเดือน เล็กสง่า
ปารวีร์ กุลรัตนาวิโรจน์
อุไรวรรณ บุญสาลีพิทักษ์
เพ็ญศรี รอดพรม
วพบ.ชัยนาท


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

1 ความคิดเห็น:

  1. วิธีมีฟันสวย เหงือกแข็งแรงโดยวิธีธรรมชาติ ขจัดกลิ่นปาก ตัดโอกาสเชื้อโรค เข้าสู่ร่างกายเป็นพันๆชนิด ทำได้ง่ายๆ...แล้วมันทำได้อย่างไรล่ะ?

    แวะที่..http://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=221....ชีวิตที่เหลืออยู่จะสบายขึ้นอีกเยอะเลย

    ตอบลบ