++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตามรอยลายสือไทย - แดนเดือน

ส.บุญเสนอ

            "แดนเดือน" ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
            กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
            เจ้าของบทละครร้องอมตะ เรื่อง "สาวเครือฟ้า"

           
นาม "แดนเดือน" ทรงเป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงการประพันธ์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นนักเขียนผู้หนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านร่วมสมัย และมีผลงานฝากไว้ในโลกหนังสือมากพอสมควร

            "แดนเดือน" เป็นนามปากกาของหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณ รัชนี พระชายาของ น.ม.ส.
            แรกเริ่มนั้น "แดนเดือน" ทรงเป็นนักอ่านชั้นเยี่ยม ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษและไทย ขณะที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเป็นอุปนายก ราชบัณฑิตยสภา เมื่อได้สำเนาเอกสารภาษาอังกฤษ เรื่องเกี่ยวแก่ประเทศไทยจากแหล่งต่างๆ ก็ทรงวานให้ "แดนเดือน ทรงแปลเป็นภาษาไทย ดังเช่นเรื่องข่าวต่างๆ ในหนังสือพิมพฺ์เมืองสิงคโปรฺ์ที่ได้สำเนามาจากลอนดอนเหล่านี้ ครั้นทรงแปลหนังสือบ่อยๆ เข้าก็ทรงกลายเป็นนักแปล ต่อมาเมื่อทรงหัดแต่งหนังสือบ้างก็กลายเป็นนักเขียนในที่สุด

            เมื่อสำนักประมวญมารคออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในชื่อเดียวกัน มีสนามให้ "แดนเดือน" ทรงเล่นหนังสือมากขึ้น ทรงแต่งเรื่อง "ศุภวาร มาณศรี" ลงประจำเป็นเรื่องยาว และทรงแปลเรื่อง "The Jungle Books"  ของรัดยาร์ด คิปปลิง  ลงในประมวญมารคอีกเรื่องหนึ่ง  เป็นนิยายผจญภัยในป่าภาคเหนือของอินเดียที่สนุกมาก "แดนเดือน" ทรงตั้งชื่อในภาคไทยว่า "ป่าดงพงพี"

            รัดยาร์ค คิปปลิง เป็นนักเขียนระดับโลกชาวอังกฤษ เกิดที่บอมเบย์เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ เติบโตและทำงานอยู่ในอินเดียเป็นเวลานาน เรื่องที่ "แดนเดือน" นำมาแปลนี้เขาแต่งไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ เขาแต่งนวนิยายประเภทต่อสู้เผชิญภัยไว้มากทีเดียว เรื่องที่เขาแต่งมักใช้อินเดียเป็นฉาก เพราะเขารู้จักคุ้นเคยกับประเทศนี้อย่างดี มีจำนวนหลายเรื่องที่บทประพันธ์ของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และประสบความสำเร็จทุกเรื่อง เฉพาะเรื่อง "The Jungle Books" นั้น  อเล็กซันเดอร์ คอร์ดา นักสร้างหนังสือเอกของอังกฤษเป็นผู้สร้างให้บริษัทยูไนเตํดอาร์ติสท์ โดยมีซาบูดาราชาวอินเดียแสดงนำ  เมื่อเป็นภาพยนตร์ได้ชื่อภาคไทยว่า "เข้าแดนหิมพานต์" และทำเงินให้เจ้าของหนังตามเคย รัดยาร์ด คิปปลิง ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี พ.ศ.๒๔๕๐ เขาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙

            เมื่อสำนักประมวญมารคผลิตหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์และรายวันเพิ่มขึ้น สนามเล่นหนังสือของ "แดนเดือน" แผ่กว้างไปอีก ทรงรับหน้าที่ทำเรื่องแปลลงประจำในประมวญวัน ทรงเลือกนวนิยายภาษาอังกฤษได้เรื่อง "Scarlet Pimpernel" ของ บารอนเนส ออร์คซี รับสั่งว่าสนุกและถูกพระทัยมาก ทรงให้ชื่อเรื่องภาษาไทยว่า "สมาคมดอกไม้แดง" เป็นเรื่องอิงพงศาวดารฝรั่งเศสสมัยปฏิวัติใหญ่เลือดทาแผ่นดิน บรรดาเจ้านายและขุนนางต่างระเห็จหนีออกไปอยู่นอกประเทศ   โดยปลอมตัวเป็นคนพื้นบ้านลงเรือข้ามช่องแคบไปอาศัยบารมีอังกฤษ ใครหนีไม่ทันก็ถูกฝ่ายปฏิวัติจับฆ่าหมด พวกผู้ดีลี้ภัยและชาวอังกฤษที่คอยช่วยเหลือ ต้องปฏิบัติต่อกันเป็นความลับ ใช้ดอกพิมเพอเนลสีแดง เป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้เป็นพวกเดียวกัน กว่าจะหนีรอดออกจากแผ่นดินฝรั่งเศสมาได้ก็ต้องเสี่ยงด้วยชีวิต  ก็พอจะมองเห็นภาพได้ว่า ต้องเป็นเรื่องเต็มไปด้วย ความรัก เสียสละ ต่อสู้ ตื่นเต้น พร้อมทุกรสทีเดียว

            บารอนเนส ออร์คซี  ผู้แต่งเป็นนักเขียนสตรีดังมากคนหนึ่ง เธอเกิดที่ฮังการี่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นธิดาของ บารอนเฟลิกซ์ ออร์คซี เติบโตจนเป็นสาวอยู่ที่ประเทศนั้น หลังจากแต่งงานกับ มองตากิว บาร์สโตว์ แล้วก็อพยพไปอยู่ลอนดอนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๔ เริ่มแต่งหนังสือเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ แต่ไม่ค่อยมีผู้รู้จัก  จนกระทั่งแต่งเรื่อง "Scarlet Pimpernel" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ คราวนี้ดังมากจนมีผู้ขอร้องให้แต่งต่อ เพราะยังจบไม่สนิท ดังนั้น เรื่อง "I will Repay"  จึงผลิตออกมาสนองคำเรียกร้องเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ปรากฏว่ายังเป้นที่ชอบใจนักอ่านทั้งหลาย จึงแต่งเรื่อง "The Elusive Pimpernel"  เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑  คราวนี้ยืนยันว่าจบสนิทแน่ เป็นเรื่องสุดท้ายของชุดนี้ จากนั้น เรื่องอื่นๆที่ตามมาภายหลัง แต่ไม่ดังเท่าชุดสามเรื่องนั้น ต่อมาเขียนประวัติของตนเองเป้นเรื่องสุดท้าย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ ชื่อ "Link in the Chain of Life"  และถึงแก่กรรม พ.ศ.๒๔๙๐

            "แดนเดือน" ทรงมีต้นฉบับชุด "สมาคมดอกไม้แดง" ครบ แต่แล้วก็ไม่มีโอกาสได้ทรงงานชิ้นนี้ ดังที่ตั้งพระทัยไว้ สาเหตุเนื่องจากสภาวะสงครามทำให้ผันแปร

            ครั้น "สมาคมดอกไม้แดง" ภาคแรกในประมวญวันจบแล้ว "แดนเดือน" ทรงเปลี่ยนพระทัย นำเรื่อง "Tarzan of the Apes" ของเอ็ดการ์ ไรซ เบอโรช ลง แทน เพื่อเปลี่ยนรสบ้าง แล้วค่อยจบเรื่องของ บารอนเนส ออร์คซี ต่อไป

            คนแต่งเรื่องชุดทาร์ซานเป็นชาวอเมริกัน เกิดที่ชิกาโก พ.ศ.๒๔๑๘ ก่อนเป็นนักเขียนเคยมีอาชีพจับจดมาหลายแขนง แต่เอาดีไม่ได้สักอย่าง ครั้นเปลี่ยนมาลองแต่งหนังสืออาศัยแนวเรื่องแปลกยังไม่มีใครทำ เขียนเรื่องแรกก็ประสบความสำเร็จที่ตนเองคาดไม่ถึง ได้ทั้งเงินทั้งชื่อเสียงก้องไปทั่วโลก จนบัดนี้ไม่มีชาติภาษาใดที่ไม่รู้จักทาร์ซาน  การผจญภัยของทาร์ซานในเรื่องต่างๆ ก็ติดตามมาให้อ่านอีกมาก แต่มาในยุคท้ายนี้เนื้อเรื่องชักสับสน สรุปแล้วสู้ทาร์ซานเรื่องแรกๆไม่ได้ แต่ก็แปลกอยู่อย่าง มีผู้แปลเรื่องทาร์ซานซ้ำซ้อนหลายต่อหลายครั้งก็ไม่มีเบื่อ เท่าที่ได้ยินมา ผู้แต่งไม่ได้แต่งเรื่องอะไรอื่นอีก หากินด้วยทาร์ซานอย่างเดียวก็พอ เขาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓

            หนังสืออ่านเล่นที่สนุกชอบใจคนทั้งหลายนั้น ห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้กลายเป็นเรื่องภาพยนตร์ เพราะผลอันพึงจะได้นั้นมหาศาลนัก ผมได้ดูหนังเรื่องทาร์ซานเมื่อสร้างหนแรก จะขอเล่าสักหน่อยเพราะเห็นว่ามันแปลกดี ผู้เคยดูหนังเรื่องนี้ร่วมสมัยกับผมคงจะยังเหลืออยู่น้อยคน เป็นหนังเงียบไม่มีเสียงพูดให้ได้ยินอย่างทุกวันนี้ แต่มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษบรรยายเรื่องเป็นตอนๆ ผมเองก็รู้เรื่องจากใบปลิวที่เขาเล่าย่อๆแจกแก่ผู้ดูหนังทุกคน  ไม่ใช่รู้เรื่องจากการอ่านหนังสือบนจอนั้นหรอก เขาตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า "หนุมานแผลงฤทธิ์" ไม่เห็นมีคำ "ทาร์ซาน" อยู่ในชื่อเรื่อง ผิดกับเรื่องทาร์ซานในสมัยต่อมาต้องมีคำ "ทาร์ซาน" อยู่ในชื่อด้วยทุกเรื่อง   ที่โรงหนังเขาตั้งแปลกยังงั้น ผมคิดเอาเองว่า คนตั้งชื่อคงกำหนดเอาตัวทาร์ซานเป็นลิงผิวขาว และทาร์ซานเกิดกลางป่าอัฟริกา เมื่อพ่อแม่ตายหมด ทาร์ซานรอดอยู่ได้เพราะลิงเอาไปเลี้ยง เมื่อโตเป็นหนุ่มก็แข็งแรงเก่งกาจสามารถปราบสัตว์ป่าเกรงกลัวได้ ทั้งผิวก็ขาวเลยอุปโลกน์เอาทาร์ซานเป็นหนุมานเสียเลย  และคงจะจับเค้าเอาความเก่งกาจผิดมนุษย์ของทาร์ซานเป้นฤทธิ์ เช่นตอนหนึ่ง สิงโตจะเข้าตะปบนางเอก คือ แม่เจนคู่ชีวิตของทาร์ซานทุกเรื่องนั่นแหละ  ทาร์ซานตรงเข้าจับหางสิงโตกระชากทันท่วงที แล้วกระโดดขึ้นขี่หลังปล้ำกับสิงโต ชักมีดพกประจำตัวแทงมันตาย พอฆ่าศัตรูได้แล้วก็ยืนขึ้นเหยียบอกสิงโต ป้องปากร้องตะโกนประกาศศักดาเป็นเจ้าป่า จะร้องยังไงสมัยนั้นไม่มีเสียงออกมาให้รู้

            ผู้แสดงเป็นทาร์ซานคนแรก ชื่อ เอลโม ลินคอล์น รูปร่างสูงใหญ่ กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เคยเป็นนักเพาะกายมาก่อน ผู้รับบทเป็น เจน ชื่อ หลุยส์ ลอเรน เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างจะตัวเล็กสักหน่อย สมแก่การที่ทาร์ซานจะอุ้มหนีเสือหนีช้าง หรือสัตว์ป่าดุๆได้สะดวก  จำได้แม่นว่าเจนของทาร์ซานคนนี้มีลักยิ้มด้วย การแต่งตัวของทาร์ซานคือ นุ่งหนังสัตว์ ท่อนบนไม่สวมใส่อะไรเลย เป็นแบบฉบับของทาร์ซานทั้งหลายสมัยต่อๆมา มีแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ทาร์ซานในหนังคนภาคแรกมีแถบหนังคาดรอบศีรษะ และปักขนนกอันหนึ่งไว้ตรงเหนือหูข้างขวา ลักษณะเหมือนแบบที่พวกลิเกแต่งกัน ทำไมมาคล้ายกันเข้าได้ก้ไม่ทราบ ผมค้นหารูปเก่าๆจากหนังสือภาพยนตร์ไม่พบ ถ้าได้เห็นรูปด้วยรับรองว่าอดยิ้มไม่ได้เป็นแน่ ผมดูหนังเรื่องที่เล่านี้ที่โรงหนังปีนังละแวกบางลำพูเมื่อประมาณหกสิบกว่าปีมาแล้ว

            ผมได้ดูหนังทาร์ซานอีกครั้งเมื่อบริษัท ม.ก.ม. นำมาสร้างใหม่ คราวนี้เป็นหนังพูดและมีเสียงโห่ประกาศศักดาเป็นเจ้าป่าให้ได้ยินด้วย
            เรื่องเสียงโห่แบบทาร์ซานนี้ บริษัท เมโทรฯ เป็นผู้คิดขึ้น และสงวนลิขสิทธิ์ให้ใช้สำหรับทาร์ซานโห่ผู้เดียว บริษัทใดจะสร้างหนังเรื่องทาร์ซาน นอกจากซื้อลิชสิทธิ์จากบทประพันธ์แล้ว ต้องซื้อลิขสิทธิ์เสียงโห่ของเมโทรฯ อีกต่างหาก

            เมื่อ "ทาร์ซาน" จบในประมวญวันแล้ว "แดนเดือน" จะทรงพักผ่อนชั่วระยะหนึ่ง โดยให้นำเรื่องแปลของผู้อื่นได้ลงแทนบ้าง  เมื่อจบเรื่องของผู้อื่นแล้วจึงจะทรงเรื่อง "สมาคมดอกไม้แดง" ภาคสองต่อ แต่ก็มิได้ทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ เพราะมีผู้อ่านที่คลั่งไคล้ทาร์ซานจำนวนมากขอร้องให้ทรงหาเรื่องทาร์ซานตอนใหม่มาแปลอีก แม้ทรงอยากพักการเขียนชั่วคราว และระยะหลังๆนี้ "แดนเดือน" ทรงมีพระภาระประจำมากขึ้น เพราะทรงทำหน้าที่ผู้จัดการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วย แต่ก็ทรงสนองความประสงค์ของผู้เสนอ ทรงค้นหาเรื่อง "ทาร์ซาน" ชุดใหม่มาแปลจนได้ แต่ทรงขอย้ายจากประมวญวันมาลงในประมวญสาร ซึ่งเป็นรายสัปดาห์ พอจะปลีกเวลามาทรงงานแปลได้

            "แดนเดือน" ทรงเขียนเรื่องสั้นไว้ไม่น้อย ทุกคราวที่ประมวญวันและประมวญสารจัดทำฉบับพิเศษ ในกรณีเช่นวันครบรอบปี วันปีใหม่  หรือวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ ในปีหนึ่งๆมีจำนวนหลายวันทีเดียว เรื่องสั้นของ "แดนเดือน" ต้องมีประจำ จะขาดเสียมิได้

            การรวบรวมเรื่องของ "แดนเดือน" พิมพฺ์เป็นเล่มก็อยู่ในดำริของสำนักพิมพ์ประมวญมารค ขนาดออกโฆษณาไปแล้วด้วยซ้ำ แต่กรณีที่ถูกบีบบังคับให้ใช้อักษรแบบใหม่สมัยจอมพล ป.ทำให้ต้องระงับชั่วคราว ด้วยสำนักนี้ไม่ยอมรับสิ่งทีจะเป็นความวิบัตของภาษา

           


ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น