++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ประวัติศาสตร์ของดงมูลเหล็กเล่าว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ปัจจุบันเป็นคนชัยภูมิ เมื่อครั้นอดีตนานมาแล้วสมัยท่านพระยาดำรงราชานุภาพ กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำริจะให้ จ.เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง จึงเกณฑ์ผู้คนมาทำถนน ซึ่งคนที่มาทำถนนส่วนใหญ่นั้นเป็นคนชัยภูมิ เมื่อทำถนนเสร็จ ก็ไม่อยากกลับออกไป เพราะว่าพื้นที่นี้เป็นที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำคลองขนาดใหญ่เหมาะกับการทำมาหากิน  จึงตั้งถิ่นฐานเรื่อยมาจนปัจจุบัน

            มีเรื่องเล่าถึงที่มาของชื่อตำบลว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าดง มีต้นขี้เหล็กขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะเด่นของพื้นที่ว่า "บ้านดงขี้เหล็ก" ต่อมาคำว่า "ขี้" นั้นถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ จึงได้ตัดออกแล้วเปลี่ยนมาเป็น "ดงมูลเหล็ก" จนถึงปัจจุบัน

            "บ้านดงมูลเหล็กมั่งคั่ง หลวงพ่อทั่งศูนย์รวมใจ บุญบั้งไฟลำป่าสัก อนุรักษ์ลอยกระทง มั่นคงประเพณีแข่งเรือยาว"
            เป็นคำขวัญของตำบลดงมูลเหล็ก ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 117 ตารางกิโลเมตร ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 9,917 คน ทั้งหมด 2,383 ครัวเรือน แบ่งเป็น 11 หมู่บ้าน มีนายไฉน ก้อนทอง ซึ่งเป็นคนในพื้นที่เป็นนายก อบต. มีศักยภาพและมีความกว้างขวางในการทำงาน เพราะเคยเป็นกำนันมาก่อนและได้รับรางวัลแนบทองคำ เมื่อเป็นกำนันได้เพียง 1 ปี นั้นแสดงให้เห็นศักยภาพของ นายก อบต.ท่านนี้ ว่าเป็นคนเข้าใจปัญหาของประชาชนในพื้นที่ มีทีมงานที่มีการประสานงานและความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี
            "ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนมีความสุข จะต้องมีสุขภาพที่ดี ถ้าคนเรามีสุขภาพดี ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีแต่ความสุข"
           
            นี่คือ มุมมองของ นายก อบต.ดงมูลเหล็ก ตั้งแต่สมัยเป็นกำนัน และเคยให้สัญญากับพี่น้องในชุมชนว่า จะพัฒนางานด้านสาธารณสุข และการศึกษาให้กับพี่น้องประชาชน ยิ่งมีนโยบายเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน ยิ่งเห็นชอบเพราะประโยชน์ที่ได้รับ ก็เกิดกับพี่น้องประชาชนนั่นเอง
            การได้มาซึ่งโครงการ มาจากการทำประชาคม หรือ จากที่ อสม.ได้เสนอปัญหาหรือโครงการต่างๆเข้ามา นายก อบต.ได้กล่าวไว้ว่า
            " โครงการหรือปัญหาที่ออกมาส่วนใหญ่ พี่น้องประชาชนจะแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า"

            ดังนั้น โครงการที่เกิดขึ้นระยะแรกจึงเกิดขึ้นจากการเขียนโดย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะเจ้าหน้าที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงเป็นหลักในการทำงานในพื้นที่ และเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการทำงานด้านสุขภาพของกองทุนฯ

            ต่อมาเป็นระยะพัฒนาแนวความคิดในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ , โรงพยาบาลในชุมชน, หัวหน้าสถานศึกษา, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบในหมู่บ้าน นายก อบต.มาทำการประชุมทุกเดือน และจัดให้มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การจัดกีฬาสี การสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการของประชากรในหมู่บ้าน หรือ นำทรัพยากรที่มีในชุมชนมาใช้เพื่อดำเนินการกองทุนฯ ร่วมกัน
            แต่ละโครงการที่จัดทำขึ้นได้แบ่งตามกลุ่มเป้าหมายดังนี้ โครงการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ เป็นโครงการสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี โครงการแปรงสีฟันอันแรกของหนู, โครงการตรวจสุขภาพนักเรียน สำหรับเด็ก 6 ปีถึงวัยรุ่นช่วงอายุไม่เกิน 25 ปี , ส่วนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไปมีโครงการคัดกรองเพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพ ดำเนินการโดยจัดทำสมุดบันทึกสุขภาพ มีการวัดรอบเอวผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ในกลุ่มสตรีวัย 35 ปีขึ้นไป และอื่นๆอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การแข่งกีฬา จะเห็นว่าทุกโครงการจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น

            บางโครงการเห็นผลทันทีหลังจากดำเนินโครงการ เช่น โครงการคัดกรองเกี่ยวกับโรคเบาหวานที่พบว่า คนในชุมชนเจ็บป่วยกันมาก หลังจากที่ดำเนินโครงการคัดกรองโรค ก็ได้เชิญแพทย์จากโรงพยาบาล ร่วมกับสถานีอนามัย มาให้ความรู้ในการดูแลตนเอง ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยกัน  เริ่มจากการให้ความรุ้เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หลังจากนั้นก็ให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติ แล้วมีการติดตามผลงาน มีการตรวจ ปรากฏว่าประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง นั้นแสดงว่า ประชาชนเรียนรู้วิธีที่จะดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วยมากขึ้น หลังจากได้รับความรู้ และวิธีการดูแลตนเองจากทีมงานด้านสาธารณสุข
            นายก อบต.กล่าวว่า บางครั้งบางโครงการ เมื่อทราบปัญหา ก็ได้หาวิธีแก้ไข แต่วิธีการแก้ไขนั้นบางครั้ง ไม่สามารถทราบผลได้ในระยะสั้น ต้องติดตามผลในระยะยาว เช่น
           
            "การตรวจพบสารเคมีตกค้างในร่างกายโดยเฉพาะกับผู้นำชุมชน คือ ระดับผู้ใหญ่บ้านพบว่าเลือดเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสารเคมีที่ตกค้างในร่างกายมากกว่าปกติ ทาง อบต.เลยถือภาวะวิกฤตินี้เป็นโอกาส ร่วมกับทางสำนักงานเกษตรจังหวัด ให้ความรุ้แก่ประชาชนในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เห็นผลช้าซึ่งต้องใช้ระยะเวลา"
            การทำงานที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จของ อบต. ดงมูลเหล็กนั้น สามารถกล่าวได้ว่า มาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพ และการพัฒนาทำงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการทำงานเป็นทีม ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคน โดยเฉพาะประชาชน ใช้คติ เราต้องให้เขาก่อน ทำได้หรือไม่ได้ต้องตอบกลับ ต้องทำงานด้วยใจรัก และที่สำคัญที่สุด การลงพื้นที่จริง พูดคุยกับประชาชนจริงๆ จะได้มาซึ่งการเรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงจากประชาชน

            สุดท้าย ปณิธานของผู้นำที่ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี และสามารถดูแลตนเองได้ตามอัตภาพ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้ง นี่กระมังคือเคล็ดลับในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯของดงมูลเหล็ก

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
นุโรม จุ้ยพวง
วพบ.พุทธชินราช


      
           

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น