++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

แกะหนังสือ เรื่อง กรรมทีปนี

เรียบเรียงโดย พระราชวิสุทธิโสภณ
ผู้แกะ หนูเอียด

            อาจจะเป็นเพราะเห็นว่า เยาวชนรุ่นนี้ไม่ค่อยนิยมอ่านหนังสือ
            หลายฝ่ายจึงช่วยกันกระตุ้นส่งเสริมแวดวงวรรณกรรมกันคนละไม้ละมือ
            วารสารหลายฉบับแม้ระทั่งหนังสือพิมพ์บางฉบับจัดให้มีการประกวดเรื่องสั้น
            แล้วก็กลายเป็นปัญหาของผู้จัดไปเอง เพราะเรื่องสั้นนั้น ใช่จะเขียนกันได้ง่ายๆ แต่เมื่อมีการประกวดกันแล้ว ก็จำเป็นต้องคัดเอาเรื่องมาลงพิมพ์ตามวาระที่หนังสือออก
            นักเขียนใหม่บางคนที่มีแวว เขียนมาพอใช้ได้ อย่างนี้ผู้จัดก็ดีใจ เอาลงพิมพ์ให้ด้วยความสบายใจ แต่พอชักงวด ไม่มีเรื่องให้เลือก ต้องเอาที่ไม่ถึงขั้นมาลง อย่างนี้ผู้อ่านอ่านแล้วแทบจะขว้างหนังสือทิ้ง หันไปด่าให้คนข้างๆฟังว่า เอามาลงพิมพ์ได้ยังไง (วะ)

            สปอนเซอร์รายที่กระเป๋าหนัก ให้รางวัลแพงๆล่อใจได้ก็สนับสนุนด้วยการประกวดข้อเขียนยาวๆ ตั้งหัวข้อขึ้นมา ก็มักเป็นเรื่องที่ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอะไรทำนองนั้น
            พอเห็นจำนวนเงินรางวัลผู้คนก็ตาโตเกิดกิเลส พากเพียรก้มหน้าก้มตาเขียนเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี เขียนไปตรวจแก้ไขไปอย่างอุตาหะ พอเสร็จถ้าหากพิมพ์ดีดไม่เป็นก็ต้องไปจ้างเขาพิมพ์ แล้วอัดสำเนาตามจำนวนชุดที่ผู้จัดระบุให้ส่ง (เขาสั่งให้ส่งสิบชุดก็ต้องกัดฟันเสียค่าอัดไปเยอะ)
            จากนั้นก็รอคอยผลการตัดสินด้วยความหวัง (จะมีความสุขนิดหน่อยก็ตอนนี้แหละ)

            ประกาศผลออกมา ได้ผู้ชนะหนึ่งคน และรองอีกสองคน ที่เหลือเป็นสิบเป็นร้อยล่ะ เป็นไง
            ก็หงายหลัง แฟ่บไปน่ะซี
            เสียทั้งเวลา เสียทั้งแรงงานแสนเหน็ดเหนื่อย เสียทั้งค่าใช้จ่ายในการพิมพ์การอัด ...เสียมากที่สุด คือ เสียใจ ผิดหวัง
            เขาจะไม่ได้อะไรเลย จากความพากเพียรอุตสาหะที่ทุ่มเทลงไป
            จะเอาเรื่องที่เขียนไว้ไปขายสำนักพิมพ์รึ

            ฮะฮะฮ่า ถ้ามีพ่อเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ก็อาจเป็นไปได้
            เรื่องนี้อยากจะเสนอผู้ที่ชอบจัดประกวดวรรณกรรมไว้ว่า น่าจะตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนสำหรับผู้ส่งเข้าประกวดทุกคน อย่างน้อยสำหรับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เขาจะต้องใช้ จะได้เป็นกำลังใจให้เขาต่อสู้ต่อไป  ผลตอบแทนที่เป็นศูนย์นั้นทำให้คนท้อแท้ เห็นประกาสประกวดครั้งใหม่ก็เลยเมิน ในเมื่อสามารถตั้งรางวัลสูงๆสำหรับผู้ชนะได้ ก็น่าจะเจียดงบให้ผู้แพ้เป็นสิบเป็นร้อยคนได้มีกำลังใจต่อไป คงไม่ได้มุ่งหมายสนับสนุนผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียวทมิใช่หรือ (ก็ไอ้บทที่ชนะประกวดนั้น เคยพิมพ์แพร่หลายให้ใครๆได้เห็นทั่วถึงมั่งรึเปล่า)

            แกะหนังสือหนนี้จะได้หยิบยกเอาวรรณกรรมชนะประกวดมาให้ดูกันว่าหน้าตาเป็นฉันท์ใด จึงชนะมาได้ และวรรณกรรมที่มีผลตอบแทนสูงก็น่าจะเป็นรางวัลจากการประกวดของธนาคารกรุงเทพซึงได้จัดมาทุกปีนับแต่ พ.ศ ๒๕๑๐ โดยตั้งเงินรางวัลสำหรับสำนวนชนะประกวดไว้  50,000 บาท (แม้จะฟังดูสูง  แต่น่าสังเกตว่าเงินจำนวนนี้ตั้งไว้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังเท่าเดิม ในขณะที่ค่าของเงินจกต่ำไปตั้งแยะแล้ว น่าจะปรับเป็นหนึ่งแสนได้แล้วนิ)

            การประกวดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ร้อยแก้วกับร้อยกรอง

            วรรณกรรม ที่จะหยิบยกเอามาแกะเป็นสำนวนที่ได้รับรางวัลในปี  ๒๕๑๗  ซึ่งในปีนั้น หลักเกณฑ์การตัดสินมีว่า
            - - - ขั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่มีผู้ส่งเรื่องเข้าประกวดในเชิงวิชาการขั้นหนึ่งก่อน ต่อมาจึงตรวจเชิงภาษาและวรรณคดีเป็นขั้นที่ ๒ เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำเสนอท่านผู้ทรงคุณวุฒิชั้นสูงสุดเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย ในการนี้ ธนาคารได้กราบทูลเชิญศาสตราจารย์พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นผู้ทรงวินิจฉัยชี้ขาด - - - 

            สำหรับปี ๒๕๑๗ มีผู้ส่งร้อยแก้วเข้าประกวด ๑๗ สำนวน ร้อยกรอง ๒๒ สำนวน คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วมีความเห็นพ้องต้องกันว่า
            - - - เรื่องที่แต่งดีควรแก่การวินิจฉัยของใต้ฝ่าพระบาท มีด้วยกัน ๔ สำนวน คือ
                ประเภทร้อยแก้ว
                    ๑. เรื่องกรรมทีปนี ของพระราชวิสุทธิโสภณ วัดดอนยานนาวา กรุงเทพมหานคร
                    ๒. เรื่อง มรดกพ่อขุนรามคำแหง ของนายพิฑูร มลิวัลย์ นนทบุรี
                ทั้ง ๒ เรื่องนี้ คณะกรรมการพิจารณาโดยละเอียดแล้ว  เห็นว่าควรแก่รางวัลชมเชยเท่านั้น เพราะเมื่อเทียบสำนวนกันแล้ว สำนวนการแต่งก็พอๆกัน ต่างกันแต่เนื้อเรื่อง ข้างหนึ่งมุ่งอธิบายหลักธรรมตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏก พร้อมทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกาประกอบกับแสดงความคิดเห็น ของตนตามความเป็นจริง อ้างตัวอย่างที่ล่วงมาแล้วและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันให้เห็นจริง จึงเป็นเรื่องที่ยาวมาก อีกข้างหนึ่งมุ่งอธิบายถึงวิธีอ่านจารึกโบราณ ความหมายของคำที่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนอย่างใด เทียบกับคำที่ยังใช้เป็นปกติในภาษาเท่าที่สามารถจะนำมาได้ จึงเป็นเรื่องที่ยาวนัก จึงเห็นว่า ทั้ง ๒ สำนวนเพียงควรแก่รางวัลชมเชย แต่คณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่เป็นมติเด็ดขาด หากให้ฝ่าพระบาททรงเห็นว่า สำนวนใดสำนวนหนึ่งใน ๒  สำนวน ควรแก่รางวัลก็ให้สำนวนนั้นได้รับรางวัล อีกสำนวนหนึ่งก็คงได้รับรางวัลชมเชย

                ประเภทร้อยกรอง
                    ๑. เรื่อง มหาชาติคำฉันท์ ของนายฉันท์ ขำวิไล กรุงเทพมหานคร
                    ๒. เรื่อง ไตรภาคีคำฉันท์ ของนายวิทยา ชูพันธ์เชียงใหม่
                สำนวนร้อยกรองทั้ง ๒ สำนวน  คณะกรรมการได้ตรวจพิจารณาโดยละเอียดแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่า สำนวนไตรภาคีคำฉันท์ควรแก่รางวัล เพราะมีแนวคิดใหม่ที่ได้นำเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารของสามอาณาจักรมารวมไว้แห่งเดียวกัน แสดงให้เห็นความอุตสาหะในการรักษาบ้านเมืองมาอย่างไร ทั้งมีอารมณ์กวีประกอบด้วย แต่ต้องขอแก้ชื่อเรื่องว่า สามกษัตริย์คำฉันท์ จึงเห็นว่าควรแก่รางวัล
                ส่วนเรื่องมหาชาติคำฉันท์นั้น เห็นกันว่า ชื่อเรื่องไม่ชวนให้เร้าอารมณ์ ทั้งเรื่องก็เป็นเค้าเดิม มีอารมณ์กวีใหม่ไม่มากนัก แม้จะได้ชื่อว่ามีวรรณกรรมประเภทคำฉันท์ขึ้นครบบริบูรณ์ในเรื่องของมหาชาติก็ตาม ก็เห็นว่าควรแก่การชมเชยเท่านั้น
                คณะกรรมการส่งเสริมวรรณกรรมไทยเห็นควรให้ธนาคารนำสำนวนทั้ง ๔ ขึ้นทูลเกล้าถวายใต้ฝ่าพระบาท เพื่อทรงวินิจฉัยชี้ขาดว่า สำนวนใดควรจะได้รับรางวัล ---
                                                   

                กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงมีลายพระหัตถ์ประทานความเห็นในการวินิจฉัยว่า

                - - - - พระราชวิสุทธิโสภณ แต่งเรื่องกรรมทีปนี เป็นเรื่องทางศาสนา ก็เป็นอันถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์แล้วและโดยที่ "กรรม" เป็นเรื่องสารัตภสำคัฯในพระบวรพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องอันสมควรที่จะแต่ง และการแต่งก็ย่อมจะเป็นไป ในสำนวนทางศาสนา มีเรื่องตัวอย่าง สารก ประกอบมากมายจึงเป็นเรื่อง คือยาวถึง 813 หน้า ซึ่งตามประกาศของธนาคารฯ บังคับแต่งเพียงอย่างน้อย 250 หน้า เมื่อเป็นเรื่องยาวเช่นนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงสาระสำคัญ ย่อมมีเนื้อหาสาระละเอียดลออดีแล้ว  แต่สำนวนโวหารจะทำให้ผู้อ่านสนใจอ่านได้ตลอดหรือ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องตัวอย่างที่เล่าให้ฟังประกอบนั้น เป็นวิธีที่กระตุ้นความสนใจไม่ขาดสาย ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เรื่องกรรมทีปนี ของพระราชวิสุทธิโสภณ ควรแก่รางวัล
                ส่วนเรื่องมรดกพ่อขุนรามคำแหง ของนายพิฑูร มลิวัลย์ นั้น เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม  ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามประกาศของธนาคารฯ แล้ว ความยาวรวมทั้งภาคผนวก (251 หน้า) ก็พอดีกับที่ประกาศไว้อย่างน้อย 250 หน้า  เป็นการอธิบายความหมายของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง โดยเก็บรวบรวมความเห็นของท่านผู้รู้ต่างๆ รวมทั้งบทประพันธ์ที่มีคำเหล่านั้นใช้อยู่ด้วย เพื่อจะได้เทียบเคียง สันนิษฐานหาความหมายได้ถูกต้อง ทั้งนี้เป็นวิธีที่ดี แต่การอธิบายศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จะอธิบายแต่ความหมายของคำเท่านั้นไม่พอ ต้องอธิบายถึงสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย เช่น สภาพสังคม หรือชนชั้น ในสมัยนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ต้องพยายามขบปัญหาว่า ในสมัยสุโขทัย มีทาสหรือไม่ จึงจะทราบความหมายของคำว่า "ไพร่ฟ้า ข้าไท" ได้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ผู้ประพันธ์พึงพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดลออกว่าที่ได้กระทำไว้ จึงเห็นว่า เรื่องมรดกพ่อขุนรามคำแหง ของนายพิฑูร มลิวัลย์ ควรแก่รางวัลชมเชย ----


                สิ่งที่น่าพึงสังเกตจากการวินิจฉัย ก็คือ ความมีเมตตาขององค์ผู้วินิจฉัย ในขณะที่คณะกรรมการเห็นว่า ประเภทร้อยแก้วไม่สมควรได้รับรางวลชนะเลิศนั้น พระองค์ท่านกลับเห็นว่าควรให้
                มีการประกวดวรรณกรรมหลายครั้งที่ผ่านๆมา โดยคณะกรรมการตัดสิน (ไม่ใช่เฉพาะของธนาคารกรุงเทพฯ ) ลงความเห็นว่า สำนวนของผู้เข้าประกวดไม่ถึงขั้น และไม่ให้รางวัลชนะเลิศ

             ตามความเห็นของ หนูเอียด เองแล้ว เป็นสิ่งไม่น่าทำ เมื่อมีการประกวด ก็ย่อมต้องมีของชิ้นหนึ่งที่ดีกว่าชิ้นอื่นๆ และเขาก็ย่อมได้สิทธิที่จะชนะเลิศไป การจะตัดสินว่าของใดไม่ถึงขั้นนั้น .... เอาอะไรมาเป็นเครื่องวัด สติปัญญาของคณะกรรมการ (ซึ่งก็ไม่เคยสร้างวรรณกรรมเช่นกัน) หรือ ความเห็นของมนุษย์นั้นแตกต่างกันไป ของที่คุณว่าไม่ดี คนอื่นอาจเห็นคุณค่าก็ได้  โดยเฉพาะในเรื่องของหนังสือนั้น บ่อยครั้งเรื่องที่เราคิดว่าแย่ กลับมีคนชื่นชมมากมาย ขณะเดียวกันหลายครั้งที่เราต้องประหลาดใจเมื่อเรื่องที่เราแสนจะหลงไหล กลับไม่มีใครอ่าน

            และ....สิ่งสำคัญ ทุกคนที่ส่งเรื่องเข้าประกวด ย่อมตั้งความหวังว่าจะได้รับรางวัล ความหวังที่ว่านี้เป็นที่หมายมั่นมาก พอผลตัดสินออกมาว่าไม่มีสำนวนใดได้ แน่นอน คณะกรรมการต้องถูกก่นด่าในใจ ความพากเพียรของเขาที่ทุ่มเทลงไปนั้นไร้ความหมาย ...คณะกรรมการเก่งมาแต่ไหนเรอะ

            กลับมาแกะหนังสือต่อดีกว่า วัตถุประสงค์ของท่านผู้รจนาเรื่องกรรมทีปนี นั้นท่านบอกไว้ในอวสานกถา ว่า
            - - - -  วรรณกรรมไทยเรื่อง กรรมทีปนีที่กล่าวมานี้ คงจะเป็นเรื่องชี้ให้ท่านผู้มีปัญญาเกิดความเข้าใจในเรื่องกรรมตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้บ้างพอสมควร  แต่โดยเหตุที่เรื่องกรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งกว้างขวางมโหฬาร ทั้งเราก็ได้ใช้เวลาท่องเที่ยวไปในเรื่องของกรรมนั้นมานานมิใช่น้อย หากมีสติปัญญาความจำได้หมายรู้ไม่ค่อยดี ก็อาจจะมีความฟั่นเผืองุนงงสงสัยจนถึงกับจับต้นชนปลายกันไม่ถูกกันขึ้นมาก็ได้ดังนั้น  เพื่อป้องกันความฟั่นเฝื่องุนงงสงสัยอันอาจจะพึงเกิดมีขึ้นมาได้ และเพื่อให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นเค้าโครงแห่งวรรณกรรมเรื่องนี้อีกสักครั้งหนึ่ง จึงใคร่ขอโอกาสกล่าวอวสานกถาเป็นการย้ำความลงไว้ ดังต่อไปนี้

            วรรณกรรมเรื่อง กรรมทีปนีนี้เริ่มด้วยอารัมภกถา ซึ่งพยายามอธิบายให้ท่านผู้มีปัญญาได้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมของศาสตราจารย์เจ้าลัทธินอกศาสนา มีท่านปูรณกัสสปศาสดาจารย์เหล่านั้น พากันบัญญัติลัทธิโง่เขลาเป็นมิจฉาทิฐิ เข้าลักษณะเป็น นัตถิกทิฐิ อเหตุกทิฐิ และอกิริยทิฐิ บังอาจสั่งสอนเรื่องกรรม ผิดไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเป็นเหตุให้ศาสดาจารย์เจ้าลัทธิพร้อมกับสาวกบริวารพากันไปลงนรก หลังจากตายจากโลกนี้ไป เพราะโทษที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องตามครรลองแห่งกรรม จนถลำตัวล่วงมิจฉาทิฐิอกุศลกรรมบถอันเป็นบาปหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องกรรม มีโทษสถานหนักร้ายแรงเพียงใด เสร็จจากการอธิบายความเป็นอารัมกถาแล้ว ได้นำท่านผุ้มีปัญญาท่องเที่ยวศึกษาไปในเรื่องกรรม ตามแนวทางที่ปรากฏมีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยแบ่งการวรรณาไว้เป็น ๓ ภาค ดังนี้ - - -

                ท่านแบ่งออกเป็นภาคประเภทแห่งกรรม ภาคกรรมวิบาก และภาคกรรมฑหนะ และต่อไปนี้ก็จะเป็นการแกะเอาตัวเรื่องกรรมทีปนี มาให้ท่านผู้อ่านที่รักของหนูเอียดได้ทัศนากันจริงๆ เสียทีว่า ลักษณะสำนวนที่ได้รับรางวัลนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร จะแกะเอาตอนต้นเรื่องมาลงเลยทีเดียว

 ปณามพจน์
นมตถุ รตนตุตยสุส.

                (๑) ข้าพเจ้า ขอถวายนมัสการแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาแผ่ไปในไตรภพ และพระนพโลกุตรธรรมอันล้ำเลิศ กับทั้งพระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐด้วยเศียรด้วยเกล้าแล้ว  จักอภิวาทนบไหว้ท่านบุรพาจารย์ทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งญาณและพระคุณอันบริสุทธิ์ ด้วยความคารวะเป็นอย่างยิ่ง แล้วจักพรรณนาอรรถวรรณาเรื่องกรรมแบบธรรมบรรยาย โดยมุ่งหมายเป็นวรรณกรรมไทย ชื่อว่า กรรมทีปนี เพื่อจักชี้แจงถึงประเภทแห่งกรรม ผลแห่งกรรม และการเผาผลาญทำลายล้างกรรม อันเป็นเรื่องที่น่ารู้น่าศึกษาตามหลักฐานที่ปรากฏมีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ขอมวลชนผู้มีปัญญาทั้งหลายจนตั้งใจสดับอรรถวรรณนาของข้าพเจ้า ซึ่งจักพรรณนาในลำดับต่อไปด้วยดีเทอญ

อารัมภกถา

                (๒) สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรายังทรงพระชนมชีพ และทรงประกาศพระศาสนาอยู่นั้น ปรากฏว่ามีศาสดาจารย์เจ้าลัทธิผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังลือชามหาชน บางหมู่ยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ผิดแปลกจากมนุษย์ธรรมดาสามัญ ทั้งลัทธิคำสอนของท่านก็เป็นอัจรรย์ คือ เมื่อผู้ใดใครผู้หนึ่งประสงค์จะประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ก็ย่อมปฏิบัติได้โดยง่ายดายและแสนจะสะดวกนักหนา ท่านศาสดาจารย์ผู้มีนามว่า ปูรณะ กัสสป

            ท่านปูรณะ กัสสป ศาสดาจารย์ผู้นี้มีชีวประวัติว่า เดิมทีเป็นทาสแห่งเศรษฐีมีทรัพย์ศฤงคารมหาศาลตระกูลหนึ่ง ก่อนที่เขาละลืมตามาดูโลกนั้น ท่านเศรษฐีมีข้าทาสสำหรับใช้สอยอยู่ในบ้านถึง ๙๙ คนแล้ว และในสมัยนั้นถือว่า ทาสคนใดเกิดมาครบเป็นคนที่ ๑๐๐ ทาสคนนั้นชื่อว่า เป็นมงคลทาส แห่งตระกูล ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านศาสดาจารย์ในอนาคตเกิดมาเป็นคนที่ ๑๐๐ ในตระกูลพอดี ท่านเศรษฐีเจ้าเงินจึงตั้งชื่อให้อย่างไพเราะว่า "ปูรณะ" ซึ่งแปลว่า นายเต็มผู้มงคลทาส แล้วออกประกาศแก่บุตรภรรยาและผู้คนทุกคนในบ้านว่า
            " เจ้าปูรณะนี้มันเป็นมงคลทาสของเรา การงานสิ่งไรในบ้านทั้งหลาย มันจะชอบใจทำก็ตาม ไม่ชอบใจทำก็ตาม พวกเราอย่าว่ากล่าวมันเลย ดีชั่วหนักนิดเบาหน่อยอย่างไรพวกเราจงอย่าได้ถือสาเลย ปล่อยให้มันอยู่สบายตามอัธยาศัยของมันเถิด"

            ฝ่ายท่านกระทาชายนายปูรณะผู้มีฤกษ์กำเนิดดีเกิดมาสบโชค ครั้นเจริญวัยวัฒนาการก็เป็นหนุ่มเจ้าสำราญประจำบ้าน มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายเสมือนดั่งว่าตนมิใช่ทาส ใคร่จักกระทำสิ่งใดก็ได้ตามอัธยาศัย ใคร่จักกินก็กิน ใคร่จักนอนก็นอน ใคร่จักเที่ยวก็เที่ยว ใคร่จักเล่นก็เล่น ไม่มีใครบังคับบัญชา ไม่มีใครว่ากล่าว เขาประพฤติตนประหนึ่งดังว่าเป็นพณะหัวเจ้าท่านอีกคนหนึ่ง ในบ้านมาอย่างนี้เป็นเวลาช้านาน กาลวันหนึ่ง จะเป็นเพราะว่าเขาหมดบุญไม่สามารถที่จะเสวยสุขอยู่ในบ้านนั้นอีก หรือจะเป็นเพราะเวรกรรมอย่างใดก็สุดที่จักเดา จึงทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นว่า
                "อาตมาอยู่ที่นี่ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร อยู่ไปวันหนึ่งๆก้เท่านั้นเอง การงานสิ่งไรไม่ได้ทำเหมือนเขาอื่น ยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งกลุ้มใจหนักขึ้นทุกวัน อย่ากระนั้นเลย ควรที่อาตมาจักหนีออกจากบ้านไปยังสถานที่อื่น ลองท่องเที่ยวไปในโลกกว้างเสียสักพัก หากว่าไม่เป็นการดีแล้ว จักกลับมามีชีวิตอยู่ในบ้านอีกตามเดิม"

            ดำริเห็นดีงามไปตามอำเภอใจดังนี้แล้ว ออปูรณะเพื่อนก็มิรอช้า พอย่างเข้ายามราตรีจึงลอบหนีออกจากบ้านเศรษฐี โดยมีของจำเป็นติดตัวไปเพียงเล็กน้อย เดินทางเผชิญโชคเรื่อยไปตามความพอใจ วันหนึ่งบังเอิญเคราะห์ร้ายถูกปล้น พวกโจรมันพากันริบเอาทรัพย์สินที่เขามีติดตัวอยู่เสียจนหมดสิ้น  เมื่อเห็นว่าได้ทรัพย์น้อยนักหนา โจรผู้หัวหน้าจึงกล่าวแก่เขาว่า "ทด! คนจัญไร เหตุไฉนออเจ้าจึงเป็นคนอนาถา หาสมบัติมิได้ถึงเพียงนี้ ทำให้พวกเราเสียทีที่ปล้นเจ้า ฉะนั้น เราจะทำให้เป็นคนอนาถาหนักเข้าไปอีก" ว่าดังนี้แล้วก็พากันเปลื้องเอาผ้านุ่งผ้าห่มออกจากร่างกายเขาจนหมดสิ้น แล้วรีบหนีไป ปล่อยให้กระทาชายปูรณะยืนงงอยู่ในป่านั่นแต่ผู้เดียว โดยไม่มีผ้าพันกายเลย
           
            หลังจากยืนงงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ออปูรณะผู้ถูกโจรปล้นก็รีบเดินเข้าไปในป่าลึก ด้วยเกรงว่าใครมาพบเห็นเข้าจักได้รับความละอาย ก็ออปูรณะมงคลทาสนั้น วิสัยเพื่อนเป็นคนโฉดเขลาไร้ปัญญา เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยทำอะไรเลย ดังนั้น เมื่อถึงคราวเคราะห์หามยามร้ายโจรปล้นจนถึงไม่มีผ้าจะพันกายดังนี้ ก็หามีความคิดที่จะเอาใบไม้ใบหญ้ามาปกปิดกายตนต่างผ้าเป็นการชั่วคราวไปก่อนไม่  ได้แต่เดินมะงุมมะงาหราระทมทุกข์ซุกซ่อนตนอยู่ต่ในป่านั่น ครั้นเกิดความหิวโหยขึ้นมา แสบท้องหนักเข้าทนมิได้ก็สิ้นความละอาย เดินโซซัดโซเซเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อจะขออาหารบริโภคประทังชีวิต ฝ่ายชาวบ้านแถบนั้นซึ่งเป็นคนปราศจากปัญญาเหมือนกัน ครั้นเห็นกระทาชายนายปูรณะเดินด้วยกิริยาอันพิกลเช่นนั้น ต่างก็บอกแก่กันและกันว่า

            ท่านผู้นี้เป็นนักบวชปฏิบัติมักน้อยสันโดษ แม้แต่ผ้าท่านก้หานุ่งห่มไม่ ถ้ากระไร ท่านผู้นี้เห็นจะเป็นพระอรหันต์อย่างแม่นมั่น มาเถิดเหวยพวกเรา จงมากระทำบุญในท่านเถิด จักได้ประสบบุญกุศลมาก จะหาสมณะอื่นใดที่ทรงคุณวิเศษมักน้อยสันโดษ เสมอด้วยสมณะองค์นี้เป็นไม่มีอีกแล้ว

            ชาวบ้านป่าผู้โง่เขลาปราศจากปัญญา ว่าแก่กันด้วยความตื่นเต้นในผู้วิเศษดังนี้แล้ว ต่างก็ถือเอาขนมนมเนย และอาหารอันประณีตเท่าที่ตนจักสามารถหามาได้ มามอบถวายให้แก่ออปูรณะผู้หิวโหยเป็นอันมาก ครั้นได้บริโภคอาหารเป็นที่อิ่มหนำสำราญหายหน้ามืดเพราะความหิวแล้ว และได้ยินเขาสรรเสริญตนอยู่หนักว่าเป็นพระอรหันต์ๆ ออปูรณะผู้มีปัญญาสั้นก้เลยสำคัฯตนเอาเองว่าตนเป็น "พระอรหันต์" ขึ้นมาจริงๆ ตั้งแต่นั้นมา ก็เกิดอะโยนิโสมนสิการถือมั่นเห็นอกิริยาทิฐิว่า
            "ทำบุญก้ไม่เป็นอันทำ จะทำบุญสักเท่าไรๆก็คงเป็นอันทำเหนื่อยเปล่า หาได้บุญไม่ ทำบาปก็ไม่เป็นอันทำ ถึงจะทำบาปสักเท่าไร่ๆ ก็หาได้บาปไม่ ดูตัวอย่างเช่นอาตมานี้เถิด อาตมาได้กระทำบุญสักทีเมื่อไร่ อยู่เฉยๆเปล่าแท้ๆไม่ได้ทำอะไรเลย  ถึงทีจะได้เป็นพระอรหันต์ ก็ได้เป็นเอาเฉยๆ อย่างนั้นเอง การที่อาตมาได้เป็นพระอรหันต์ในครั้งนี้ มิใช่ว่าด้วยอาตมาภาพแห่งบุญและบาป แต่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็เพราะกิริยาที่อาตมาไม่นุ่งห่มผ้า ฉะนั้น ภาวะไม่นุ่งผ้านี้ จึงเป็นบรรพชาเพศอย่าดีมีคนไหว้นบนับถือมากมาย ลาภสักการะบังเกิดขึ้นเป็นหนักหนา อย่ากระนั้นเลย ต่อแต่นี้ไปอาตมาจะไม่นุ่งห่มผ้าเลยเป็นอันขาด"

            ออปูรณะอรหันต์ปลอมถือมั่นในความคิดเห็นแห่งตนดังนี้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้จะมีใครทำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้ เพื่อนก็ไม่นุ่งเลย  ถือเพศเปลือยกายแก้ผ้านั่นแลเป็นบรรพชาแห่งตน คนโฉดเขลาไร้ปัญญา ก็พากันเคารพนับถือมากขึ้นไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าในภายหลังได้มีคนเลื่อมใส พากันสมัครเป็นสาวกอยู่ในสำนักของนายปูรณะชีเปลือยนั้นประมาณ ๕๐๐ คน เคารพนับถือปูรณะชีเปลือยเป็นครูบาอาจารย์ ขนานนามว่า ปูรณะ กัสสป ผู้เป็นพระศาสดาจารย์เจ้าลัทธิแห่งตนว่า ท่าน ปูรณะ กัสสป ศาสดาจารย์ - - - -
            ครับ ก็คงแกะเอามาได้แค่ไม่ถึงหนึ่งในร้อย เพราะหนังสือหนาตั้งพันกว่าหน้า ปกติหนังสือทุกเล่มที่นำมาแกะ หนูเอียดจะอ่านทุกตัวอักษรอย่างละเอียดละออ บางเล่มอ่านมาแล้วหลายครั้ง แต่ "กรรมทีปนี" นี้ต้องขอสารภาพว่า ยังอ่านไม่จบ จำได้คลับคล้าบคลับคลาว่า ใครคนหนึ่ง นิยามคำว่า "วรรณกรรม" ไว้ว่า "วรรณกรรมนั่นคือหนังสือดี...แต่ไม่มีใครอ่าน" หนูเอียดไม่เชื่อหรอกครับว่า เรื่องนี้จะไม่มีใครอ่าน เพียงแต่จะหาโอกาสอ่านได้อย่างไรเท่านั้น

            อย่างไรก็ตาม เท่าที่แกะเอามานี้ก็มีที่น่าสนใจตอนหนึ่ง จากคำรำพึงของออปูรณะอรหันต์ปลอม

            - - - อาตมาได้กระทำสักทีเมื่อไร อยู่เฉยๆเปล่าแท้ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ถึงทีจะได้เป็นพระอรหันต์ ก้ได้เป็นเอาเฉยๆ อย่างนั้นเอง ---

            แหม เหมือนสมัยนี้เพะเลยแฮะ ใครคนนึงก็เพิ่งเอ่ยประโยคนี้ไปแหม็บๆ


55



ที่มา ต่วยตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐
ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น