++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

กองทุนสุขภาพป่างิ้ว เพื่อความสุขของปวงประชา กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง

เรียบเรียงโดย กฤษณา สว่างโสภากุล

            "เห็นประชาชนมีความสุข เราก็มีความสุข"   
            คำพูดนี้ออกจากปากผู้ใหญ่คนหนึ่งใน อบต.ป่างิ้ว ทำให้เราเห็นภาพชัดว่า ทำไมโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของ อบต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง จึงได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นความสำเร็จที่มาจากคน ผู้ทำงานในกองทุนฯ
            กองทุนฯ สุขภาพป่างิ้ว มีนายก อบต.ป่างิ้ว เป็นประธาน มีปลัด อบต.ป่างิ้วเป็นกรรมการและเลขานุการ มีคณะกรรมการ 20 คน ซึ่งมีคุณสมบัติต้องตามที่กำหนด และได้รับการคัดเลือกจากองค์กรที่เกี่ยวข้องและจากแต่ละหมู่บ้าน

            ผู้นำของกองทุนฯ มีวิสัยทัศน์ที่สูงส่ง "เห็นประชาชนมีความสุข เราก็มีความสุข" คณะกรรมการเป็นคนทำงานที่เข้มแข็ง คือ รอบรู้และเข้าใจเรื่องการดำเนินงานกองทุนฯ หลักวิชาการ ตลอดจนธรรมชาติของคนในพื้นที่ คณะกรรมการชุดนี้ร่วมมือร่วมใจทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเพื่อส่วนรวม เสียสละเวลาและเงินส่วนตัวไม่น้อย เพื่อปฏิบัติภาระกิจให้ลุล่วงไปด้วยดี

            อบต.ป่างิ้ว เน้นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ดังนั้น เรื่องของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นจึงเป็นการต่อยอดให้กองทุนฯ ทำงานได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น เมื่อบวกกับทีมงานที่เข้มแข็ง คณะกรรมการชุดนี้ได้สร้างกระบวนการเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย มีการประชุมเพื่อปรับความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ยืดหยุ่นและปรับตัวตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา

            คณะกรรมการกองทุนฯ สามารถวางแผนโครงการสุขภาพที่รัดกุมและตรงจุด เพราะมีวิธีการหาข้อมูลหลายรูปแบบ เช่น จากฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ จากการทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน จากการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เสนอโครงการหรือแผน และจากการสำรวจข้อมูล โดยเน้น "ข้อมูลที่เป็นจริง เกิดขึ้นจริง" ในพื้นที่
            คณะกรรมการกองทุนฯ ได้กลั่นกรองข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว สามารถสร้างโครงการได้ 7 โครงการ สำหรับ คนสูงอายุ, เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก วัยรุ่น คนพิการ ผู้ป่วยเรื้อรังและโครงการป้องกันภัยโรคหลอดเลือดสมอง
          
            โครงการที่โดดเด่น คือ โครงการผู้สูงวัยใส่ใจคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย เช่น การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ สอนการทำงานอดิเรก ตรวจสุขภาพทุกเดือน ประกวดสุขภาพผู้สูงวัย พาเข้าวัดไหว้พระเพื่อจิตวิญญาณ รดน้ำดำหัวเพื่อความอบอุ่นทางใจแก่ผู้สูงวัยในวันสงกรานต์
            ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนฯ ยังได้จัดทีมไปถึงบ้านผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ไม่มีโอกาสไปรับบริการอีกด้วย

            จากกระบวนการประเมินผล/ การสะท้อนกลับ/ การตรวจสอบ พบว่า กองทุนฯ ได้รับคะแนนความพึงพอใจจากผู้รับบริการสูงถึง 8 จาก 10 คะแนน ผู้รับบริการเห็นว่า สถานีอนามัยมีบริการที่ดีขึ้น เข้าถึงได้ง่ายและเสมอภาค
            ขอคารวะต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ป่างิ้วมา ณ ที่นี้ และขอเอาใจช่วยให้ท่านได้พัฒนากองทุนฯ อย่างที่ท่านอยากให้เป็น คือ การประชาสัมพันธ์  การเพิ่มศักยภาพของคณะกรรมการในเรื่องการคิดกลยุทธ์และทักษะ และการใช้งบประมาณ
            เราเชื่อว่า SUPERTEAM  (ทีมชั้นยอด) นี้ทำได้


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สุนทรี สิทธิสงคราม
วพบ.พระพุทธบาท สระบุรี



               
               




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น