++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผมก็ร่วมแต่งเพลง สดุดี ป.พิบูลสงคราม

สง่า อารัมภีร

            สดุดี ป.พิบูลสงคราม
        ไชโย            วีรชนชาติไทย
    ตลอดสมัย        ที่ไทยมี
    ประเทศไทย       คงชาตรี
    ด้วยคนดี          ผยองชัย
        ท่านผู้นำ        พิบูลสงคราม
    ขอเทิดนาม        เกริกไกร
    ขอดำรง            คงไทย
    ตลอดสมัย        เทิดไทย ชะโย


            เพลงนี้ น.อ.ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ผอ.กองภาพยนตร์ ทอ.ทุ่งมหาเมฆ มอบให้ท่านพระอาจารย์เจนดุริยางค์ แต่งทำนองและทำเสียงประสาน  ให้ท่านกาญจนาคพันธ์ แต่งคำร้องเพื่อให้คณะนักร้อง ทอ. อันมี จ่าอากาศโท ถวัลย์ วรวิบูลย์ นำหมู่ คณะร้องตามหมู่ก็มี สง่า อารัมภีร สันต์ โตเจริญ ไฉน ไลยะเกศ อัมพร มหาสินานนท์ และนักร้องหญิงอันมี จำเพาะ  กมลวาทิน มาลี ไลยะเกศ ยุวนุช ฤกษ์ยามดี เฉลิมขวัญ โหมดประดิษฐ์  ร่วมขับร้องภายใต้รูปท่านนายก และธงชาติไทย จะถ่ายประกอบการฉายภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่-นาเรา ซึ่ง เรืออากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ พระเอกและ คุณอารี ปิ่นแสง นางงามโรงน้ำตาลเกาะคา ลำปาง แสดงเป็นนางเอก พอฉายไตเติ้ลภาพยนตร์ก็จะต่อด้วย เพลงสดุดี-ป.พิบูลสงคราม ก่อนแล้วจึงจะดำเนินเรื่องไปจนจบเรื่อง ฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเพลงสรรเสริญพระบารมี

            หนังเรื่อง "บ้านไร่นาเรา" ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงก่อน แล้วจึงให้รถ สห. ทอ.นำฟิล์มม้วนที่ ๑ ที่ ๒ วิ่งไปส่งยังโรงภาพยนตร์นิวโอเดี้ยนต่อไป ฉายเมื่อต้นปี ๒๔๘๕ คงจำกันได้นะครับว่า ทหารญี่ปุ่นขอผ่านภาคใต้เมืองไทยเมื่อกลางดึก พ.ศ.๒๔๘๔ มีการยกพลขึ้นบกรบกันอย่างยับเยิน จากอ่าวประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ญี่ปุ่นยกพลขึ้นมา ทหาร ตำรวจไทย ตลอดจนยุวชนทหารสู้ตาย ไม่ถอย จนวันรุ่งขึ้นบ่ายๆ จึงมีคำสั่งให้ยุติการต่อสู้ ปล่อยให้ญี่ปุ่นขึ้นบก ยกพลขึ้นรถไฟไปโจมตีมาลายูและสิงคโปร์ เกาะโชนัน จนรับชัยชนะไปในที่สุด

            ที่ปากอ่าวเจ้าพระยา บริเวณสถานตากอากาศบางปู มีญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งมาตั้งร้านค้าขายอาหาร และเครื่องถ่ายรูปและอื่นๆอันเป็นสินค้าญี่ปุ่น ลุกขึ้นแต่งตัวเป็นนายสิบ  นายทหารญี่ปุ่นไปยึดบางปูไว้ ทำทีว่าบุกจากน้ำมาขึ้นบกที่บางปู แต่ทหารตำรวจไม่เชื่อ เพราะไม่มีเรือรบอะไรจะฝ่าร่องน้ำเข้ามาได้ หากเรือนำร่องของกรมเจ้าท่าไม่ไปนำเข้ามา จึงถือว่าไม่ใช่นักรบจากกองทัพอาทิตย์อุทัย เป็นพ่อค้าปลอมเป็นทหาร จึงกั้นไว้ไม่ให้ผ่านเมืองสมุทรปราการ พระเจดีย์กลางน้ำเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้ รถไฟสายปากน้ำจึงมีทหารเรือควบคุมอย่างใกล้ชิด ไม่ยอมให้ทหารญี่ปุ่นแปลงเข้ามากับขบวนได้ ต่อเมื่อรัฐบาลระงับการต่อต้านนั้นแล้ว  พวกเขาจึงมาเดินโก้อยู่แถวๆสีลม สี่พระยา สบายๆ บางคนยืนขับรถรางสายรอบเมืองโก้ พวกเราเด็กๆเรียกทหารชุดนี้ว่า ทหารไอ้ยุ่นปลอมโว้ย ไอ้ยุ่นปลอม ไม่ใช่นักรบจากอาทิตย์อุทัยตัวจริง เอ็งปลอมมารบกันใครวะ เค้าไปรบกันในมลายู สิงคโปร์ โชนันโน่น มางมโง่อยู่ทำไมหวา....


            เพลงนี้ ท่านอาจารย์พระเจนแต่งเสร็จเย็นๆ ท่านก็กลับบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับทรอกกะเดโร โฮเต็ล ท่านกาญจนาคพันธ์ก็แต่งไว้ครึ่งเดียว น.อ.ขุนสวัสดิ์ ต้องการให้เสร็จในคืนนั้น เพื่อเช้าจะได้ถ่ายและล้างฟิล์ม ตกบ่ายก็จะเข้าฉายแล้ว เฉลิมกรุงและนิวโอเดี้ยน กำหนดมาแล้ว

            โน้ตเพลงอยู่ที่เปียโน ใต้ถุนตำหนัก เนื้อเพลงมีครึ่งเดียว ท่านก็ให้ผมไปเชิญ ร.อ.ทองอิน บุณยะเสนา  ครูเนรมิตร ถวัลย์ วรวิบูลย์ มาที่ห้องดนตรี ใต้ถุนตำหนัก เมือมากันพร้อม ท่านก็ว่า "ต้องช่วยกันแต่งให้เสร็จในคืนนี้ เอ้า ไอ้แจ๋ว เอ็งดีดทำนองไป"

            ผมก็ทำหน้าที่อยู่เกือบชั่วโมง  เพลงก็เรียบร้อย ต่างคนแยกกันไปนอนด้วยความอิ่มใจ
            เมื่อหนังเข้าฉายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ สงครามเครียดหนักเข้าทุกที ไม่มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายเลย เพราะสัมพันธมิตรปิดอ่าวไทยเรียบร้อย เรือเข้ามาโดนตอร์ปิโดยิงจม ข้าวของเสียหายหมดสิ้น

            ศาลาเฉลิมกรุงดำริเปิดการแสดงด้วยคณะปรีดาลัย ศิวารมณ์ เทพศิลป สุปรีดี และอื่นๆโปรแกรมละ ๑๒ วัน เดือนละ ๒ โปรแกรม ทีนี้ก่อนแสดง ละครก็ฉายภาพยนตรฺ์โฆษณา มีการฉายภาพจอมพล ป. และเพลงนี้ทุกรอบ ภายหลังมีประกาศของให้ผู้ชมลุกขึ้นยืนคารวะท่านผู้นำ  อีตอนนี้สิครับ มีเสียงตะโกนว่า

            "กูไม่ยืนเคารพโว้ย ท่ามจอมพลไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรา" ก็มีเสียงตะโกนดังนี้ทุกรอบๆ เจ้าหน้าที่โรงไปแจ้งความตำรวจ ตำรวจเข้ามาก็จับใครไม่ได้ เขาตะโกนตรงโน้นตรงนี้ จนไม่รู้ว่าใครบ้างที่ตะโกน เป็นที่เอือมระอาแก่ตำรวจเป็นยิ่งนัก
           
            ทีนี้ก็เกิดเหตุการณ์พิเศษ คือ ตะโกนด้วย แล้วเอามีดมากรีดทำลายที่นั่งด้วย ตำรวจจึงประกาศให้เปิดไฟทั้งโรง ใครนั่งทับที่นั่งที่ถูกกรีด ตำรวจก็จับตัวไปปรับค่าเสียหายยังโรงพัก จะไม่จ่ายก็ไม่ได้เพราะเฉลิมกรุงเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใครจะทำความเสียหายมิได้
            จึงมีคำสั่งให้หยุดฉายเพลง ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะได้ไม่เกิดความเสียหาย เรื่องนี้มายุติเอาตรง สห.ทบ.ต้องมายืนอยู่ตรงประตูเข้า เพื่อตรวจมีดและอื่นๆที่จะทำความเสียหายได้

            สมัยโน้น ชาวบ้านกลัว สห.ทหารมากกว่าตำรวจท้องที่ครับ  เพราะตำรวจ "คุมนักเลง" ไม่ได้ ทหารคุมได้ มาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็น ผบ.ทบ.และ ผบ.สูงสุดนั่นแหละ นักเลงทั้งหลายจึงสาบสูญไป ไม่เหลือไว้เป็นอนุสรณ์แม้แต่คนเดียว

            ครับ เวลานี้เมืองไทยปลอดนักเลงครับ ...มีแต่คนดีช่วยอาหาร เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ยากไร้ ชาวบ้านเรียกว่า
            ผู้มีน้ำใจ ต้านภัยยากจน ตลอดจนภัยเอดส์ ครับ

ที่มา ต่วยตูน ปักษ์แรก ธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ เล่มที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น