++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            หนองบัวใต้ ตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นตำบลขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 84,533 ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 2,210 หลังคาเรือน มีประชากรอาศัยอยู่ 6,047 คน
            หนองบัวใต้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดระบบความคิดที่ดี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกองทุนฯ ต้นแบบ เป็นบทเรียนที่ดีในการดำเนินงาน สำหรับกองทุนทีกำลังเริ่มดำเนินการใหม่ได้เป็นอย่างดี

            ระบบคิด "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" มาจากการพยายามสร้างความเป็นธรรมในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยทุกๆปี จะขอการสนับสนุนจากสมาชิกในพื้นที่ คนละ 20 บาท ซึ่งประชาชนหกพันกว่าคนที่เป็นสมาชิก ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
            "ก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าเขาทำอะไร แต่ก็พอๆรู้ว่า มีคนได้เงิน เวลาไปนอนโรงพยาบาล ในส่วนสถานีอนามัย ก็ให้การตอนรับดี " ประชาชนในพื้นที่กล่าว
            "เรื่องการเก็บเงิน 20 บาท ต่อคน ต่อปี ก็ผ่านประชาคมและความเห็นของกรรมการ แม้เป็นเงินไม่มากนัก แต่ถือว่าเป็นการจ่ายเพื่อเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เพราะบางคนก็ยังไม่ได้ใช้ส่วนตรงนี้ บางคนก็ใช้มาก ถือเป็นการเฉลี่ยกัน ทุกคนที่เข้าร่วมก็ยินดีจ่าย"
       
            นั่นคือ คำพูดของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใต้ ผู้ที่คิดระบบนี้ขึ้น เพื่อใช้ดูแลสุขภาพของชาวบ้านในหนองบัวใต้
            หลังจากตัดสินใจเข้าร่วมกองทุนฯ และมองเห็นความสำคัญของกองทุนฯ ว่ามีประโยชน์  เพราะสามารถจัดกิจกรรมได้มากและหลากหลายรูปแบบ กองทุนฯ ยังสนับสนุนเงิน เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพให้กับประชาชนโดยตรง

            ดังคำกล่าวของ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใต้ว่า
            "เรื่องของสุขภาพนั้น ทาง อบต.ทำอยู่แล้ว การเข้าร่วมโครงการเป็นประโยชน์มาก คือ สามารถทำกิจกรรมได้ง่ายกว่าเดิม คือ การทำงานในรูปแบบของกรรมการจะทำได้ง่ายกว่า ..ก่อนหน้านั้น อบต.จะให้สถานีอนามัยทำ อบต.จะเป็นหลักไม่ได้ แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายมีการร่วมกันทำมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นส่วนที่ดี"
           
            กลยุทธ์ที่นำมาใช้ประกอบกับระบบคิดเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขนั้น คือ การปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง สร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน
            จุดอ่อนของการทำโครงการในระยะแรกนั้น คือ ความสับสนในการดำเนินงานของคณะกรรมการเอง ทุกคนกลัวการทำผิดระเบียบ กลัวถูกมองว่า ดำเนินงานไม่เป็นกลาง ดังนั้น จึงแก้ปัญหาโดย ชี้แจงข้อมูลต่างๆ มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง มีการให้ข้อมูลเวลาทำประชาคม รวมถึง จัด อบต.สัญจร และนี่คือ การปิดจุดอ่อนสำคัญ

            การเสริมจุดแข็งในการทำงาน คือ การดึงอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ดังคำกล่าวจากบุคลากรสถานีอนามัย
            "ก็มีส่วนในการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นการให้ความร่วมมือของ อสม. บางส่วนก็ทำได้มากขึ้นจากโครงการนี้ คือ เป็นโครงการเกี่ยวกับสุขภาพ ถือเป็นความเชี่ยวชาญของ สอ.อยู่แล้ว"
            อสม.เหล่านี้ ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนในชุมชนโดยตรงอยู่แล้ว จึงมีการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการทำงานของทีมงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดการสานต่อนโยบาย และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนที่แข็งแกร่ง ดังที่ นายก อบต.กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า
           
            " ก้พอใจในระดับหนึ่ง อยากทำให้ลึกมากกว่านี้ ก็พยายามปิดจุดอ่อนที่มีพี่น้องมองว่าไม่เป็นกลาง ก็มีการนำเข้ามาพูดคุยกันในหมู่กรรมการว่า การจ่ายเงินชดเชยต้องดูให้ดีจริงๆ ซึ่งก็อาจจะต้องมีการปรับวิธีการให้เหมาะสมต่อไป ...ก็ภูมิใจที่ได้ใจจากพี่น้อง"
            เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขเกิดขึ้นในหนองบัวใต้ได้ ก็เพราะมีผู้นำที่ฉลาด มีแนวคิด สามารถนำแนวคิดเหล่านั้นไปเป็นแนวทางการตัดสินในร่วมกันกับผู้นำฝ่ายอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปลัด อบต. อนามัย อสม. รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ แล้วยังดึงจุดแข็งของทีมงานแต่ละบุคคลมาใช้ประโยชน์ ตามคำพูดที่ว่า  "Put the Right Man On The Right Job " ได้อีกด้วย
           
            ดังนั้น การบริหารงานของหนองบัวใต้ก็สมแล้วที่ได้ชื่อว่า  เป็นพื้นที่ต้นแบบที่พื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปสร้างแรงดลใจในการบริหารเพื่อเฉลี่ยทุกข์ เฉลียสุขให้กับคนในชุมชนได้เช่นกัน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.ชมนาด วรรณพรศิริ
วราภรณ์ สัตยวงศ์
นุโรม จุ้ยพวง
วิภา ประสิทธิโชค
ดร.สุชานาด อินทรคำแหง ณ ราชสีมา
วพบ.พุทธชินราช


         




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น