++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

กองทุนสุขภาพโคกสำโรง จากชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสำโรง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

            "หากพวกเราจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อใครสักคน ถ้าเอาความต้องการของเขาเป็นตัวตั้งและตอบสนองความต้องการนั้น มิใช่ยัดเยียดสิ่งที่เราต้องการไปให้เขา การกระทำนั้น มักจะได้ใจและได้ความสำเร็จเป็นผลตอบแทน"

            ที่ตำบลโคกสำโรงก็เช่นเดียวกัน การบริหารงานกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นไปตามเสียงสะท้อนจากชุมชน ดำเนินการโดยชุมชนและมีจุดมุ่งหมายเพื่อคนในชุมชน โครงการที่เกิดขึ้นจึงมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จเต็มร้อย
            นางกิติพร แตงชุ่ม นายก อบต.หญิงแห่งโคกสำโรง นำ อบต.โคกสำโรงเข้าร่วมเป็น อบต. นำร่องของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในปี 2550
            ด้วยความที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้รับการคัดเลือกจากประชาชนให้เป็นตัวแทนจากแต่ละพื้นที่ จึงเข้าใจความต้องการและสภาภวิถีชีวิตของชุมชนเป็นอย่างดี
            การบริหารงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เริ่มต้นโดยรวบรวมความต้องการและปัญหาของชุมชนจากเวทีประชาคมชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและ อสม. แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดทำแผนงานและโครงการ
       
            วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นไปเพื่อให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส แม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง และผู้ป่วยเรื้อรัง ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยบริการสาธารณสุขในการเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟูสภาพให้กับประชาชน ประชาชนในท้องถิ่นจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

            โครงการที่วางแผนไว้ตามวัตถุประสงค์ข้างต้นมีทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่ โครงการบริหารทั่วไปของระบบประกันสุขภาพในระดับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสำโรง , โครงการสร้างสุขภาพในเขตตำบลโคกสำโรง โครงการเด็กแรกเกิด 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัยและอนามัยช่องปากที่ดี , โครงการวัยรุ่นไทยปลอดภัยแข็งแรง , โครงการตั้งครรภ์ปลอดภัยใส่ใจฝากครรภ์ , โครงการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุที่บ้านในเขตตำบลโคกสำโรง , โครงการสานสายใยใส่ใจผู้พิการและโครงการก้อนมหัศจรรย์

            จากนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ จึงจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการต่างๆ
            กองทุนฯ มีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 521,824.50 บาท งบประมาณจำนวน 474,412.50 บาท ได้จาก สปสช. และอีก 47,412 บาท เป็นเงินสมทบจาก อบต.โคกสำโรง

            ระหว่างที่ดำเนินงานตามแผนงานและโครงการ คณะกรรมการกองทุนฯ ประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทราบผ่านทางหอกระจายข่าว และด้วยการบอกกล่าวเป็นรายบุคคล

            สิ่งสำคัญของกองทุนฯ นี้คือ การพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่
  • การทำงานร่วมกันของทีมงานที่ให้เกียรติกัน รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ปัญหา
  • การยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และมี "สุขภาพของประชาชน" เป็นเป้าหมายร่วมกัน
  • การประสานการทำงานะระหว่างแกนนำชุมชน องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่และพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบ ร่วมพัฒนา  
       
            จากการประเมินผลโครงการ พบว่า โครงการที่ประสบความสำเร็จและเป็นโครงการเด่นของท้องถิ่นนี้ คือ โครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุที่บ้านในเขตตำบลโคกสำโรง
            โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม พร้อมทั้งให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพตนเอง เข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาชมรมผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของแกนนำชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุอีกด้วย

            สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายใต้โครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือของศูนย์สุขภาพชุมชน ต.โคกสำโรง และ อบต.โคกสำโรง กิจกรรมเหล่านั้นได้แก่ การอบรมแกนนำ การทำทะเบียนสมาชิกในชมรมผู้สูงอายุและทะเบียนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การออกกำลังกาย กิจกรรมวันผู้สูงอายุ การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุที่บ้าน

            ผลปรากฏว่า โครงการนี้ดำเนินการได้เต็มร้อย ทีมสุขภาพและแกนนำชุมชนตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ครบทั้ง 552 ราย ผู้สูงอายุที่ไม่ป่วยจำนวน 560 ราย ได้รับการตรวจเยี่ยมครบถ้วนเช่นกัน ประชาชนพึงพอใจและให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี

            ความสำเร็จของโครงการของกองทุนฯ ของ อบต.โคกสำโรง เกิดจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน
            หนึ่ง โครงการเหล่านี้ เกิดจากความต้องการหรือปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง
            สอง ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลโคกสำโรงและ อบต.โคกสำโรง ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ตั้งแต่ร่วมกันเขียนโครงการ จนถึงไปเยี่ยมบ้านร่วมกัน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เข้าไปดูแลปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนทีมงานของ อบต. และแกนนำชุมชนเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ

            สาม ประชาชนให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพด้วย เนื่องจากประชาชนพึงพอใจจากการที่ได้รับการตอบสนองความต้องการหลายเรื่องพร้อมกัน
            สี่ แกนนำชุมชนที่ติดตามเยี่ยมบ้านได้รับค่าตอบแทนและค่าวัสดุอุปกรณ์ หมู่บ้านและ 1 พันบาท
            สุดท้าย การบริหารแบบเชิงรุก คือ ปรับเปลี่ยนกิจกรรมของโครงการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ไปให้บริการช่วงเย็น หลังจากชาวบ้านกลับจากทำงาน

            กองทุนฯ โคกสำโรงดำเนินการจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงขนาดนี้ ความสำเร็จจะไปไหน ถ้าไม่กลับคืนสู่ประชาชนหนึ่งหมื่นสองพันกว่าคนแห่งตำบลโคกสำโรง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สุนทรี สิทธิสงคราม
วพบ.พระพุทธบาท สระบุรี       



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น