++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พลังเยาวชนอุทัยสวรรค์สร้างสุขภาวะ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            อบต.อุทัยสวรรค์ เป็นหนึ่งใน อบต.ที่โดดเด่นในแง่มุมการทำงานเชิงพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ในทุกระดับ ทั้งในแง่ทีมงานที่มีกลุ่ม 10 ทหารเสือหรือกลุ่ม อสม. ที่เสียสละและเน้นการทำงานเชิงรุก ในเรื่องการเฝ้าระวังและกำจัดลูกน้ำยุงลาย จนได้รับรางวัล อสม.ดีเด่น
            อีกหลายรางวัลล้วนเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ พากเพียรในการทำงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ครอบคลุมคนทุกระดับ

            โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ อบต.อุทัยสวรรค์ ถูกคิดค้นเข้าไปอยู่ในแผนงานสาธารณสุขประจำตำบล ด้วยการแตกออกเป็น 9 โครงการ
  1. โครงการเยาวชนสามัคคีรวมใจสร้างเครือข่ายสุขภาพ
  2. โครงการอบรมผู้นำเต้นแอโรบิค
  3. โครงการประกวดแอโรบิค
  4. โครงการควบคุมโรคติดต่อ โรคไข้เลือดออก
  5. โครงการประเมินความรู้ ตรวจเต้านมสตรี
  6. โครงการอบรมกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  7. โครงการออกเยี่ยมบ้านทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส
  8. โครงการอบรมผู้สูงอายุ
  9. โครงการอบรมผู้นำนักเรียน
            "ไม่ได้แยกงานว่า เป็นงานกอนทุนฯ แต่จัดทำเอาไว้ในแผนประจำปี ของส่วนโครงการจะเน้นทุกกลุ่มเป้าหมาย ทังกลุ่มหญิงมีครรภ์ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเรียน คนหนุ่มคนสาว  ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งเบาหวาน ความดันโลหิต กลุ่มผู้พิการและด้อยโอกาสตามเงื่อนไข" เจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข อบต.อุทัยสวรรค์
            การสร้างทีมทำงานของ อบต. อุทัยสวรรค์ โดดเด่นและเรียกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการระดมพลังสมองวางเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงการประเมินระดับความพอใจด้วยการจัดทำแบบสอบถาม

            " เคยมีการจัดทำแบบสอบถาม ความพอใจในการร่วมกิจกรรมหรือร่วมโครงการ ส่วนใหญ่ก็ตอบมาว่า พอใจมาก แต่จะเชื่อถือได้หรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจเลยใช้การสังเกตเข้าช่วยประเมิน สังเกตได้ว่า การจัดกิจกรรมหรือทำโครงการอะไร ต้องทำตามเทศกาล จะมีคนมาร่วมมาก เช่น ถ้าเป็นฤดูฝน ชาวบ้านก็จะไม่มา เพราะเขาต้องทำนาหรือถึงฤดูเกี่ยวข้าว เช่น โครงการแอโรบิค หากทำช่วงสงกรานต์ ถึงจะมีชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมเยอะ ส่วนเรื่องการเยิ่ยมบ้านจะเป็นกิจกรรมเชิงรุก ทำตลอดทั้งปี" เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต.อุทัยสวรรค์

            ส่วนอีกโครงการที่โดดเด่น คือ โครงการเยาวชนสามัคคีร่วมใจสร้างเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอธิบายเพิ่มเข้าใจว่า โครงการนี้เกิดจากความคิดที่ว่า การทำงานพัฒนาสุขภาวะเป็นหน้าที่ของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคต จึงได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนจากทุกหมู่บ้าน โดยการสมัครหรือส่งตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านจำนวน 60 คน เพื่อมาเข้าร่วมแล้วจัดประชุม อบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินการกองทุนท้องถิ่น

            "มีการจัดทำ Walk rally  เพื่อให้เยาวชนได้สนิทสนมคุ้นเคยกัน กล้าแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองออกมาเพื่อสร้างทีมงาน ซึ่งเยาวชนให้การตอบรับและร่วมกันคิดร่วมกันสร้างสรรค์ โดยตั้งคณะกรรมการของพวกเขาขึ้นมาเอง และคิดกิจกรรมที่สอดคล้องกับของกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน มีการสร้างสุขภาพจิต เพื่อสร้างเสริมสุขภาพแก่เยาวชน เสริมสร้างเครือข่ายทางด้านสุขภาพในทุกระดับทั่วทั้ง อบต." เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข

            ตัวแทนเด็ก เยาวชนชายหญิงคู่หนึ่ง เล่าว่า กิจกรรมในโครงการเยาวชนสามัคคีร่วมใจฯ ดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ดี เคยทำกิจกรรมในโรงเรียน เมื่อสถานีอนามัย และ อบต.ให้ทุนสนับสนุน ก็เลยชักชวนกันทำกิจกรรมดูแลสิ่งแวดล้อม จะได้ไม่เกิดภาวะที่เป็นพิษอันส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจที่ไม่ดี

            "เรามีกิจกรรมการเดินป่าเป็นประจำ สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อสุขภาพทั้งกายและใจ อีกทั้ง กิจกรรมของกลุ่มเด็กและเยาวชน สอดคล้องกับโครงการ  TO BE NUMBER ONE  กิจกรรมต่างๆช่วยให้เด้กๆห่างไกลยาเสพติด"
            ในส่วนขั้นตอนการทำงานนั้น เด็กๆบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไรเนื่องจากทำงานสร้างสรรค์ สร้างเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ พยายามให้เยาวชนทุกคนมีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นเครือข่ายเดียวกัน
            "มีการดูแลเยาวชนที่เล็กกว่า พี่ๆจะจัดกิจกรรมให้น้องๆ ได้วาดภาพระบายสี ทำให้จิตใจอ่อนโยน หรือต่อภาพจิ๊กซอว์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนในระบบธรรมชาติ"

            การทำโครงการเยาวชนร่วมใจฯ เป็นผลลัพธ์จากการทำงานหนักของทุกฝ่าย ทำให้ปัญหาที่เกิดจากเยาวชนทะเลาะกัน ตีกันลดลง  และเกิดองค์กรเยาวชนที่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ เยาวชนได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาส่งเสริมสุขภาพอันหมายถึง การพัฒนาชุมชน อีกไม่นาน ต้นกล้าแห่งความหวังจากการทำงานของกลุ่มเยาวชนในวันนี้ จะกลายเป็นไม้ใหญ่ในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีให้เกิดกับชุมชน อีกไม่นาน....

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ยลฤดี ตัณฑสิทธิ์




ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น