++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จดหมายจางวางหร่ำ - วรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ทำนองแต่ง - ใช้ร้อยแก้ว
เรื่องย่อ -
เป็นรูปจดหมายจากจางวางหร่ำบิดาถึงนายสนธิ์ผู้บุตร รวม ๗ ฉบับ
จางวางหร่ำเป็นเศรษฐีจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่ำรวยขึ้นด้วยความอุตสาหะ
และการรู้จักเก็บหอมรอมริบ
ได้ส่งนายสนธิ์บุตรชายไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
จดหมายฉบับแรกเตือนให้รีบขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่
ต่อมาได้ข่าวการเรียนของนายสนธิ์ไม่สู้ดีแต่ใช้เงินเปลือง
จางวางหร่ำจึงเขียนจดหมายไปว่ากล่าว
เมื่อนายสนธิ์เรียนจบชั้นสามัญขอเรียนต่อจนถึงขั้นปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต
(บี เอ) จางวางหร่ำก็เขียนไปชี้แจงว่า
ความรู้ถึงเพียงนั้นเกินจำเป็นที่จะนำกลับมาใช้ที่โรงสี
ให้เตรียมเดินทางกลับ นายสนธิ์มีจดหมายมาอีก
ขอเดินทางกลับทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อเป็นการเปิดหูเปิดตา
จางวางหร่ำก็ตอบไปอีกว่า การทำเช่นนั้นไม่มีความจำเป็น
เมื่อนายสนธิ์กลับถึงเมืองไทยได้เข้าทำงานในโรงสีไฟ
แต่ขณะนั้นจางวางหร่ำไปธุระทางเชียงใหม่ นายสนธิ์ไม่พอใจสมุห์แสง
ผู้ช่วยผู้จัดการอยู่ที่โรงสี จึงเขียนฟ้องไปยังจางวางหร่ำ
จางวางหร่ำเขียนจดหมายมาเตือนนายสนธิ์ให้ระวังอย่าทำตนให้สมุห์แสงซึ่งเป็นที่ไว้ว่างใจของแกไม่พอใจ
มิฉะนั้น นายสนธิ์เองจะต้องออกจากงาน
ต่อมาจางวางหร่ำได้ข่าวว่านายสนธิ์คิดจะแต่งงาน
จางวางหร่ำก็เขียนมาจากทุ่งสงชี้แจงเรื่องการเลือกคู่ครอง
จดหมายฉบับสุดท้ายเขียนมาจากกรุงเทพฯ
เป็นทำนองปรารภถึงเรื่องมีผู้เข้าใจว่า จดหมายฉบับก่อนๆของแกมีสำนวนขบขัน
และเรื่องที่แกคิดจะนำเงิน ซึ่งเหลือจากการทำบุญฉลองอายุ ๖๐ ปี
ไปทำประโยชน์แก่คนทั่วไป

ข้อคิดเห็น - พระนิพนธ์เรื่องนี้ของ น.ม.ส.
เมื่อพิมพ์ออกจำหน่าย ได้รับความสนใจจากประชาชนทันที
นับแต่ชื่อเรื่องก็ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า
จางวางหร่ำเป็นผู้มีชีวิตจริงหรือไม่
ถึงแม้ผู้ทรงนิพนธ์ได้ทรงชี้แจงไว้แต่แรกแล้วว่า เป็นบุคคลสมมติ
การที่ทรงใช้ทำนองเขียนแบบจดหมาย
สำหรับนวนิยายเป็นของใหม่ในวงการเขียนหนังสือของเมืองไทย
ถึงแก่นักเขียนหลายคนลองใช้ทำนองเขียนเลียนแบบ
ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของพระนิพนธ์นี้ คือ
ทรงใช้สำนวนโวหารเป็นทำนองทีเล่นทีจริง แฝงอารมณ์ขันไว้
แทนที่จะทรงใช้เทศนาโวหาร แต่มีความคมคายสละสลวยยิ่ง
จึงชวนให้อ่านสนุกไม่รู้เบื่อและก่อให้เกิดความคิดคำนึงตามไปด้วย
เนื้อเรื่องทันสมัยในเวลานั้น
ซึ่งเป็นระยเวลาที่ผู้มีฐานะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนอังกฤษ และ น.ม.ส.
เคยทรงศึกษาอยู่ในอังกฤษ
จึงทรงทราบตื้นลึกหนาบางของชีวิตนักเรียนไทยในอังกฤษได้ดี

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากๆค่ะ กำลังจะเอาข้อมูลเรื่องนี้ไปทำงานเลย

    ตอบลบ