การศึกษาในสถาบันการศึกษานั้น
ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่ความรู้ทางวิทยาการเพื่อมีวิชาความรู้ออกไปประกอบอาชีพ
แต่ในส่วนของการศึกษาระดับประถมและมัธยมยังมีความมุ่งหมายที่สำคัญคือ
การทำคนให้เป็นคน โดยการให้การศึกษาในทางศีลธรรมและจริยธรรม
การรู้จักหน้าที่ในฐานะมนุษย์และประชาชน (character education)
ทั้งสองส่วนจะต้องมีความสมดุลกัน
เพราะถ้ามีเฉพาะความรู้ในทางวิทยาการก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์เพราะจะกลายเป็น
คนที่มีความรู้แต่ขาดคุณธรรม
แต่การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่การมีศีลธรรมและคุณธรรมโดยขาดความรู้ทางวิทยาการ
ก็อาจไม่สามารถได้ประโยชน์จากการศึกษาได้อย่างเต็มที่
แต่การศึกษาอีกส่วนหนึ่งได้แก่การศึกษาและทักษะทางการเมือง
(political education and political skill)
คือการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการเมืองการบริหารโดยตรง
ซึ่งวิชาดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นวิชารัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ
หรือนิติศาสตร์ แม้กระทั่งวิชาดังกล่าวนี้ก็มักจะเป็นความรู้ทางทฤษฎี
ยังขาดการปฏิบัติหรือการขาดการฝึกทักษะ ส่วนคนที่ศึกษามาทางวิทยาศาสตร์
เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แพทยศาสตร์ ภาษา
แม้จะมีความรู้ในวิชาดังกล่าวแต่ก็อาจขาดความรู้ในทางการเมืองที่จำเป็น
สำหรับการเป็นประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จำเป็น
ต้องมีข้อมูลความรู้ เพื่อการมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์
ในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นเรื่องไม่แปลกคนที่จบการศึกษาปริญญาเอกในบางสาขาวิชา
อาจจะมีความรู้และทักษะทางการเมืองเป็นศูนย์
ขณะเดียวกันคนที่จบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาแต่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับ
กระบวนการทางการเมือง เช่น การลงเลือกตั้งในทางการเมืองส่วนท้องถิ่น
การเป็นผู้นำชุมชน การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
กลายเป็นคนมีความรู้และทักษะทางการเมืองมากกว่าบุคคลที่แม้จะมีการศึกษา
ระดับสูงกว่าตนก็ตาม
ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ทางการเมืองนี้
ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่ถือว่าสำคัญยิ่งจากการสอนนักศึกษาระดับปริญญาโท
ของมหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์การศึกษาจันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
วิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่เกี่ยวกับ ความขัดแย้งและการเจรจา
ซึ่งจะต้องประกอบด้วยการให้ข้อมูลและความรู้ทางทฤษฎีเรื่องความขัดแย้งใน
ระดับต่างๆ และชนิดต่างๆ ให้กับนักศึกษา เพื่อเป็นภูมิหลังและพื้นฐาน
จากนั้นก็ให้ความรู้ข้อมูลและทฤษฎีเรื่องการเจรจา รวมทั้งในส่วนของ game
theory ในระดับหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นความรู้ทางทฤษฎี
จากนั้นก็มีการปฏิบัติโดยให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มกันเอง 4 กลุ่ม
โดยผู้สอนไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อทำการเจรจาความขัดแย้งใน 4
เรื่องด้วยกัน
เรื่องที่หนึ่งได้แก่ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องที่สองได้แก่
ความขัดแย้งในกรณีเขาพระวิหารระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา
เรื่องที่สามได้แก่ การเจรจาระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง
เรื่องสี่ได้แก่
การเจรจาต่อรองการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าปลีกในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจการดังกล่าว
สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งก็คือ
นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานแล้ว
สามารถที่จะสมมติตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง
โดยพยายามคิดว่าถ้าตนเป็นเขาตนจะมีความคิดอย่างไร
ความสามารถเช่นนี้เรียกว่า empathy จากนั้นก็สามารถจะแสดงบทบาท
แสดงจุดยืนการเจรจาต่อรองของตนอย่างน่าประทับใจยิ่งทั้งสี่กลุ่ม
จนผู้สังเกตการณ์ที่นั่งฟังอยู่นั้นเผลอไผลจนคิดว่าเป็นเรื่องจริงจังในบาง
ครั้ง และนี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการฝึกทักษะทางการเมืองนอกเหนือจากการ
ได้รับความรู้และข้อมูลทางทฤษฎี เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ
จากที่กล่าวมาเบื้องต้น
สิ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สถาบันการศึกษา
สภาพัฒนาการเมือง กกต. หรือหน่วยงานอื่นๆ
คือการให้ความรู้ทางการเมืองและทักษะทางการเมือง ทั้งในหมู่เด็กนักเรียน
เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชน
โดยมีกิจกรรมที่มีลักษณะจำลองดังต่อไปนี้ คือ
1. สภาจำลอง
ทั้งในระดับประถมและมัธยมโดยสมมติให้มีประเด็นที่จะเสนอ
จากนั้นก็มีการประชุมเพื่ออธิบายถึงผลดีผลเสีย
และการแสดงเหตุผลหักล้างหรือสนับสนุนกัน
เสมือนหนึ่งการประชุมสภาที่แท้จริง
เพียงแต่เป็นหน่วยย่อยที่มีลักษณะคล้ายหน่วยใหญ่โดยสมบูรณ์ (microcosm)
การหาความรู้และฝึกทักษะนี้จะมีลักษณะเหมือนจริง (virtual reality)
ผู้เขียนเคยเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งซึ่งเป็น ส.ส.
สมัยแรกและแปลกใจที่ ส.ส.
ผู้นั้นสามารถอภิปรายในสภาได้อย่างคล่องแคล่วและรอบรู้
มาทราบภายหลังว่าบุคคลผู้นั้นเป็น ส.ก.อยู่หลายสมัย ส.ก.
หรือสภากรุงเทพมหานครก็คือ microcosm ของสภาใหญ่ ส.ส.
ผู้นั้นมีการฝึกทักษะในการประชุมสภา กทม.
มาอย่างคร่ำหวอดจึงสามารถทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างประทับใจ
2. การเจรจาจำลอง
ก็คือการแบ่งเป็นฝ่ายโดยเอาประเด็นความขัดแย้งที่มีอยู่จริงหรือที่สมมติ
ขึ้น แบ่งฝ่ายทำการเจรจาเพื่อหาข้อยุติในการขัดแย้งดังกล่าว
ทำนองเดียวกับที่ยกตัวอย่างของนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยบูรพา
ศูนย์การศึกษาจันทบุรี ที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้น
3. ประชาพิจารณ์จำลอง คือ
การยกประเด็นโครงการสาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือที่สมมติขึ้นมา
จากนั้นก็ให้นักเรียนชั้นประถม มัธยม หรือประชาชนที่สนใจ
ประชาชนในชุมชนสร้างฉากสมมติเพื่อแสดงประชาพิจารณ์
แต่ประเด็นสำคัญคือต้องมีข้อมูลให้พร้อมเพรียง
ทั้งข้อดีข้อเสียของโครงการเพื่อจะได้สมจริง
การกระทำที่กล่าวมานั้นจะทำให้มีการตื่นตัว การได้รับข่าวสาร
การฝึกทักษะในการแสดงคามคิดเห็นในเรื่องประชาพิจารณ์อย่างสร้างสรรค์
4. เสวนาประชาธิปไตยและปัญหาบ้านเมือง นอกเหนือจากสภาจำลอง
การเจรจาจำลอง และการทำประชาพิจารณาจำลองแล้ว
การจับกลุ่มยกประเด็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นก็จะเป็น
ประโยชน์อย่างยิ่ง โดยอาจจะมีผู้จัดการดังกล่าว 2-3 คน
ใครสนใจก็สามารถมาร่วมได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการตั้งโต๊ะและมีคนนั่งอยู่
3-4 คน แจกเอกสาร ถามประเด็นคำถามเพื่อให้มีการถกเถียงพูดจากัน
ถ้ามีประชาชนกลุ่มหนึ่ง เช่น ประมาณ 20
คนเข้ามาร่วมและมีการถกเถียงให้เป็นที่ปรากฏของสาธารณชน
จากนั้นก็ชักชวนให้ผู้ที่อยู่ใกล้ๆ มาร่วมเสวนาด้วย
ถ้าสามารถกระทำการดังกล่าวจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีเสวนาประชาธิปไตยของ
ประชาชน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และความคิดเห็น
ก็อาจจะมีส่วนในการสร้างความตื่นตัวทางการเมือง
ให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ทางการเมือง
และเป็นการฝึกทักษะในการพูดจาอย่างมีเหตุมีผลโดยสันติวิธี
ที่ กล่าวมาทั้งหมดคือรูปแบบของการให้ความรู้ทางการเมือง
การฝึกทักษะทางการเมือง
โดยบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะนำไปพิจารณา
อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะจำลองและจะ
เป็นประโยชน์ต่อจุดประสงค์ของการให้ความรู้ทางการเมือง
การฝึกทักษะทางการเมือง การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม
เพื่อเป็นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อไปได้
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000100258
ที่อเมริกา เวลาเขาทำงบประมาณประจำปี
เขาเอาร่างงบประมาณออกมาให้ประชาชนได้เห็นกันหมดว่าหน่วยงานไหนได้งบไป
เท่าใด เอาไปทำอะไร หรือพวกสส.คนไหนของบประมาณอะไรเอาไว้ จำนวนเท่าใด
เอาไปทำอะไร ก็เห็นกันหมด ส่วนประชาชนก็สามารถส่งข้อร้องเรียนไปยังสส.
หรือสว. ที่รับผิดชอบงบประมาณในด้านนั้น ๆ
ให้เพิ่มในเรื่องที่ประชาชนต้องการ เช่น
ถ้าประชาชนกลุ่มใดต้องการเพิ่มโครงการสำรวจอวกาศก็สามารถส่งข้อร้องเรียนไป
ได้ แล้วสส.กับสว.ก็รับเรื่องไว้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
ของเขาประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินเต็มที่
แต่ของเรามีเลือกตั้งเหมือนของเขา แต่ไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย
นักการเมืองทำเองหมด ตกลงแบ่งผลประโยชน์กันเองทั้งนั้น
กานต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น