++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

หลักสูตร EMBA ระบาดในเด็กเล็ก /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


ถ้า พูดถึงโปรแกรม EMBA เรามักจะนึกถึงโปรแกรมการศึกษา Executive
MBA เป็นโครงการของผู้บริหารระดับสูง
หรืออาจจะเป็นโครงการการศึกษาระดับปริญญาโทที่ผู้คนแห่แหนกันไปเรียน
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นนักบริหาร

แต่...สิ่งที่ดิฉันจะเขียนถึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กเล็กค่ะ

คำว่า E ในที่นี้ไม่ใช่ Executive แต่ E ในที่นี้หมายถึง Early

นั่นหมายความว่า EMBA ในที่นี้หมายถึง Early MBA
เป็นหลักสูตรที่กำลังฮิตสุดๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

นักเรียนที่อายุมากที่สุดในชั้นเรียนคือ 6 ปี และน้อยที่สุด คือ 3 ปี

รูปแบบของโปรแกรมดังกล่าวถูกออกแบบให้คล้ายคลึงกับหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารระดับแนวหน้าที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเมืองจีน

แต่...สิ่งที่แตกต่าง ก็คือ ผู้เรียนที่เป็นหนูน้อยเท่านั้น

กิจกรรมในแต่ละวันจะแน่นเอี๊ยด เพื่อให้เด็กๆ
เตรียมความพร้อมสำหรับเป็นผู้บริหารตัวน้อยตั้งแต่เล็ก

เด็กเหล่านี้ไม่มีเวลาไปวิ่งเล่นซนอย่างเด็กทั่วไป
เพราะต้องทำตามตารางเวลาที่โปรแกรมกำหนดอย่างเคร่งครัด

โปรแกรมยอดฮิตนี้มีหลักสูตร 2 ปี เริ่มเปิดตั้งแต่ปี 2549
มีจำนวนนักเรียน 1,500 คน และมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุ ที่เด็กๆ ต้องหน้าดำคร่ำเครียดเรียนทั้งวัน
ก็เพราะพ่อแม่ชาวจีนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า
หากอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีขึ้นต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกตั้งแต่วัยนี้
อีกทั้งพ่อแม่ชาวจีนในปัจจุบันมีความคาดหวังในตัวลูกสูงมาก

ไม่น่าเชื่อว่าครอบครัวชาวจีน 60% ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
ยอมทุ่มเงินไปกับการศึกษาของลูก เป็นจำนวน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด

ค่านิยมของพ่อแม่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่
ดี หรือมีบ้านหลังใหญ่โตเหมือนในอดีตอีกต่อไป
แต่ต้องการให้ลูกสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง
ที่ดีที่สุดให้ได้

ปัจจุบัน
เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาของจีนจะต้องรู้จักตัวอักษรจีนอย่างน้อย
1,000 ตัว และต้องท่องสูตรคูณได้คล่อง
พร้อมกับต้องแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์สัปดาห์ละ 100 ข้อ
ด้วยการคำนวณเลขอย่างรวดเร็วให้ได้ด้วย

จริงอยู่ว่าแม้พ่อแม่จะพยายามเร่งลูกอย่างไร
แต่ก็มีความกดดันอย่างหนัก เพราะกลัวลูกจะเครียดเกินไปเหมือนกัน
กังวลว่าลูกจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม
เนื่องเพราะข่าวคราวเรื่องเด็กเครียดและจบปัญหาชีวิตเรื่องการฆ่าตัวตายจาก
ทั่วโลก ก็มีให้ชาวจีนเห็นจำนวนไม่น้อย

แต่...เมื่อนำมาชั่งน้ำหนักดูแล้ว

พ่อแม่ชาวจีนต้องก้มหน้ายอมจำนนให้กับเป้าหมายความคาดหวังในตัวลูกและพร้อมที่จะเสี่ยง...!!

ส่วน หนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายลูกคนเดียวของประเทศจีน
ทำให้คนเป็นพ่อแม่ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกก้าวสู่เป้าหมายในชีวิตใน
รูปแบบนี้ และกลายเป็นค่านิยมพ่อแม่รุ่นใหม่ที่พอมีอันจะกินไปซะแล้ว

ล่าสุด รัฐบาลจีนยอมผ่อนปรนนโยบายมีลูกคนเดียว
โดยให้ชาวจีนซึ่งเริ่มจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สามารถมีลูกเพิ่มได้อีกหนึ่งคน
ในกรณีที่ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง และมีฐานะดีพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้
ซึ่งต้องได้รับการประเมินรายได้ก่อน

แต่ดูเหมือนจะช้าไป เพราะปัญหาเรื่องอยากให้ลูกเป็นคนเก่งได้ลงรากลึกพอสมควร
ปัญหา ที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็น ก็คือ
พ่อแม่ชอบที่จะอวดความสามารถของลูก
ถ้าลูกเก่งก็ช่วยให้พ่อแม่มีหน้ามีตาขึ้น
จนถึงกระทั่งเคยเกิดเหตุการณ์ความไม่พอใจของลูกที่เข้าใจว่าที่พ่อแม่ทั้ง
ผลักทั้งดันให้ลูกเก่ง ไม่รู้เป็นเพราะพ่อแม่อยากให้คนอื่นชื่นชม
หรือเพราะอยากให้ลูกเก่งเป็นเลิศจริงๆ

แนวโน้มนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้เช่นกัน
จะว่าไปแล้วที่เกาหลีใต้ระห่ำเรื่องวิชาการหนักกว่าประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคเอเชียก็ได้

เด็กเล็กเรียนหนังสือตั้งแต่เช้า
และไปเรียนกวดวิชากันถึงสองทุ่มในแต่ละวัน
ส่วนเด็กที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเตรียมตัวหนักขึ้นไปอีก
เรียนกันถึงสี่ห้าทุ่มทุกวัน

ที่สำคัญ วิถีชีวิตที่ว่านี้ได้กลายเป็นชีวิตปกติของเด็กๆ
ชาวเกาหลีใต้ไปซะแล้ว
ใครที่ไม่ได้เรียนกวดวิชาต่างหากที่กลายเป็นว่าผิดปกติ

เหลียวมามองปัญหาในบ้านเรา ความจริงก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร
อาจจะเริ่มมาก่อนและมากกว่าประเทศจีนด้วยซ้ำ
เพียงแต่ไม่ได้เรียกชื่อเป็นเรื่องเป็นราวว่า EMBA

แต่รูปแบบวิถีชีวิตของพ่อแม่ชาวไทยก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าของเขา
บ้านเราไม่มีนโยบายลูกคนเดียว เรียกว่า มีลูกกี่คน
พ่อแม่ก็ปรารถนาอยากให้ลูกเก่งทุกคน
ปัญหาเรื่องการเร่งรัดเรียนวิชาการเกิดขึ้นมานานแล้ว
เรื่องส่งลูกไปเรียนกวดวิชาทั้งหลังเลิกเรียน ทั้งวันหยุดสุดสัปดาห์
หรือแม้กระทั่งปิดเทอมก็มีให้เห็นมายาวนาน
เด็กบางคนก็มีโปรแกรมการเรียนไม่ต่างจากเด็กชาวเกาหลีใต้ที่เรียนตั้งแต่
เช้ายันค่ำ

เด็ก เล็กๆ ต้องเรียนหนังสืออย่างหนัก
เพราะค่านิยมต้องการให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนชื่อดัง
ก็ยังคงอยู่มาทุกยุคทุกสมัย
เพียงแต่รูปแบบการพยายามทุกวิถีทางที่เปลี่ยนแปลงไป

ทัศนคติที่ว่าโรงเรียนมีชื่อเสียงเท่านั้น
คือเป้าหมายสูงสุดของคนเป็นพ่อแม่ยุคนี้
เพราะค่านิยมเรื่องความเก่งของลูกคือเป้าหมายวัดความสำเร็จของคนเป็นพ่อแม่

จะว่าไปแล้วคนเป็นพ่อแม่ต่างก็ปรารถนาอยากให้ลูกของตนเก่งด้วยกันทุก
คน เพียงแต่ความหมายของความเก่งนั่นแหละที่เป็นปัญหา
เพราะความเก่งที่ถูกให้ค่าและความสำคัญมักจะไปสิ้นสุดที่เรื่องวิชาการ
ทั้งที่เรื่องความเก่งมีมากมายหลายแขนง

ความ เก่งในการใช้ชีวิตให้อยู่อย่างมีความสุข
ความเก่งในเรื่องทักษะการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ
ก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการได้เรียนในโรงเรียนชื่อดัง
หรือเรียนเก่งเท่านั้น

บอกตามตรงอ่านข่าวเรื่องโปรแกรม EMBA
ในเด็กเล็กแล้วหงุดหงิดใจไม่น้อย
เพราะผู้ใหญ่ในวันนี้กำลังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่เน้น
เรื่องชีวิตด้านนอกมากกว่าชีวิตด้านใน

และมันกำลังระบาดไปสู่เด็กเล็กลงเรื่อยๆ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111079

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น