++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

ช่วยกัน...เท้าช้างหมดแน่

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2552 09:37 น.
ตัวอ่อนของพยาธิเท้าช้างชนิด วูเชอรีเรีย แบนครอฟไต ซึ่งพบในเลือดผู้ป่วย
บทความโดย : รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย
หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง ภาควิชาปรสิตวิทยา


โรค เท้าช้าง เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ
ซึ่งก่อปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในเขตร้อนและชิดเขตร้อน
มีวิธีรู้แต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างไร ติดตามกันค่ะ

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีผู้ป่วยโรคเท้าช้างประมาณ
90.2 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้องค์การอนามัยโลกประกาศจัดตั้งโครงการกำจัดโรค
เท้าช้างในแหล่งระบาดทั่วโลก โดยตั้งเป้าในปี 2563
โรคเท้าช้างจะถูกควบคุมและกำจัดให้หมดไปหรือจำกัดให้เหลือจำนวนผู้ติดเชื้อ
น้อยที่สุด

โรค เท้าช้างที่พบในไทย เกิดจากเชื้อพยาธิตัวกลม 2 ชนิด ชนิดที่ 1
คือ วูเชอรีเรีย แบนครอฟไต (Wuchereria bancrofti)
พบในจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับพม่า ชนิดที่ 2 ชื่อ บรูเกีย มาลาไย
(Brugia malayi) พบทางภาคใต้ของไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมียุงเป็นพาหะนำโรค

โดยพยาธิจะไปเจริญเติบโตในระบบน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
ท่อน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรัง ส่งผลให้แขน ขา หรืออวัยวะเพศบวมโต

ภาพผู้ป่วยโรคเท้าช้าง ที่พบในแหล่งระบาดในนราธิวาส
ซึ่งมาตรการในการควบคุมโรค
จะเน้นให้การรักษาคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อพร้อมๆ กัน
รวมทั้งแรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทย โดยให้กินยาฆ่าพยาธิคือ
ไดเอทธิลคาร์บามาซีน ไซเตรต (Diethylcarbamazine Citrate) กับอัลเบนดาโซล
(Albendazole) ควบคู่ไปกับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อพยาธิในเลือดทุกราย

แต่ปัญหาการแพร่ระบาดยังไม่หมดไปจากประเทศไทย
เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า
จึงพบผู้ป่วยโรคเท้าช้างหลงเหลืออยู่ 3 จังหวัด คือ ตาก กาญจนบุรี
และโดยเฉพาะที่นราธิวาส มีป่าพรุขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ซึ่งเป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
จึงพบผู้ป่วยโรคเท้าช้างมากที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้การควบคุมโรคเท้าช้างในจังหวัดนราธิวาสยังไม่สำเร็จ
เพราะการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาตัวอ่อนของพยาธิเท้าช้างที่อยู่ในกระแสเลือด
ต้องทำในเวลากลางคืนจึงจะตรวจพบเชื้อ เนื่องจากในเวลากลางวัน
พยาธิเท้าช้างมักหลบไปอยู่ที่เส้นเลือดฝอยที่ปอด


นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีพยาธิในกระแสเลือดจำนวนน้อย ก็จะตรวจไม่พบ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดำเนินการควบคุมโรคเท้าช้าง
ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียนรักษาสะสม 173 ราย
ร้อยละ 73 อยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยพบมากสุดที่นราธิวาส 118 ราย
รองลงมาคือ ตาก และกาญจนบุรี ทั้งนี้
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งกำจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากพื้นที่ดังกล่าว
อันสอดคล้องกับพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาลที่มุ่งให้คนไทยมีสุขภาพ
ดีถ้วนหน้า

ด้วยเหตุผลดังกล่าว
จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองเริ่มพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างให้มี
ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยร่วมกับ นพ.วิชัย สติมัย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
กรมควบคุมโรค และในการจัดเตรียมตัวพยาธิเท้าช้าง จาก ศ.เวช ชูโชติ
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
มาวิจัยพัฒนาจนได้ชุดตรวจซึ่งใช้งานง่าย ได้ผลดี
และราคาถูกกว่าต่างประเทศประมาณ 2 เท่า

นอกจากนี้ ยังใช้เลือดเล็กน้อยจากปลายนิ้ว
จึงสามารถเจาะเลือดโดยอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ได้
ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญพิเศษ และที่สำคัญ คือ
สามารถเจาะเลือดในเวลากลางวัน เนื่องจากเป็นการตรวจหาแอนติบอดี
(ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อโรค) ชนิดไอจีจีโฟ
ที่จำเพาะต่อพยาธิเท้าช้าง จึงไม่จำเป็นต้องออกเจาะเลือดในเวลากลางคืน
และสามารถตรวจพบการติดโรคเท้าช้างได้
แม้ว่าผู้ป่วยจะมีพยาธิในกระแสเลือดจำนวนน้อยมากก็ตาม
เหมาะในการนำไปใช้ที่นราธิวาสซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
ให้สามารถควบคุมและกำจัดโรคเท้าช้างในจังหวัดนี้ให้หมดไปบรรลุตามเป้าหมาย

ตัวอ่อนของพยาธิเท้าช้างชนิด บรูเกีย มาลาไย ซึ่งพบในเลือดผู้ป่วย
สำหรับขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนั้น เป็นวิธีการตรวจหาแอนติบอดี
ชนิดไอจีจีโฟ เริ่มจากการหยอดซีรัม (ส่วนประกอบของเลือด
สามารถแยกออกจากเลือดที่แข็งตัวแล้ว ใช้วิเคราะห์หาสารต่างๆ)
ลงในหลุมพลาสติก ทิ้งไว้ทำปฏิกิริยา 1 ชั่วโมง แล้วเทซีรัมทิ้ง
จากนั้นเติมน้ำยาตัวที่ 1 ลงไปในหลุมเดิม ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เทน้ำยาทิ้ง
แล้วจึงเติมน้ำยา detector ลงในหลุม ทิ้งไว้อีก 10 นาที แล้วอ่านผล
หากน้ำยาในหลุมเปลี่ยนเป็นสีเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อโรคเท้าช้าง
รวมระยะเวลาในการเจาะเลือดและแสดงผลทั้งสิ้น 2 ชั่วโมงครึ่ง
โดยแต่ละครั้งสามารถตรวจเลือดประชาชนในกลุ่มเสี่ยง 100-200 รายได้พร้อมๆ
กัน ชุดตรวจนี้มีความไวและความจำเพาะสูง และการตรวจแต่ละครั้ง
มีต้นทุนเพียง 50 บาท ต่อผู้ป่วย 1 ราย เท่านั้น

ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างนี้เริ่มใช้เป็นแห่งแรกที่
ศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพพิกุลทอง
ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนราธิวาส โดยความรับผิดชอบของ นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 พร้อมๆ
กับถ่ายทอดความรู้ในการตรวจแก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบ
คุมโรคเท้าช้างทั้งในคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย
ก้าวต่อไป ทีมวิจัยจะพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับโรคเท้าช้าง
รวมไปถึงชุดตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าวให้รู้ผลเร็วภายใน 5 นาที
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมและกำจัดตลอดจนเฝ้าระวังโรคเท้าช้าง
อีกทั้งจะพัฒนางานวิจัยโรคปรสิตอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และการวิจัยต่อยอด
เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยในแหล่งระบาด
รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพงานวิจัยของประเทศไทย
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง
ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยในขณะนี้

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111654

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น