บรรยากาศการสนทนาสบายๆ ในสวนรถไฟ
คนทั่วไปมักจะ เห็นภาพหญิงสาวหน้าหวาน เจ้าของนาม "แอน ทองประสม"
ในบทนางเอกเจ้าบทบาทและดาราน้ำดีที่เสมอต้นเสมอปลายนับแต่เข้าวงการจนถึง
ปัจจุบัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า แอน ทองประสม
ดาราสาวผู้มีงานชุกตลอดปีรายนี้ สามารถใช้เวลาทุกๆ
วันดูแลคุณยายที่เธอรัก ผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
ตลอดระยะเวลาที่ป่วยตราบจนเสียชีวิตอย่างใกล้ชิด
แอน ทองประสม เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ "คุณยายแจ๋ว"
ผู้ซึ่งดูแลเธอมาตั้งแต่แรกเกิดจนโตว่า ยายเป็นคนที่เธอรักที่สุด
เป็นคนที่เธอสนิทด้วยที่สุด และสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ภายในงาน
"ใครขโมยความทรงจำของฉันไป" ที่จัดขึ้น ณ สวนวชิรเบญจทัศน์ ว่า
"ยายเป็นชีวิตของแอน เป็นคนที่รักที่สุด ยายเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด
อยู่กับยายมาตลอด จนวันหนึ่งตอนยายอายุประมาณ 76 ปี
แอนรู้สึกว่ายายมีอะไรที่ผิดปกติ คือเรารู้สึกว่ายายแปลกๆ ไป"
แอน เล่าต่อว่า อาการผิดปกติของยายแจ๋วที่สังเกตได้ ก็คือ
ยายเริ่มจะหลงลืม เช่น ลืมว่ากินข้าวไปแล้วและขอกินข้าวซ้ำอีก
หรือแอนต้องพูดซ้ำๆ กับยายนับสิบรอบเพราะยายจำสิ่งที่แอนพูดไม่ได้
"ตอนนั้นเรายังเด็ก เรียนอยู่มัธยมต้น
ยังไม่มีความรู้ว่ามันคือโรคอัลไซเมอร์ เราก็คิดว่ามันเป็นอาการหลงๆ ลืมๆ
ของผู้สูงอายุทั่วไป"
แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่ดาราสาวคิด
เพราะอาการของยายทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน เช่น
เริ่มมีอาการกอดสิ่งที่หวงแหนเอาไว้กับตัวเช่น กระติ๊บข้าว หม้อหุงข้าว
ที่ยายจะไม่ยอมให้ใครหยิบไป
แต่ที่หนักที่สุดที่ทำให้แอนคิดว่ายายเธอมีบางอย่างผิดปกติแน่ๆ
ก็คือตอนที่จู่ๆ ยายแจ๋วของเธอเดินออกจากบ้านย่านพัฒนาการ
แล้วก็เดินหายไปเลย
แอน ทองประสม ขณะกำลังบอกเล่าประสบการณ์
"คือ บ้านที่พัฒนาการถนน มันจะเป็นทางตรงอย่างเดียว
ยายเดินออกไปด้วยชุดยกทรงคนแก่ตัวเดียวกับผ้าถุง จู่ๆ ก็เดินออกไปจากบ้าน
แต่พอหันกลับมาแกคงเหมือนแบบ สติหลุด ลืมว่าอยู่ที่ไหน อยู่ตรงไหน
แกก็เลยตัดสินใจเดินออกจากซอยไปเลย แอนรู้เรื่องตอนเรียนอยู่
พอรู้ก็นั่งรถเมล์กลับมาเลย ที่บ้านออกตามหากันก็ไม่เจอ
ตอนนั้นแอนไหว้ทุกศาล ทุกวัด มาตลอดทางขอให้ยายไม่เป็นไร
โชคดีที่ยายออกจากบ้านแล้วมานั่งที่ป้ายรถเมล์ที่แอนลงพอดี
ที่แอนเห็นยายก็เพราะยายใส่ยกทรงตัวเดียวนี่แหละ"
หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป
ดาราเจ้าบทบาทรายนี้ก็รู้ชัดแล้วว่ายายเธอน่าจะป่วยด้วยสาเหตุใดไม่แน่ชัด
แต่ที่แน่ๆ คือ มีอาการเลอะเลือนหลงลืม สิ่งที่เธอทำก็คือ
พยายามสรรหาชุดแปลกๆ สีสดๆ มาให้ยายใส่
"แอ นว่ามันก็น่าจะพอช่วยได้นะ หากผู้สูงอายุหายไปจากบ้านจริงๆ
เราก็ต้องไปแจ้งความ
แต่มันควรจะมีจุดเด่นอะไรให้ตำรวจรับแจ้งว่าเขาใส่ชุดแบบนั้นแบบนี้
ทำให้แปลกกว่าคนอื่น แอนเองก็พยายามหาชุดแปลกๆ สีสดๆ มาให้ยายใส่
ถึงแม้หลังจากนั้นเราจะไม่ได้มีโอกาสใช้ก็ตาม เพราะหลังจากที่ยายหายไป
เราก็แทบจะจับยายขัง เพราะเรารักเราห่วงว่าแกจะหายไปอีก"
แอนกับ "จะได้ไม่ลืมกัน"
หนังสือการกุศลเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เธอมีส่วนร่วมในการเขียน
ภายใต้ชื่อตอน "ผูกพัน"
แต่แม้ว่าดาราสาวและครอบครัวจะดูแลคุณยายแจ๋วดีแค่ไหน
เคราะห์ร้ายของครอบครัวก็ยังมาถึงจนได้
เมื่อผู้เป็นยายลื่นล้มในห้องน้ำถึง 2 หน หนแรกส่งผลให้ปากเบี้ยว
และหนที่สองรุนแรงถึงกับทำให้เป็นอัมพฤกษ์เคลื่อนไหวไม่ได้
ต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลา
"เราถึงได้รู้ว่ายายเป็นอัลไซเมอร์
เพราะเราต้องพายายไปรักษาอาการอัมพฤกษ์
คุณหมอถึงบอกเราและให้ความรู้ว่ายายป่วยเป็นโรคนี้นะ
แอนกับแม่เป็นคนดูแลยาย แล้วก็จ้างพยาบาลเสริมด้วย
แต่พยาบาลไม่ดูเรื่องแผลกดทับ
เราก็ยังไม่รู้ว่าเราต้องพลิกตัวมากน้อยแค่ไหน
ปรากฏว่ามาหมอมาเห็นอีกทีคือหลังยายเป็นหลายจุดมาก
หมอต้องคว้านเนื้อออกไปขนาดเท่าลูกมะนาวประมาณ 6 จุด
คิดดูว่าเราโดนมีดบาดเจ็บแทบตาย นี่ยายคงเจ็บมาก แต่เขาบอกเราไม่ได้
เขาร้องไม่ได้ไง"
ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แอน ทองประสม
ก็ทุ่มเทเวลาหลังเลิกงานทุกวันดูแลยายอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังมาตลอด
"มันสอนให้เรารู้เลยนะ ว่าต่อให้จ้างพยาบาลเป็นสิบคน
มันก็สู้หนึ่งลูกหลานไม่ได้ แอนดูยายทุกวัน มีแม่สลับบ้าง
มีพยาบาลคอยช่วยบ้าง แต่เราเป็นหลัก
คือคิดว่าเมื่อก่อนเขาเลี้ยงเราตั้งแต่เด็กจนโต ตอนนั้นมันกลับกัน
เขากลับไปเด็กอีก ก็ถึงเวลาที่เราต้องดูแลเขา
แอนและพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์
แอนไม่เคยโกรธ ไม่เคยหงุดหงิดหรือท้อใส่ยายนะ สิ่งที่แอนทำก็คือ
หาเรื่องมาคุยกับยาย ปรึกษากับเขาบ้าง
แม้จะเป็นการพูดคนเดียวแต่แอนว่าแอนรู้ว่ายายเข้าใจ
เมื่อเราคุยด้วยเรามองตาเขา เราจะรู้ว่าตาเขาเปลี่ยนไป ตาเขารับรู้
เวลาแอนเล่นกับยาย กระโดดขึ้นคร่อมตัวยาย
หรือพายายนั่งรถเข็นออกไปเที่ยวแอนจะเห็นว่าดวงตายายมีความสุข"
ดาราสาวยอดกตัญญูรายนี้ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า
เสียดายที่ตอนนั้นเธอไม่มีความรู้ว่าอาการผิดปกติของคุณยายแจ๋วคืออาการอัล
ไซเมอร์ และไม่ดูแลท่านให้ดีเท่าที่ควร
และอยากฝากให้ผู้ที่มีญาติพี่น้องหรือคนที่ตัวเองรักที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์
ให้ใส่ใจผู้ป่วย เพราะความรักและความเข้าใจเท่านั้นที่เป็น "ยาขนานเอก"
ที่จะดูแลทั้งหัวใจผู้ป่วยและผู้ดูแลคนป่วยด้วย
"การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นเรื่องหนัก
แต่สำคัญที่สุดคือเราต้องอย่าหงุดหงิดและต้องมองเขาอย่างเข้าใจว่าที่เขา
เป็น คือ อาการป่วย ถ้าผู้ป่วยเป็นพ่อแม่เรา
ก็คือท่านก็ต้องอดทนกับเราตอนเราเด็กๆ พูดซ้ำๆ กับเราจนเราโต
พอท่านป่วยและมีอาการกลับไปเป็นเด็กอีก เราก็ต้องมองอย่างเข้าใจ
แอนเองก็พยายามทำให้ยายเต็มที่ แต่แอนเสียดายมาก
เมื่อก่อนเราลำบาก ยายนี่ลำบากมาก ประหยัดมากกว่าแอนจะโตมาได้ขนาดนี้
อย่างมีมะม่วงลูกหนึ่ง ยายจะกินด้านที่เป็นรอยช้ำๆ ใกล้จะเน่าก่อน
เก็บด้านดีๆ ไว้กินอีกมื้อหนึ่ง แต่พอจะมากินกลับเน่าเสียแล้ว แอนเสียใจ
เสียดาย คือตลอดเวลายายไม่ได้กินอะไรดีๆ แต่วันที่เรามีแล้ว
เราอยากให้เขาได้กินเหมือนเรา เขาก็ไม่รับรู้อะไรแล้ว" แอน ทองประสม
กล่าว
ด้านพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานประสาทวิทยา
สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเสริมว่า
ปัจจุบันอัตราผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
และคาดว่าน่าจะเป็นปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน
เพราะแม้จะพบว่าโรคนี้จะเป็นกันมากในหมู่ผู้สูงอายุ
แต่ก็มีพบในกลุ่มวัยทำงานตอนปลายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้
การป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ
ที่ทำให้คนหนุ่มสาวสามารถเป็นได้อีกด้วย
"หาก เป็นบุคคลที่ได้รับความกระทบกระเทือนอยู่บ่อยๆ เช่นนักมวย
ซึ่งกิจกรรมมวยนี้ทำให้ร่างกายโดยเฉพาะส่วนหัวได้รับความกระเทือนอยู่ตลอด
เวลา ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ได้ อีกอย่างคือ พันธุกรรม
ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคนี้ ก็เสี่ยงกับการป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน"
พญ.ทัศนีย์ กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111648
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น