"กาลเวลา ย่อมกินตัวมันเอง และอายุของสรรพสัตว์"
นี่คือพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น
หมายความว่ากาลเวลาย่อมเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากหน่วยย่อยไปหาหน่วยใหญ่
กล่าวคือ จากวินาทีเป็นนาที จากนาทีเป็นชั่วโมง เป็นต้น จนกระทั่งเป็นปี
โดยไม่มีการย้อนกลับ จึงทำให้หน่วยย่อยของกาลเวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อกาลเวลาผ่านไป
จากการผ่านไปของกาลเวลานี้เอง
ทำให้สรรพสัตว์และสรรพสิ่งมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาภายใต้กฎแห่ง
ไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา โดยมีลักษณะที่เหมือนๆ
กัน คือ มีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง และแตกดับในที่สุด
ทั้งในสรรพสัตว์ และสรรพสิ่ง จะแตกต่างกันก็เพียงระยะเวลาเท่านั้น
ด้วยเหตุที่ชีวิตคนขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กาลเวลาทุกๆ
วินาทีที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่กระทำได้
ในทางกลับกัน
ถ้ามีความลังเลหรือรอช้าจะทำให้โอกาสที่ผ่านเข้ามาล่วงเลยไป
โดยที่เราไม่ได้อะไรจากกาลเวลาซึ่งเป็นปัจจุบัน
และในที่สุดกาลเวลาก็กลายเป็นอดีตที่ไม่มีค่า หรือไม่มีผลตอบแทนใดๆ
และที่ยิ่งกว่านี้ ถ้าการกระทำใดๆ
อันเกิดจากการลังเลหรือรอคอยมีความผิดพลาด
และก่อความเสียหายแก่ตนเองและสังคมรอบข้างด้วยแล้ว
ถือเป็นความหายนะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ
กับกาลเวลาที่เปลี่ยนจากปัจจุบันเป็นอดีต
ดังที่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและคนไทยภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ อยู่ในขณะนี้
อะไรที่ทำให้อนุมานได้ว่า ประเทศไทยและสังคมไทยมีความหายนะจากกาลเวลา
เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นอันเป็นเหตุแห่งหายนะอันเกิดจาก
ความลังเล และรอคอยไม่กล้าตัดสินใจ
ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองมองย้อนไปถึงบทบาทของผู้นำรัฐบาลในกรณีดัง
ต่อไปนี้
1. รถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ขสมก.
อันเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม
ที่มีการทบทวนแล้วทบทวนอีก
จนในที่สุดแขวนไว้ในรูปของการตั้งกรรมการพิจารณาในความรับผิดชอบของสภาพัฒน์
ไม่มีเวลาที่แน่นอนว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อใด
และจบลงด้วยการกระทำหรือไม่กระทำ
จึงเท่ากับดองโครงการไว้ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และการดำเนินการในทำนองนี้
ทำให้สังคมโดยรวมเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างคุ้มค่า
2. การปรับโครงสร้างของการรถไฟฯ
จนป่านนี้ไม่มีวี่แววว่าจะทำหรือไม่ทำ
เป็นเหตุให้ผู้คนไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่ว่านี้เท่าที่ควรจะเป็น
3. ล่าสุดความลังเลในการแต่งตั้ง
ผบ.ตร.ที่มีทีท่าว่าจะไม่จบลงก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ ทั้งๆ
ที่ถ้าดูจากลักษณะงานและความยากง่ายของงานแล้วไม่มีอะไร เพียงนายกฯ
เลือกผู้ที่ควรจะได้รับแต่งตั้งและเรียกประชุม ก.ต.ช.
แล้วเสนอชื่อคนใดคนหนึ่งที่เห็นว่ามีความรู้ ความสามารถ
และมีคุณธรรมที่จะทำให้สังคมโดยรวมยอมรับ
ทุกอย่างก็จะจบได้อย่างง่ายดายตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น
แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน
ก.ต.ช.ไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งได้
และที่หนักกว่านี้ได้ประสบความล้มเหลวมาแล้วถึง 2 ครั้ง
ซึ่งเท่ากับว่านายกรัฐมนตรีไม่มีภาวะผู้นำ
ส่วนว่าในความเป็นจริง นายกฯ
พยายามอย่างเต็มที่แต่ไม่สามารถแหวกวงล้อมการแอบอ้างข่าวลือ
จนทำให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ดำเนินการต่อไปไม่ได้
จากการประชุม
ก.ต.ช.ที่ล้มเหลวและมีข่าวแพร่ออกมาว่ามีกระแสข่าวพิเศษเกิดขึ้น
และกลายเป็นอุปสรรคในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ตามที่นายกฯ ต้องการทั้ง 2 ครั้ง
จึงเป็นบทพิสูจน์การเชื่อคำแอบอ้าง
และทำแนวร่วมเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันมีอยู่จริง
และเป็นข่าวลือที่ไม่มีใครหาข้อพิสูจน์ได้
โดยการสาวถึงต้นตอแห่งข่าวลือได้
จึงเท่ากับทำให้น้ำหนักในการอ้างมากขึ้นด้วย
และนี่เองน่าจะเป็นสาเหตุแห่งความล่าช้า และก่อความเสียหายแก่ส่วนรวม
อย่างไรก็ตาม
วันนี้และเวลานี้ประเทศไทยและผู้คนในสังคมไทยคงได้เห็นและรับรู้ความวุ่นวาย
ที่เกิดขึ้นจากความลังเล และไม่กล้าตัดสินใจของนายกฯ ทั้งๆ
ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้อนุมานได้จากภาวะแวดล้อม
และเหตุปัจจัยเกื้อหนุนดังต่อไปนี้
1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนมีทุนทางสังคมสูง
เนื่องจากมีความเพียบพร้อมในทุกด้าน เริ่มตั้งแต่รูปร่างหน้าตา การศึกษา
และพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเลยว่าอยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม
จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการแสวงหาการยอมรับจากบุคลากรทางการเมือง
ทั้งในพรรคของตัวเอง คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล
2. ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสมที่พรรคแกนนำมีอำนาจต่อรองต่ำในแง่ของการเมืองในสภา
ซึ่งตัดสินกันด้วยการยกมือ
แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเทียบกับพรรคร่วมอื่นๆ
แล้วได้เปรียบในแง่ของภาพลักษณ์ ความรู้
ความสามารถของปัจเจกบุคคลที่มีให้เลือกมากกว่าพรรคอื่น
ที่ทั้งมีแผลและขาดความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญคือ ขาดคุณธรรม
อย่างเห็นได้ชัดเจน
3. ถ้าจะใช้เครื่องมือหรือกลไกทางด้านรัฐสภาในการบริหารประเทศแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคและในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
น่าจะควบคุมทิศทางให้เป็นไปในทางที่ตนเองต้องการได้ไม่ยาก
แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏในกรอบที่เห็นได้ชัด เช่น การแต่งตั้ง
ผบ.ตร. เป็นต้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้า
ไม่สามารถชี้นำนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์
ซึ่งเป็นลูกพรรคให้คล้อยตามได้
จึงไม่ต้องพูดถึงบทบาทของผู้นำรัฐบาลที่จะชี้นำรัฐมนตรีจากพรรคอื่นให้คล้อย
ตามด้วยได้
จากปัจจัยและภาวะแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น
นายกรัฐมนตรีน่าจะใช้เป็นโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ดีกว่าที่เป็นมาแล้ว
แต่ เมื่อความลังเลเกิดขึ้น
และก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะผู้นำไปแล้ว ทางแก้ก็มีอยู่ทางเดียวคือ
ถ้าไม่แน่ใจก็รอ และรอไปจนกว่าจะแน่ใจ
จบเรื่องนี้แล้วขอให้ทบทวนมองหาเหตุและขจัดเหตุให้หมดไป
ก็พอจะเรียกคะแนนคืนได้บ้าง
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000110303
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น