สั้น กระชับ ทำสื่อใหม่อย่าง SMS ทวิสเตอร์ โตเร็ว แนะนักศึกษาวารสารฯ
สื่อสารมวลชน เตรียมพร้อมปรับตัว สร้างความแตกต่างในตัวเอง
รองรับการเปลี่ยนแปลงสื่อในอนาคต
วันนี้(21 ก.ย.) ที่ห้องประชาธิบดี คณะวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์ แขนงวารสารศาสตร์
จัดงานสัมมนาเรื่อง "ฅน-ข่าว ในกระแสธาร สื่อภิวัฒน์" โดยมี นายวริษฐ์
ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และ นายอธิคม
คุณาวุฒิ บรรณาธิการนิตยสารเวย์ เป็นวิทยากร โดย นายจักษุ ตะกรุดแก้ว
อาจารย์ประจำแขนงวารสารศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา
พร้อมทั้งมีนักศึกษาแขนงวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 1-4
เข้าร่วมฟังสัมมนากว่า 100 คน
นายอธิคม กล่าวว่า โลกทุกวันนี้วรรณกรรม งานเขียน
เกิดปรากฎการณ์การหดตัวของผู้อ่าน
ข้อเท็จจริงสิ่งหนึ่งคือผู้คนส่วนใหญ่ชอบอ่านอะไรที่สั้นๆ ง่ายๆ
เข้าใจได้เร็ว อะไรที่ยาวๆ จะถูกปฏิเสธ ดังนั้นทิศทางความสนใจ
การเลือกเสพสื่อ ข้อมูลข่าวสารของคนในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
นายวริษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ช่องทางการสื่อสารมีหลายทาง
นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์
แล้วสื่อที่คิดว่ามีบทบาทเพิ่มขึ้นคือ SMS ข่าว
ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ซึ่งจากข้อเท็จจริงจะเห็นว่าประชากร 1 คนมีโทรศัพท์มือถือเกินกว่า 1
เครื่อง ซึ่งจำนวนผู้รับสารตรงนี้จึงมีมาก
อีกทั้งพฤติกรรมการรับสื่อของคนก็เปลี่ยนไป คือต้องการอะไรที่สั้นๆ
กะทัดรัด SMS จึงตอบสนองได้ดี คนจึงไม่ค่อยอ่านข่าวที่มีเนื้อหาเยอะ
แต่สำหรับสื่อออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ข่าว
ก็สามารถทำลายข้อจำกัดหลายอย่างที่สื่อรูปแบบอื่นไม่มีเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา เพราะไม่ว่าจะอ่านตอนไหนก็อ่านได้
เรื่องของสถานที่ไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนของโลกก็สามารถรับข่าวสารได้
ในส่วนของเนื้อหา รูปภาพประกอบ หรือมัลติมีเดียต่างๆ
ก็สามารถลงได้อย่างเต็มที่ไม่มีจำกัด เหมือนหนังสือพิมพ์
"ปราก ฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในประเทศและต่างประเทศ
คือคนไม่อยากอ่านอะไรที่ยาวๆ ขอเพียงแค่อ่านพาดหัวข่าวอย่างเดียวก็เป็นพอ
จึงทำให้ช่องทางสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้ง ทวิสเตอร์ หรือ SMS
ที่การส่งแต่ละครั้งจะมีการจำกัดคำ ที่ต้องสั้น ชัดเจน
ทั้งนี้ในอนาคตก็จะมีช่องทางการรับข่าวสารใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกเช่นกัน"
นายวริษฐ์ กล่าว
นายวริษฐ์ กล่าวอีกว่า
สำหรับนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาด้านสื่อสารมวลชนนั้น
การเปลี่ยนแปลงของสื่อในอนาคตจึงถือว่ามีความสำคัญ เพราะวิชาชีพนักข่าว
ไม่เหมือนแพทย์ วิศวะ ที่จะต้องมีใบอนุญาตในการทำงาน นักข่าวใครๆ
ก็เป็นได้ ดัง นั้นการเตรียมตัวสู่วิชาชีพนี้สำหรับนักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยแค่
4 ปี เป็นเพียงการรู้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะสาขาวารสารศาสตร์
นักศึกษาต้องมีความสนใจในสื่อแต่ละสื่อ
เนื่อหาที่ต้องการจะนำเสนอก็ขึ้นอยู่กับความสนใจในของตัวเอง
ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น
เพื่อที่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสื่อในอนาคตได้
ด้านนายอธิคม กล่าวด้วยว่า
ตอนนี้นักศึกษาต่างอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคการสื่อสารที่สำคัญ
สื่อสิ่งพิมพ์จากทั่วโลกคงไม่สามารถเติบโตได้กว่านี้อีกแล้ว
ตอนนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะมองไปสู่โลกสื่อสารผ่านออนไลน์
จึงอยากให้มองแค่ว่าเป็นเพียงช่องทางหนึ่ง
แต่สุดท้ายก็ต้องวัดกันด้วยเนื้อหา
การที่จะเป็นผู้ส่งสารที่ดีได้นั้นการฝึกฝน จึงมีความสำคัญ
ดังนั้นนักศึกษาจึงต้องอ่านให้มาก และต้องมีความคิดสงสัยอยู่ตลอดเวลา
เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างของตัวเองให้เกิดขึ้น
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000110446
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น