...
(1). แสดงความชื่นชมสัปดาห์ละ 5 ครั้ง
•
อ.ซอนย่า ลิวโบเมียสกี แห่งมหาวิทยาลัย UC Riverside พบว่า คนที่แสดงความชื่นชมออกมาภายนอก (โดยการเขียน) สัปดาห์ละ 5 ครั้งมีความสุขมากกว่าคนที่ทำได้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
•
ถ้าไม่ชอบเขียน... พูดชมคนอื่นออกมาจากใจก็ใช้ได้ แต่อย่าเก็บความรู้สึกดีๆ แบบนี้ไว้ในใจอย่างเดียว
(2). ฟังเพลง
•
ผลการศึกษาทำในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดตาพบว่า การได้ฟังเพลงช่วยให้ชีพจร และความดันเลือดเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนไข้ที่ไม่ได้ฟังเพลง
•
ผลการศึกษาทำในคนไข้ที่เข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) พบว่า คนไข้ที่ได้ฟังเพลงมีความเครียดน้อยกว่า และใช้ยานอนหลับน้อยกว่าคนไข้ที่ไม่ได้ฟังเพลง
(3). จูบกอดกันหน่อย
•
การสัมผัสร่างกายกับคนที่ "คุ้นเคย" ทำให้คนเรามีความสุข... ทีนี้ถ้าไม่คนให้กอดก็อย่าเพิ่งตกใจ กอดน้องหมาน้องแมว หรือกอดหมอน-ตุ๊กตาก็ใช้ได้
(4). ปฏิบัติธรรม
•
การปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ (สำนักปฏิบัติที่ไม่เน้นการบริจาคมีแนวโน้มจะปลอดภัยกว่าสำนักที่เน้นการบริจาค หรือมากไปด้วยการเรี่ยไร) หรือการออกกำลังแบบตะวันออก เช่น ไทเกก-ไทชิ โยคะ มวยจีน รำกระบองชีวจิต ฯลฯ ช่วยให้คนเรามีความสุขได้
(5). เคลื่อนไหว
•
การเดิน เดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยาน หรือทำอะไรที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวมักจะทำให้คนเรามีความสุขมากกว่าการอยู่นิ่งๆ นานๆ
•
วิธีหนึ่งที่จะทำลายความ "เศร้า-เหงา-เซง" ได้ดีคือ พอเบื่อๆ ก็ให้เดินเร็วสุดๆ ติดกันอย่างน้อย 10 นาที แล้วอะไรๆ มักจะดีขึ้นเอง
(6). หัวเราะ
•
คุยกันเรื่องขำๆ หาหนังสือขำขันมาอ่าน หรือดูวิดีโอขบขัน... ถ้าทำเป็นกลุ่มได้ยิ่งดี คนเรามีแนวโน้มจะหัวเราะเวลาอยู่กันหลายๆ คนมากกว่าตอนอยู่คนเดียว 30 เท่า
(7). ทำให้คนอื่นมีความสุข
•
ผลการศึกษาพบว่า คนที่ทำให้คนอื่นมีความสุขวันละ 5 ครั้งมีความสุขมากกว่าคนที่ทำให้คนอื่นมีความสุขสัปดาห์ละ 5 ครั้ง
•
กลไกที่เป็นไปได้คือ ความสุขเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่สะท้อนกลับไปกลับมาได้ตามหลัก "ทำดี-ได้ดี"
(8). ทำเงิน
•
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สเตทในปี 2548 พบว่า คนที่ทำเงินได้มากกว่าเพื่อนๆ มีความสุขมากกว่า
•
ข้อสำคัญคือ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนที่หาเงินได้มากกว่าเรา แต่ให้ลองเปรียบเทียบกับคนที่หาเงินได้น้อยกว่าเรา และเก็บความสุขแบบนี้ไว้ในใจ เพราะความสุขแบบนี้พูดมากไปจะทำให้คนหมั่นไส้เพียบเลย
(9). ทำงาน
•
ผลการวิเคราะห์งานวิจัย 225 รายงาน รวมกลุ่มตัวอย่าง 275,000 คนพบว่า คนเรามีความสุขใหญ่ๆ จากการทำงานให้สำเร็จ จากการมองโลกในแง่ดี สุขภาพดี สติปัญญา ครอบครัว และความเชี่ยวชาญ
•
สรุปคือ คนขยัน (ในการศึกษาเล่าเรียน การฝึกงาน การทำงาน) มองโลกในแง่ดี ให้เวลากับครอบครัว และสุขภาพมีแนวโน้มจะมีความสุขมากขึ้น
(10). กลับสู่รากเหง้า
•
ผลการศึกษากลุ่มชนหลายแห่งทั่วโลกพบว่า คนที่ไม่ลืมรากเหง้าทางสังคม เช่น ใส่ใจ และรักษาวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ฯลฯ มีความสุขมากกว่าคนที่ทิ้งรากเหง้า
(11). กตเวที (บุญคุณควรทดแทน)
•
คนที่ระลึกถึงความดีงามของผู้มีพระคุณ และตอบแทนคุณเป็นรูปธรรม เช่น เลี้ยงดูคุณแม่คุณพ่อ มีของฝากให้คุณครูสมัยเด็กๆ ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณ
(12). มองโลกในแง่ดี
•
คนที่มองโลกในแง่ดีมีความสุขมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย... วิธีฝึกง่ายๆ คือ ให้ลองมองเรื่องร้ายๆ (วิกฤต) ในชีวิตเราว่า เรื่องร้ายๆ นำโอกาสดีๆ อะไรมาให้เราบ้าง และฝึกพลิกวิกฤตที่เราพบทุกวันให้กลายเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา
•
ธรรมดาของข่าวดีคือ มักจะมาคู่กับข่าวร้าย และธรรมดาของข่าวร้ายคือ มักจะมาคู่กับข่าวดี... ชีวิตของคนส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนี้
•
คนมองโลกในแง่ดีมักจะมองเห็น "โอกาส" ในท่ามกลาง "วิกฤต" ได้มากกว่า และฟันฝ่าอุปสรรคได้ดีกว่า
•
การฝึกมองโลกในแง่ดีมักจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ และเป็นเรื่องที่น่าลงทุนมากๆ เลย
(13). ลองสิ่งใหม่
•
อ.ริช วอล์คเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยวินซทัน-ซาเลมทำการศึกษาบันทึกความทรงจำ 30,000 ฉบับ และไดอารีอีกกว่า 500 ชุดพบว่า คนที่มีประสบการณ์มากกว่ามีแนวโน้มจะมองโลกในแง่ดีมากกว่าคนที่มีประสบการณ์น้อย
•
การลองสิ่งใหม่ในด้านดี เช่น ท่องเที่ยวไปในที่ที่ปลอดภัย การชมสารคดี การศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ ฯลฯ มักจะทำให้คนเรามีประสบการณ์มากขึ้น เห็นธรรมดาของโลกมากขึ้น และมองโลกในแง่ดีมากขึ้น
(14). ระบายความในใจกับเพื่อนที่รู้ใจ
•
การมีเพื่อนที่รู้ใจและระบายความในใจไปบ้างมักจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น... อ.ริช วอล์คเกอร์แนะนำว่า การมีเพื่อนหลากหลายสไตล์จะช่วยให้การระบายความในใจได้ผลดีขึ้น เช่น มีเพื่อนต่างวัย ต่างอาชีพ ฯลฯ เนื่องจากทำให้เรามีมุมมองในเรื่องชีวิตกว้างขวางขึ้น
(15). งานเป็นงาน-บ้านเป็นบ้าน
•
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตทพบว่า คนที่รู้จักแยกแยะ "งานเป็นงาน-บ้านเป็นบ้าน" หรือทำงานเต็มที่ หมดเวลาแล้วพักงาน กลับบ้านแล้วให้เวลากับคนที่บ้าน มีความสุขมากกว่าคนที่แยกแยะไม่เป็น
(16). คาดหวังบนความเป็นไปได้จริง
•
งานวิจัยในยุโรปพบว่า คนเดนมาร์กมีความสุขมากกว่าคนชาติอื่นๆ ในยุโรปติดกันมานานกว่า 30 ปี
•
สาเหตุสำคัญคือ คนเดนมาร์กมีระดับความคาดหวังที่ตั้งอยู่บนความเป็นไปได้จริง ไม่คาดหวังอะไรที่เกินจริง ทำให้คนที่นั่นมี่ความสุข
(17). ทำตัวให้ว่าง
•
คนที่เหลือเวลาให้กับตัวเองบ้าง ไม่รับงานหรือวุ่นวายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ไม่ดู TV หรืออ่านหนังสือพิมพ์มากเกินไป โดยเฉพาะข่าว 3 จังหวัดภาคใต้กับข่าวพวกประท้วงในไทย ฯลฯ มีความสุขมากกว่าคนที่ชอบทำตัวให้ไม่ว่าง
•
คนที่สนใจเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งวัน เช่น หมกมุ่นกับการเมือง ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขน้อยลง
(18). คิดเรื่องดีๆ
•
คนที่คิดเรื่องดีๆ บ่อยๆ เช่น คิดถึงการทำความดีของคนรอบข้างทุกเช้า คิดถึงการทำความดีของตัวเองก่อนนอน ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่คิดแต่เรื่องร้ายๆ
(19). ยิ้มให้เป็น
•
คนที่ยิ้มเก่งมีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนที่ยิ้มไม่เก่ง... วิธีฝึกง่ายๆ คือ ส่องกระจกทุกครั้งให้ยิ้มกับ "คนในกระจก" ทุกครั้ง เวลาพูดโทรศัพท์ให้หากระจกมาตั้งไว้ใกล้ๆ (ส่องเป็นพักๆ)... พูดไปยิ้มไป
(20). แต่งงานกับความสุข
•
ผลการศึกษาพบว่า คนโสดที่แสนเศร้า (คนโสดที่มีอารมณ์ซึมเศร้าบ่อย) มีความสุขจากการแต่งงานมากกว่าคนโสดที่ไม่ค่อยเศร้า และคนที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่าคนโสด
•
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิคพบว่า คนที่มีความสุขสุดๆ ไปเลยคือ คนที่แต่งงานกับคนที่มีความสุข... ทีนี้ถ้าแต่งงานแล้วยังรู้สึกไม่ค่อยจะพึงพอใจก็ไม่ต้องตกใจ เพราะมีงานวิจัยพบว่า พวกขี้บ่นก็บ่นไปอย่างนั้นเอง จริงๆ แล้วส่วนลึกๆ ยังมีความสุขมากกว่าคนโสด
•
ถ้ายังโสดก็ไม่ต้องตกใจอีกนั่นแหละ เพราะมีวิธีทำให้มีความสุขอีก 19 วิธี (ข้อ 1-19)... เมื่อชีวิตมาถึงตรงนี้แล้ว ขอให้พอใจกับสิ่งที่เรามีและเป็น... แล้วความสุขจะเข้ามาหาเราเอง
...
เรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนยุดนี้คือ ถ้าไม่อยากมีความทุกข์แบบสุดๆ... อย่าเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเป็นหนี้เกินตัว อย่าไปค้ำประกันหนี้สินให้คนอื่น และอย่าเล่นการพนัน
คนที่ไม่มีหนี้นั้น... เวลาหายใจเข้าก็หายใจเข้าเป็นสุข เวลาหายใจออกก็หายใจออกเป็นสุข ไม่หายใจติดขัดแบบคนมีหนี้
...
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ