++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

"วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล"นัก(ก่อ)การเปลี่ยนแปลง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2552 09:39 น.
เชื่อว่าน้อยคนนักจะไม่รู้จักทายาทคนเล็กของ 2
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" และ "จิรนันท์
พิตรปรีชา" ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น "วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" หรือ "สิงห์"
เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อค่อนข้างบ่อย
ทั้งในบทบาทพิธีกร นักเขียน และกำลังจะเป็นนักดนตรีในอีกเร็ววันนี้

เหตุผลที่ สิงห์ทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกับงานพัฒนาสังคม
ส่วนหนึ่งเพราะเขาหลงใหลในศิลปะ แต่เหตุผลหลักใหญ่ที่สิงห์บอกไว้ก็คือ
เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ
และนำไปหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ในงานพัฒนาสังคมที่เขาเริ่มทำเป็นงานประจำหลัง
จากวนเวียนในแวดวงอาสาสมัครมาไม่น้อยกว่า 8 ปี สิงห์ บอกสั้นๆ ว่า
งานเขียนหนังสือสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ในหัวให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น
งานเพลงเสมือนการปลดปล่อย
และงานพิธีกรทำให้เขามีเงินมากพอที่จะทำงานพัฒนาสังคมได้โดยไม่ต้องลงทุน
อะไรมาก

และนี่คือ อีกหนึ่งมุมของนัก(ก่อ)การเปลี่ยนแปลง...

**สิงห์ลำพอง
สิงห์ บอกว่า การ มีพ่อแม่เป็นนักเปลี่ยนแปลงทำให้หลายคนมองว่า
เขาจำเป็นต้องก้าวมาทำงานพัฒนาสังคม
ซึ่งสิงห์ยอมรับว่ามีส่วนที่เป็นจริงอยู่มาก
แต่สิ่งที่ทำให้เขากระโดดมาทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัวก็คือ
วันที่เขาไปเรียนในฐานะนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน AFS ในอเมริกา 1 ปี
และรู้สึกโกรธประเทศตัวเองว่า ไม่มี ไม่เป็นเหมือนเช่นประเทศอื่น
และเริ่มมีความคิดว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในประเทศนี้ให้ได้

"พอ เริ่มมาเรียนเศรษฐศาสตร์ที่
ม.ธรรมศาสตร์ผมก็ลงมือทำงานอาสาสมัครอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1 ออกค่ายอาสา
ทำสื่อ ทำงานปลูกจิตสำนึก ยิ่งทำไปหลายๆ ค่าย
ความรู้สึกโกรธประเทศตัวเองก็ลดลงกลายเป็นเข้าใจสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
ว่าจริงๆ แล้วความไม่เหมือนกับที่อื่นไม่มีอะไรควรโกรธเลย
เราต้องรักสิ่งที่เราเป็นด้วยซ้ำ"

แต่ เมื่อเริ่มทำดีก็ย่อมทำให้รู้สึกว่า มีช่วงระยะหนึ่งที่
'สิงห์ลำพอง' รู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองมากจนเกินไป
เพราะเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันไม่มีใครสนใจงานในรูปแบบนี้
นำไปสู่ความคิดเสพติดว่าตัวเอง "เจ๋ง" ซึ่งเขาเองก็ค้นพบเช่นกัน
ว่าในระยะแรกนักพัฒนาสังคมส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นอยู่หัวตลอด
เวลา นำไปสู่อคติและการดูถูกผู้อื่นในบางครั้ง

"กระทั่งเราตระหนักได้ ว่า เราไม่ได้มีอะไรดีกว่าคนอื่น
คนทำงานบริษัท คนกวาดถนน ตำรวจจราจร ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา และจริงๆ
แล้วงานที่เราทำก็ไม่ได้ให้ประโยชน์กับสังคมมากขนาดนั้น
งานอาสาสมัครในช่วงแรกเป็นการสนองความต้องการและสร้างความรู้สึกดีให้กับตัว
เองมากกว่า เพราะอย่างนั้น จึงคิดได้ว่าตัวเองไม่ได้มีสิทธิ์ใดๆ
จะไปคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น เมื่อคิดได้ดังนั้น
ก็เริ่มฟังคนอื่นและเปิดรับอะไรมากขึ้น" สิงห์ เล่าย้อน

**พัฒนาแบบสิงห์

ใน วัย 25 ปี
บวกกับเศรษฐศาสตร์ทำให้เขามองว่างานอาสาสมัครที่เคยทำไม่ยั่งยืนในแง่การ
เปลี่ยนแปลง เพราะไหนต้องเจอกับปัญหามากมาย
และต้องรอกระบวนหลายขั้นตอนกว่าจะสัมฤทธิ์ผล
สิงห์จึงเทความสนใจให้การทำธุรกิจเพื่อสังคม
ในรูปแบบองค์กรที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาครัฐบาล หรือรอเงินบริจาคใดๆ
แต่เป็นองค์กรที่เลี้ยงตัวเองได้และสามารถแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆ
กันได้ด้วย เขาเรียกองค์กรของตัวเองว่า "Change Fusion"
สิงห์บอกว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการใช้ชีวิตเชิงวัตถุผสานกับการทำความดี

"ผม คิดว่าการทำดีต้องหาเงินได้ด้วย จริงๆ
ปัญหาของคนจนไม่ได้อยู่ที่ขาดห้องสมุด หรือบ้านพัง และต้องไปสร้างให้เขา
ผมคิดว่าทำแบบนั้นแล้วเขาไม่ได้เลิกจน
แต่การแก้ปัญหาคือการสร้างระบบเศรษฐกิจและสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้น
ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราเข้าไปช่วยหนุน ซึ่งไม่ได้ฟรี
เราให้ความรู้ชาวบ้านแล้วก็ติดต่อเอเยนต์ที่เกี่ยวข้องกับด้านที่ชาวบ้าน
เด่นหรือมีความต้องการ เช่น พลังงานทางเลือก หรือปุ๋ยอินทรีย์
จะมีการซื้อขายเกิดขึ้น เราก็ได้เงิน ชาวบ้านก็ได้ในสิ่งที่ดี
ผมว่าความยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองเกิดขึ้นมากกว่าการทุ่มเงินแล้วจบ"


อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นนักพัฒนาคือ
ทำอย่างไรให้คนทั่วไปที่อยากทำงานมีบ้านมีรถ มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคน
เขาในฐานะที่อยู่ต่อหน้าสื่อ และมีเสียงดังพอที่จะประสาน
สิ่งเดียวที่เขาทำต่อเมื่ออยู่ที่สาธารณะคือ พูดออกสื่อเรื่อยๆ
ให้คนทั่วไปได้เห็น และคิดว่า พวกเขาสามารถทำได้แม้ไม่มีเวลา
"คน ในวัยผมอาจจะคิดว่าจะทำงานได้ไหม
จะหาความมั่นคงในชีวิตอย่างไร จะมีบ้านอยู่ไหน
สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือเราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้สังคม
ควบคู่กับการมีสิ่งเหล่านี้ได้
เพราะว่าหลายคนจะบอกว่าขอให้ตั้งตัวให้ได้ก่อนแล้วจะมาทำ
ต่อเมื่อมีบ้านมีรถ แล้วก็แต่งงาน มีลูก
ยุ่งกว่าเดิมเพราะลูกต้องเข้าโรงเรียน
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าก่อนตายเขาอาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่คิดว่าอยากจะทำก็ได้"วรรณสิงห์
ให้ภาพ

**สิงห์มองน้อง
สิงห์ มองว่า วัยรุ่นไทยกับจิตอาสา
ไม่มีใครบังคับหรือชักชวนให้เกิดกับใคร
ซึ่งมันอาจจะเกิดเองตามช่วงวัยหรือเรียกว่าเป็นสิ่งธรรมชาติ
โดยสัดส่วนพบว่าวัยรุ่น 20
เปอร์เซ็นต์จะถูกดึงดูดเข้าหางานอาสาและจะกลายเป็นนักพัฒนาในที่สุด
ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์จะถูกระบบที่เรียกว่าทุนดึงไป แต่ใน 80 ของ 80
เป็นกลุ่มที่คิดเสมอว่าอยากจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น
แต่ไม่รู้วิธีว่าจะทำอย่างไร โดยที่มีจำนวนน้อยที่ไม่รู้สึกแคร์อะไรเลย

สำหรับชายหนุ่มเขาอาจจะเป็นกลุ่มคนใน 20 เปอร์เซ็นต์แรก และในฐานะ
"คนที่ยังไม่แก่มาก" ซึ่งยืนอยู่จุดที่คุยกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่รู้เรื่อง
สิงห์ก็ยังไม่กล้าจะประเมินวัยรุ่นไทยกลุ่มใดๆ ได้ว่า
ชีวิตนี้เกิดมากันคุ้มหรือยัง แต่มุมที่ชายหนุ่มผู้นี้มองก็คือ
วัยรุ่นไทยมีแบบแผนในชีวิตมากเกินไป
เพราะทุกคนต่างวิ่งเข้าหาความมั่นคงซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้
แต่หากพลิกอีกด้านและมองอีกทางเลือกจะเห็นว่า
ความสนุกและสิ่งท้ายทายที่เรียกว่า "ความไม่มั่นคง" น่าพิสมัยกว่าไม่น้อย

"ความ ไม่มั่นคงที่ผมมองว่าสนุก
ซึ่งถามว่าสนุกแล้วได้อะไรก็แค่สนุกกับชีวิตก็พอแล้ว
ซึ่งวัยรุ่นวันนี้อาจจะสนุกกันน้อยไปนิดหนึ่งในแง่สาธารณะ
ซึ่งผมก็ไม่ได้จะชวนให้ทุกคนเป็นอาสาสมัคร หรือทำงานพัฒนาทั้งหมด
แต่ในมุมผม คำว่าอาสาสมัครยังเป็นสิ่งที่เหมาะกับเยาวชนเสมอ
เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในช่วงวัย
ทั้งในแง่ของการรู้คุณค่าตัวเอง เรียนรู้ที่จะแคร์สังคม
และทำให้เราตะหนักได้ว่าตัวเองเกิดมาทำไมบนโลกใบนี้
การทำงานพัฒนาสังคมไม่ได้โรแมนติกนัก
แต่เมื่องานสำเร็จและเรามองกลับไปยังผลของมัน
เมื่อนั้นแหละความโรแมนติกจะเกิดขึ้น" สิงห์ ทิ้งท้าย

-----------------------------

" คำว่าอาสาสมัครยังเป็นสิ่งที่เหมาะกับเยาวชนเสมอ
เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในช่วงวัย
ทั้งในแง่ของการรู้คุณค่าตัวเอง เรียนรู้ที่จะแคร์สังคม
และทำให้เราตะหนักได้ว่าตัวเองเกิดมาทำไมบนโลกใบนี้"

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099357

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น