++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"ขี้หู" ควรแคะหรือไม่ / เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี


เมื่อ พูดถึง "ขี้หู"
คนส่วนใหญ่คงคิดว่ามันคือของเสียหรือสิ่งสกปรก
และสรรหาสารพัดวิธีที่จะกำจัดขี้หูให้หมดไป เช่น การใช้ไม้แคะหู
หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก หลายคนเพลิดเพลินกับกิจกรรมการแคะหู
มีบริการนี้ในร้านตัดผมเสียด้วยซ้ำ แต่แท้ที่จริงแล้วขี้หูนั้นมีประโยชน์
การกำจัดขี้หูอย่างไม่เหมาะสมกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาหรือก่อให้เกิด
อันตรายกับหูเสียมากกว่า วันนี้มารู้จัก "ขี้หู" ให้ดีขึ้นค่ะ

ขี้หูเกิดขึ้นได้อย่างไร

โดยปกติแล้วเซลล์ผิวหนังจะมีกระบวนการสร้างเซลล์ผิว
ซึ่งจะเลื่อนขึ้นสู่ชั้นบนของผิวหนังและหลุดลอกออกไปได้เอง
เซลล์บุผิวของรูหูชั้นนอกมีลักษณะคล้ายกับเซลล์บุผิวหนังทั่วไป
แต่จะไม่หลุดลอกออกไปได้เองเหมือนเซลล์ผิวหนัง
เซลล์บุผิวในรูหูจะสะสมเป็นแผ่นเป็นชั้น และเป็นองค์ประกอบสำคัญของขี้หู
คิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำหนักทั้งหมดของขี้หู
นอกจากนี้ขี้หูยังประกอบไปด้วย เอนไซม์ เพปไทด์ กรดไขมัน คอเลสเตอรอล
และแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ขี้หูถูกหลั่งออกมาตรงบริเวณใกล้ๆ กับแก้วหู
ในระยะแรกขี้หูจะมีลักษณะนุ่ม เหลว ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น
ต่อมาขี้หูจะค่อยๆ
เคลื่อนที่ออกมาสู่ภายนอกด้วยการพัดโบกของเซลล์ขนในรูหู
ผสมผสานกับการขยับเคลื่อนที่ของขากรรไกร เช่น เวลาเคี้ยวอาหาร เวลาพูด
เวลาหาว ทำให้ขี้หูค่อยๆ เคลื่อนออกมาทีละน้อย
เมื่อขี้หูเคลื่อนที่ออกมาด้านนอกจะทำให้ขี้หูมีลักษณะเปลี่ยนไป
โดยมีสีเข้มขึ้น เหนียวข้น และมีกลิ่น

ทำไมขี้หูของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน

ลักษณะของขี้หูจะแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
ซึ่งเกิดจากความแตกต่างในองค์ประกอบของไขมันและสีผิวของขี้หู คนผิวขาว
(ชาวยุโรป-ชาวอเมริกัน) และคนผิวดำ (ชาวแอฟริกัน)
จะมีขี้หูสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม และมีลักษณะเหนียว ข้น ชื้น
ขณะที่คนผิวเหลือง (ชาวเอเชียและชาวอินเดียนแดง) จะมีขี้หูสีเทาหรือสีแทน
และไม่มีลักษณะเหนียว ข้น ชื้น แต่จะเปราะและแห้ง

ประโยชน์ของขี้หู

ขี้หูจะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับรูหูชั้นนอก
ลักษณะข้นเหนียวของขี้หูจะช่วยเคลือบและจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในรูหู
เช่น ฝุ่นและแมลง นอกจากนี้ ขี้หูยังมีคุณสมบัติเป็นกรด
ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในรูหูได้

เมื่อมีการขูดขีดหรือฉีกขาดเล็กน้อยในรูหู เช่น
แผลที่เกิดจากการแคะหูด้วยวัตถุแปลกปลอมต่างๆ
ขี้หูที่เคลือบผิวของรูหูจะช่วยบรรเทาและลดการติดเชื้อที่ผิวของรูหูได้
แต่ถ้าขี้หูถูกกำจัดออกไปจนหมด ก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

แคะหูบ่อยๆ ระวัง!! ขี้หูอุดตัน-ติดเชื้อ-แก้วหูทะลุ

เมื่อเราใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู
เราจะเห็นขี้หูบางส่วนติดปลายไม้พันสำลีออกมาด้วย
เราอาจจะคิดว่าได้กำจัดขี้หูออกไปแล้ว แต่ความจริงแล้ว
ขี้หูที่ติดมากับปลายไม้พันสำลีนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนใหญ่ของขี้หูจะถูกไม้พันสำลีดันลึกเข้าไปในรูหูด้านในมากขึ้น
ทำให้ขี้หูแข็งมากขึ้น และเกิดการอุดตันได้ ยิ่งไปกว่านั้น
ขี้หูที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จะหลั่งออกมาบริเวณระหว่างขี้หูที่อุดตันกับแก้ว
หู ซึ่งจะยิ่งทำให้ขี้หูอุดตันมากขึ้น

นอกจากนี้
ไม้พันสำลีมักจะทำให้เซลล์ขนในรูหูซึ่งทำหน้าที่พัดโบกขี้หูออกมาด้านนอก
เสียหาย ขี้หูจึงคั่งค้างอยู่ข้างในและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การใช้ไม้พันสำลีปั่นรูหูแรงๆ ยังอาจทำให้ผิวหนังในรูหูถลอกหรือเป็นแผล
ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากใช้ไม้พันสำลีสอดลึกเกินไป
ก็อาจทำให้เยื่อแก้วหูบาดเจ็บหรือทะลุได้

อาการของขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตันอาจทำให้มีอาการคัน ปวด มึนงง ได้ยินเสียงแว่วในหู ไอ
บ้านหมุน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
ขี้หูอุดตันจะส่งผลต่อการได้ยิน แพทย์อาจใช้ยาละลายขี้หู
เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มลงและกำจัดได้ง่ายขึ้น

ถึง แม้จะได้ชื่อว่า "ขี้หู"
แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสกปรกที่ต้องกำจัดแต่อย่างใด
เพราะอาจจะไปทำลายสภาพแวดล้อมที่ดีในรูหู การแคะหูโดยใช้วัตถุใดๆ
ก็ตามแหย่เข้าไปในรูหู
อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
แม้แต่ปลายเล็บของเราเองก็อาจทำให้หูถลอก ติดเชื้อ และอักเสบได้
นอกจากนี้ ไม้แคะหูในร้านตัดผมชายก็อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้
หนึ่งได้ ดังนั้น ปกติแล้วไม่จำเป็นต้องล้างหรือทำความสะอาดภายในรูหู
เพียงแต่ทำความสะอาดใบหูด้านนอกระหว่างอาบน้ำก็เพียงพอแล้ว

ติดตามฟังรายการ "Happy & Healthy"
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น