++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กระบังลมหย่อน/รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2552 08:12 น.
คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
สูตินรีแพทย์


ปัจจุบันคนไทยมี อายุยืนยาวขึ้น
ส่งผลให้จำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น พร้อมๆ กับปัญหาสุขภาพเสื่อมถอย
ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่าเสื่อม สมองเสื่อม หรือตาเป็นต้อ
ซึ่งพบได้ทั้งหญิงและชาย
แต่มีอยู่โรคหนึ่งที่พบไม่น้อยเฉพาะในหญิงสูงอายุ ซึ่งเป็นแล้ว
กลับไม่ค่อยยอมมาหาหมอ โรคที่ว่านี้คือ "กระบังลมหย่อน"

ความหมายของกระบังลม

เวลาคนเรายืน อวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง เช่น ลำไส้ มดลูก
กระเพาะปัสสาวะ จะไม่ไหลลงมากองที่หว่างขา
นั่นเพราะเรามีกล้ามเนื้อชุดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเปลญวนคอยพยุงเอาไว้
เราเรียกกล้ามเนื้อนี้ว่า "กล้ามเนื้อกระบังลม" ซึ่งประกอบด้วย
กล้ามเนื้อต่างๆ หลายสิบมัดยึดติดประสานกัน
ทำหน้าที่เหมือนพื้นรองของไม่ให้หล่นลงมา อย่างไรก็ตาม
จะมีบางบริเวณของกล้ามเนื้อชุดนี้ที่จะเป็นรูอยู่หลายตำแหน่งเพื่อให้อวัยวะ
บางอย่าง ได้แก่ ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และรูทวารหนักผ่านออกมาได้
สาเหตุกระบังลมหย่อน

โดยปกติกล้ามเนื้อกระบังลมจะมีความแข็งแกร่งทนทานค่อนข้างมาก
แต่ถ้าสตรีใดผ่านการคลอดบุตร โดยเฉพาะคลอดทางช่องคลอดบ่อยๆ
ก็จะทำให้กล้ามเนื้อชุดนี้ถูกยืดขยายและหย่อนยานได้ ยิ่งคลอดมาก
กล้ามเนื้อก็จะยิ่งหย่อนมาก อย่างไรก็ตาม ในสตรีที่อายุยังไม่มาก
แม้จะผ่านการคลอดมาหลายครั้ง กล้ามเนื้อก็มักจะยังไม่ยืดหย่อนมาก
เพราะยังมีฮอร์โมนจากรังไข่มาช่วยให้กล้ามเนื้อคงความแข็งแรงได้ระดับหนึ่ง
แต่เมื่อสตรีเหล่านี้ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ
ด้วยสภาพสังขารเองจะทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้หมดความแข็งแรงได้ง่าย
ประกอบกับฮอร์โมนที่เคยมีในวัยสาวก็หมดลงไปด้วย
กล้ามเนื้อก็จะยิ่งอ่อนแอลงมากขึ้น
ส่งผลให้กล้ามเนื้อกระบังลมเกิดการหย่อนยาน คราก เสียความตึงตัว
จนไม่สามารถพยุงอวัยวะในช่องท้องไหว
จึงทำให้ผนังช่องคลอดโผล่ออกมานอกช่องคลอด
ถ้ารุนแรงมากขึ้นก็อาจมีมดลูกโผล่ออกมาหรือหลุดออกมาด้วย

ทางการแพทย์ เราพบว่า การคลอดลูกมาก
เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะกระบังลมหย่อน
แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดได้ เช่น การไอเรื้อรังจากโรคปอด
หรือหลอดลมต่างๆ หรือรายที่ท้องผูกและต้องเบ่งถ่ายอยู่เป็นประจำ
แต่ก็ยังน้อยกว่าการคลอดลูกมากอยู่ดี

อาการของโรค

อาการของกระบังลมหย่อนมีได้มากมาย
ขึ้นอยู่กับชนิดของอวัยวะที่หย่อนและความรุนแรงของการหย่อน
ที่พบบ่อยได้แก่

- อาการหน่วงในช่องคลอด
มักพบในรายที่มีการหย่อนของผนังช่องคลอดหรือมดลูกเพียงเล็กน้อย
ถ้าหมอไม่สังเกตหรือตรวจอย่างละเอียด อาจไม่พบความผิดปกตินี้ได้

- มีก้อนเนื้อโผล่มาตุงที่ปากช่องคลอดหรือหลุดออกมานอกช่องคลอด
บางรายก็แค่คลำได้ในช่องคลอด บางรายมองเห็นที่ปากช่องคลอดเลยก็มี
ก้อนเนื้อที่เห็นอาจเป็นผนังช่องคลอด หรือปากมดลูก
หรือตัวมดลูกทั้งอันเลยก็ได้ แล้วแต่ความรุนแรงของภาวะกระบังลมหย่อน

- เจ็บ แสบ มีแผล หรือมีเลือดออกบริเวณปากช่องคลอด
ส่วนมากมักจะพบในรายผนังช่องคลอด
ปากมดลูกหรือมดลูกโผล่ออกมานอกช่องคลอดและถูกเสียดสีกับอวัยวะข้างเคียง
เช่น ต้นขา ปากช่องคลอด ทำให้เกิดแผลถลอก มีเลือดออกตามมา
บางรายทิ้งไว้นานอาจกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ลุกลามจนปวดทรมานมากได้
ซึ่งกรณีหลังนี้มักพบในสตรีที่มีโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว

- มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ
ซึ่งมีได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหากระบังลมหย่อน
...ในรายที่ผนังช่องคลอดหย่อนไม่มากอาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย
เพราะกระบังลมที่หย่อนจะทำให้กระเพาะปัสสาวะหย่อนตัวลงมาด้วย
เวลาถ่ายปัสสาวะจึงทำให้ถ่ายไม่หมด
และร่างกายต้องพยายามขับทิ้งโดยถ่ายบ่อยขึ้น
...บางรายที่ผนังช่องคลอดหรือมดลูกหย่อนมากจนดันท่อปัสสาวะให้เลื่อนผิด
ตำแหน่ง และถ้าเวลา ไอ จาม หรือออกแรง
จะทำให้ท่อปัสสาวะจะไม่สามารถกลั้นการไหลของปัสสาวะได้ เกิดปัสสาวะเล็ด
บางรายเป็นไม่รุนแรง แต่บางรายก็รุนแรง เป็นบ่อย เป็นมาก
จนไม่กล้าเข้าสังคมเพราะอับอายก็มี ...ในรายที่มดลูกหย่อนมาก
อาจไปดันบริเวณรอยต่อของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะจนตีบ
ทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกก็มี เวลาจะถ่ายปัสสาวะสักครั้ง
ต้องเอามือดันมดลูกเข้าไปก่อนจึงจะถ่ายได้
เป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานไม่น้อย

สตรี สูงอายุที่มีภาวะกระบังลมหย่อน ไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย
ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมาหาหมอเพื่อรับการตรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่พอสรุปได้

1.อาย และอายมากกว่าสาวๆ เสียอีก
ที่จะต้องไปนอนให้หมอมาดูอวัยวะเพศของตัวเอง เลยยอมอดทนต่ออาการต่างๆ
โดยไม่ยอมปริปากบอกใคร

2.คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิด ส่วนมากเชื่อว่า
ปัญหากระบังลมหย่อนเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่ต้องเกิดเมื่อแก่ตัว
เลยไม่คิดจะมาหาหมอ

3.เกรงใจลูกหลาน คนยิ่งแก่ ยิ่งเกรงใจคนอื่น
กลัวจะไปรบกวนลูกหลานให้หงุดหงิด รำคาญใจ ถ้าจะต้องให้พาไปหาหมอ เลยทนๆ
เอา

การรักษากระบังลมหย่อน

1.ออกกำลังกาย ในรายที่เป็นไม่รุนแรง
อาจใช้แค่การบริหารกล้ามเนื้อกระบังลมด้วยวิธีง่ายๆ โดยการขมิบก้น
จะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมต้องมีการหดรัดตัว
ทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวมีการหนาตัว ตึงตัว และแข็งแรงขึ้น
เหมือนกล้ามเนื้อแขนที่ใหญ่และแข็งแรงขึ้นจากการตีแบดมินตัน
หรือเล่นเทนนิส

วิธีการขมิบก้นที่ได้ผล จะต้องขมิบให้แรงพอและนานพอ
ซึ่งทดสอบได้ง่ายๆ
โดยขณะที่ทำการถ่ายปัสสาวะให้ลองขมิบก้นให้แรงจนปัสสาวะหยุดไหล
เวลาขมิบจริงให้ใช้ความแรงประมาณนั้น แต่อย่าทำตอนถ่ายปัสสาวะ
เพราะเดี๋ยวจะทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือถ่ายปัสสาวะลำบากในภายหลังได้
ท่านจะขมิบเวลาไหนก็ได้ แต่ควรทำอย่างน้อยวันละ 30-50 ครั้งๆ ละ 5-10
วินาที ทำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ถึงจะเห็นผล

2.การผ่าตัดรักษา จะทำในรายที่เป็นรุนแรง
มีการหย่อนของผนังช่องคลอดหรือมดลูกค่อนข้าง มาก
การผ่าตัดอาจทำเพียงแค่ตัดผนังช่องคลอดส่วนที่หย่อนยานทิ้งแล้วเย็บซ่อมให้
แข็งแรง หรืออาจต้องตัดมดลูกทิ้งร่วมไปด้วยในกรณีที่มดลูกหย่อนและยื่นลงมาค่อนข้าง
มาก การผ่าตัดดังกล่าวทำไม่ยากและใช้เวลาไม่มาก แต่ได้ผลค่อนข้างดี
ส่วนมากจะหายขาดจากอาการทุกข์ทรมานทั้งหลายอย่างเห็นได้ชัด
มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่กลัวการผ่าตัด แต่หลังจากผ่าตัดแล้ว
พบว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น รู้อย่างนี้ผ่าตัดมาเสียตั้งนานแล้วก็มี

ฉะนั้น ถ้าใครมีผู้สูงอายุที่บ้าน หมั่นถามท่านบ่อยๆ ว่า
มีอาการของภาวะกระบังลมหย่อนหรือไม่ ถ้ามี
อย่ารีรอที่จะชวนท่านไปหาหมอนะครับ ส่วนมากรักษาให้หายขาดได้
หรือถึงไม่หายขาด การรักษาก็สามารถบรรเทาอาการของโรคได้อย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น