++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"เชียงดา" ผักฆ่าน้ำตาล ช่วยรักษา "เบาหวาน"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2552 08:12 น.
สำหรับ คนที่หลงใหลในเสน่ห์แห่งมนต์เมืองเหนือ
และพอจะเคยผ่านหูเพลง "ของกิ๋นบ้านเฮา" ของตำนานโฟล์กซองคำเมืองอย่าง
"จรัล มโนเพ็ชร" มาบ้าง อาจจะพอจำท่อนที่บรรยายถึง "อาหารเมือง"
อันหลากหลาย รวมถึงวัตถุดิบชนิดผักที่มีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหู
ในท่อนที่ร้องว่า "...แก๋งผักเซี่ยงดา ใส่ปล๋าแห้งตวยเน่อเจ้า
แก๋งบอนแก๋งตุน กับแก๋งหยวกกล้วย. ต้ำบะหนุนยำเตา ส้าบะเขือผ่อย
แก๋งเห็ดแก๋งหอย ก้อยปล๋าดุกอุย" คงกำลังงงว่า เจ้าผัก "เซี่ยงดา" ที่
จรัล ร้องเอาไว้นี้ หน้าตามันเป็นอย่างไร
และมีสรรพคุณประโยชน์อะไรอย่างไรบ้าง

เชียงดา
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ได้บอกเล่าสรรพคุณที่หลากหลายของเจ้าผักพื้นบ้านชื่อแปลกชนิดนี้ว่า
"เซี่ยงดา หรือ เซ่งดา" ในภาษาเมืองของภาคเหนือ มันคือผัก "เชียงดา" หรือ
"จินดา" ในภาคกลาง ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ
จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็น "ผักว้น" ,"ม้วนไก่" หรือ
"ผักเซ็ง" เป็น พืชในวงศ์ ASCLEPIADACEAE มีลักษณะเป็นไม้เถา น้ำยางใส
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ สีเหลืองอมส้ม
ผลรูปหอก มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือในภาษาฮินดู "Gurmar" คำๆ
นี้แปลตรงตัวว่า "ผู้ฆ่าน้ำตาล"

"เชียงดาจะมีรสขมนิดๆ
ชนิดที่เกิดในป่าจะขมกว่าชนิดที่นำมาปลูกในบ้านเป็นผักเพื่อบริโภค
หากลองเด็ดใบแก่สักหน่อยมาเคี้ยวกินดู
แล้วหลังจากนั้นกินน้ำตาลทรายเข้าไป มันจะไม่หวานเหมือนกินน้ำตาล
แต่มันจะเหมือนกินทราย รสของเชียงดาจะทำให้น้ำตาลไร้รสชาติ
และรสของมันจะติดลิ้นค่อนข้างนาน พาลทำให้คนที่เคี้ยวไม่อยากอาหารไปเลย"

หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
กล่าวต่อไปอีกว่า
ผักเชียงดาถูกใช้เป็นยารักษาเบาหวานในอินเดียและประเทศในแถบเอเชียมานานกว่า
2000 ปีแล้ว มีสารสำคัญคือ gymnemic acid
ซึ่งสกัดมาจากรากและใบของผักเชียงดา มีรูปร่างเหมือนน้ำตาลกลูโคส
จึงไปจับเซลล์รีเซพเตอร์ในลำไส้ ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล The U.S.
National Library of Medicine (NLM) and the National Institutes of
Health (NIH) พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ว่าผักเชียงดา
สามารถที่จะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิด
พึ่งอินซูลิน(type 1) และไม่พึ่งอินซูล(type 2)ได้
เมื่อให้ร่วมกันอินซูลิน และยารักษาเบาหวานอื่นๆ
และยังมีรายงานว่ามีบางรายใช้ผักเชียงดาตัวเดียวในการคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โดยไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนั้น
จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องบอกให้แพทย์ทราบเมื่อกินผัก
เชียงดาช่วยคุมเบาหวานเพื่อที่จะลดอินซูลินและยาลง


ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
"นักวิทยาศาสตร์
ค้นพบว่าผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาตั้งแต่ปี 1926 และในปี 1981
มีการยืนยันผลการลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินในสัตว์ทดลองและในคน
ที่เป็นอาสามัครที่แข็งแรง พบว่าผักเชียงดาไปฟื้นฟูเบต้าเซลของตับอ่อน
(อวัยวะที่สร้างอินซูลิน)
ทำให้ผักเชียงดาสามารถช่วยคุมน้ำตาลได้ในคนเป็นเบาหวานทั้งชนิด type 1และ
type 2 และตั้งแต่ในปี 1990
เป็นต้นมามีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบประสิทธิภาพ กลไกออกฤทธิ์
ในการลดน้ำตาลในเลือดและมีการศึกษาความเป็นพิษอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
การศึกษา ในมหาวิทยาลัยมัทราส
ในประเทศอินเดียศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูโดยให้สารพิษที่ทำลายเซลเบต้าใน
ตับอ่อนของหนู พบว่าหนูที่ได้รับผักเชียงดาทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัดมีระดับน้ำตาลใน
เลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วันระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ
และจำนวนของเบต้าเซลเพิ่มขึ้น"

สำหรับภูมิภาคบ้านเรา
เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรรายนี้ให้ข้อมูลว่า
ในกลุ่มหมอกลางบ้านไทยใหญ่มีตำราระบุถึง "ผักว้น" หรือเชียงดาว่าเป็น
"ยาแก้หลวง" คือ เป็นยาที่ใช้แก้ได้หลายอาการ รักษาได้หลายโรค
มีสรรพคุณคล้ายฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ แก้แพ้ แก้เบาหวาน
หน้าแล้งจะขุดรากมาทำยา หน้าฝนจะใช้เถาและใบ โดยสับตากแห้งบดชงเป็นชาดื่ม
นอกจากนี้ยังใช้แก้แพ้ กินของผิด ฉีดยาผิด เวียนศรีษะแก้ไข้สันนิบาต
(ชักกระตุก) หรือเมื่อเกิดอาการคิดมาก
มีอาการหย่องคือมีอาการจิตฟั่นเฟือน นอกจากนี้
คนไทยใหญ่ยังใช้ผักเชียงดายังใช้รักษาอาการท้องผูกโดยจะแกงผักเชียงดา
รวมกับผักตำลังและยอดชะอมกิน นิยมกินในหน้าร้อน
เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย

"ทราบว่า
ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจผักเชียงดาของไทยเป็นอย่างมากและได้นำเข้าใบและ
ยอดอ่อนของผักเชียงดาจากประเทศไทยนำไปผลิตเป็นชาชงสมุนไพร (Herbal tea)
ใช้ชงดื่มเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด
ส่วนในเมืองไทยขณะนี้ทางอภัยภูเบศรพยายามรณรงค์ให้ปลูก
และนำมาทำอาหารรับประทานกันในครัวเรือน
ซึ่งปกติทางเหนือก็จะทำรับประทานกันอยู่แล้ว และมีปลูกกันมากด้วย
ที่ปลูกมากและรับประทานมากอีกที่หนึ่งคือที่จังหวัดเลย
แต่ทางภาคกลางและภาคอื่นๆ อาจจะไม่ค่อยรู้จัก
เราก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อยู่
เพราะจากการศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าผักเชียงดาเป็นผักที่มีประโยชน์มากจริงๆ"

อ่านถึงตรงนี้ผู้รักสุขภาพที่เป็นคอสมุนไพร
หรือผู้ป่วยเบาหวานที่อยากหลีกเลี่ยงการใช้ยาแผนปัจจุบันหลายคนคงอยากจะได้
"เชียงดา" มาครอบครองเพื่อปลูกไว้ในสวนหลังบ้านกันแล้ว งานนี้พลาดไม่ได้
เพราะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอยากรณรงค์ให้ปลูกพืชมีประโยชน์ชนิดนี้
กันมากๆ จึงได้หอบหิ้ว "กล้าเชียงดา"
มาแจกในงานมหกรรมสมุนไพรที่จะจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-6
กันยายนนี้ มาแจกกันฟรีๆ วันละ 300 ต้น

...สมุนไพรดีๆ แบบนี้ ไม่เอามาปลูกไม่ได้ซะแล้ว


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000097527

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น