++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

นศ.อนุรักษ์ความเป็นไทยผ่านศิลปนิพนธ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ในโลกดิจิตอล การสื่อสารที่ไร้พรหมแดน ค่านิยมจากต่างชาติ ในปัจจุบัน
มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทย เป็นอย่างมาก ค่านิยมต่างๆ เหล่านี้
เข้ามามีบทบาทต่อเยาวชนไทยมากขึ้น จนความเป็นไทยค่อยๆ จางหายไปพร้อมๆ กัน
หากแต่ในมุมเล็กๆ อีกมุมหนึ่ง
ก็ยังคงเห็นคุณค่าและตั้งใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะความเป็นไทยไว้
เพื่อกอบกู้รังสรรค์ภูมิปัญญาไทย ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่
และคู่แผ่นดินไทยต่อไป เฉกเช่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4
ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ใน " โครงการเผยแพร่นาฏศิลป์
และดนตรีสู่ชุมชน " ซึ่งเป็น
การแสดงนิทรรศการและผลงานศิลปะนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4
ประจำปีการศึกษา 2551

ฟ้อน ตำนานรัก เอื้องผึ้ง-จันทน์ผา เป็นหนึ่ง
ในงานวิจัยเชิงคุณภาพของนักศึกษาชั้นปีที่ 4
ที่จัดแสดงในโครงการดังกล่าวเพื่อสร้างสรรค์นาฏยประดิษฐ์
ซึ่งประกอบด้วยเหล่าคนที่มีหัวใจรักในความเป็นนาฎศิลป์ ประกอบด้วย
"ไหม-พิมพ์ชนก ค้ำชู" "จิ้ม-สุดารัตน์ ปัดสา" "น้อย-มยุรี สุขมา"
"ใหม่ฟ้า-ใหม่ฟ้า หนิษฐา", "อุ้ม-อรรถยา ทิ้งกรีด","มิ้ม- ธนพร อินยา"
และ "จอย-สุกัญญา เส้นคราม"

"จอย-สุกัญญา เส้นคราม" ตัวแทนกลุ่มเล่าว่า
ความน่าสนใจของตำนานรักเอื้องผึ้ง-จันทน์ผา อยู่ตรงที่
การมีความรักที่มั่นคงของหนุ่มสาวในสมัยก่อน โดยตำนานกล่าวไว้ว่า
เดิมเอื้องผึ้งและจันทน์ผานั้นเป็นคู่รักกัน
ทั้งสองให้สัญญาว่าจะรักกันตลอดไป จะไม่ยอมพรากจากกัน หากแม้คนหนึ่งตายไป
อีกคนก็จะไม่ขออยู่ต่อ และโศกนาฏกรรมก็มาถึง

" หนุ่มจันทน์ผา พาสาวเอื้องผึ้งไปเที่ยวบนดอย
ได้เห็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม งอกอยู่ที่ชะง่อนผา
จันทน์ผาอยากจะเก็บมาให้เอื้องผึ้งคนรัก จึงพยายามปีนขึ้นไปเก็บดอกไม้
แม้เอื้องผึ้งจะห้าม แต่จันทน์ผาก็ไม่ฟัง พยายามจะเอื้อมเด็ดมาให้ได้
แต่จันทน์ผาพลาดตกลงไปในเหว เลือดไหลนอง สิ้นใจตาย เอื้องผึ้งร่ำไห้
หัวใจแตกสลาย จึงวิ่งเอาหัวชนกับแง่หินที่หน้าผา ตายตามจันทน์ผา
เหมือนที่เคยให้สัญญาว่าจะรักกันตลอดไป
ดอกไม้ที่จันทน์ผาพยายามจะเก็บนั้น ต่อมาคนให้ชื่อว่า "ดอกเอื้องผึ้ง"
ส่วนตรงที่ ๆ จันทน์ผาตกลงไปตาย ได้มีต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกขึ้นมา
ผู้คนกล่าวขานเรียกว่า "ต้นจันทน์ผา"
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ความรักที่ยั่งยืนของคนทั้งคู่ตลอดไป"

เรื่อง ราวในตำนานเอื้องผึ้ง-จันทน์ผา
เป็นตำนานเกี่ยวกับอนุภาพของความรัก ของหนุ่มสาวในอดีต
ที่ถึงแม้การกระทำดังกล่าวจะดูรุนแรง
และไม่เหมาะสมแต่ก็ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และรักษาไว้

"เรื่อง นี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องราว ที่มาของสิ่งต่างๆ
ที่หลงเหลือ ให้เราได้ศึกษาในปัจจุบัน ดังเช่น
ดอกเอื้องผึ้ง(ดอกกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง) และต้นจันทน์ผา (ต้นไม้ทางภาคเหนือ)
จึงอยากที่จะนำเสนอ ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ ผ่านแนวคิดการสร้างสรรค์
ประดิษฐ์ ทางด้านนาฏดุริยางคศิลป์
และเพื่อแสดงศักยภาพของนักศึกษาอย่างเรา ก่อนออกสู่สังคม เป็นธุรกิจจัดทำ
เป็นการแสดง การเกี้ยวพาราสีของชายหนุ่ม
ที่ใช้ท่าทางพื้นฐาน เช่น การจีบ การตั้งวง และภาษา ท่านาฏยศัพท์
หมายถึง ท่าเดิน ท่ายิ้ม ที่มีความอ่อนช้อย งดงาม ตามแบบของนาฏศิลป์ไทย
สอดคล้องกับเนื้อร้องและทำนองเพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่เรียกว่า สะล้อ ซอ
ซึง"

นอกจากนี้ การจัดโครงการดังกล่าวยังทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้
ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย

" จากหลากหลายภาค หลายๆ เรื่องที่กี่สิบ -กี่ร้อยปี ที่ผ่านมา
ศิลปะเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ศึกษา
ถ้าในวันนี้เราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ และรักษาไว้ พรุ่งนี้
แล้วเมื่อถึงลูกหลานเราจะสัมผัสกับคุณค่าแห่งความเป็นไทยนี้ได้จากไหน
ก็เลยอยากให้หลายๆคนช่วยกันอนุรักษ์ หรือสนับสนุนแนวทางอนุรักษ์กัน "

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000029494

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น